xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้” ยกทัวร์มรณะเกาะพะงันจี้ บขส.เข้มคุ้มครองผู้โดยสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้” ตั้งวงถกประเด็นปัญหาทีวีจอดำ วันหมดอายุบัตรโทรศัพท์เติมเงิน บัตรทอง 30 บาท และโฆษณาเกินจริงในวิทยุ ทีวี เคเบิลทีวี เผยผลวิเคราะห์กรณีที่น่าเป็นห่วงเร่งด่วนคือ ถ.เพชรเกษม 41 เกิดอุบัติบ่อย และรถโดยสารประจำทางกลายเป็นทัวร์มรณะซ้ำซาก ออกแถลงการณ์ 3 ข้อจี้ “บขส.”  เรียกร้องคุ้มครองผู้โดยสารด่วน
 
น.ส.จุฑา สังขชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์กรณีรถทัวร์สายกรุงเทพฯ-เกาะพะงัน เลขทะเบียน 15-2202 กรุงเทพฯ ของบริษัท ขนส่ง จำกัด เกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2555 โดยมีผู้เสียชีวิตคนไทย และชาวต่างชาติมากถึง 11 ราย และผู้บาดเจ็บอีก 16 ราย ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วว่า เกิดจากความประมาทขับรถเร็ว เครือข่ายฯ จึงได้ร่วมกันแถลงการณ์เรียกร้องหน่วยงานกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะเร่งติดตั้ง GPS เพื่อจำกัดความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงเคร่งครัด และบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดเข็มขัดนิรภัย

จากอุบัติเหตุดังกล่าว ในเบื้องต้น โครงการบริโภคสร้างสรรค์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ได้ดำเนินการแจ้งสิทธิที่ผู้เสียหายทั้งบาดเจ็บ และเสียชีวิตต้องได้รับการคุ้มครองทั้งเงินชดเชยเยียวยาจาก บขส.และเอกชนที่รับประกันภัย รวมถึงการรักษาพยาบาลตามสิทธิ ขณะนี้ มีญาติของผู้เสียชีวิตได้ประสานขอคำปรึกษามายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ราย

ทั้งนี้ การแถลงการณ์ของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้เป็นผลสืบเนื่องจากที่ประชุมร่วมเครือข่ายฯ ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2555 ณ โรงแรมวีแอล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งในวันนั้น ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคร่วมกันด้วย โดยรายละเอียดการประชุมเครือข่ายฯ มีการพูดถึงสถานการณ์ผู้บริโภคในประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นโทรคมนาคมกรณีจอดำ, การกำหนดวันหมดอายุของบัตรโทรศัพท์ระบบเติมเงิน, การกลับมาเก็บ 30 บาทในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง, โฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในวิทยุ ทีวี เคเบิล และประเด็นสำคัญเร่งด่วนคือ การเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะซ้ำซาก โดยเฉพาะในสายเพชรเกษม 41 ซึ่งเป็นถนนสายหลักของภาคใต้ ทั้งโดยสภาพถนน รวมถึงเสาเหตุจากเรื่องเดิมๆ คือ ปัญหาของคุณภาพมาตรฐาน ความมั่นคงแข็งแรงของรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยของรถ และความคึกคะนองของคนขับที่ขับเร็วเกินจากที่กฎหมายกำหนด

น.ส.สิรินนา เพชรรัตน์ ให้ข้อมูลในเวทีเพิ่มเติมว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการแจ้งสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสายกรุงเทพฯ-เกาะพะงัน และข้อควรคำนึงถึงขั้นตอนรับค่าเสียหาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลสิทธิของตนเองในฐานะผู้โดยสารที่ได้รับอุบัติเหตุจากบริการรถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนข้อควรระวังในการรับเงินสินไหมทดแทน และช่องทางในการร้องเรียน กรณีไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ หรือการชดเชยความเสียหายจากอุบัติเหตุดังกล่าวแล้ว

น.ส.จุฑาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) โดยจะประสานงานกับทีมสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุ เพื่อสอบถามรายละเอียด การนัดกันลงพื้นที่ และขอข้อมูลหลังเหตุเพื่อใช้วิเคราะห์สาเหตุร่วมกันต่อไป ภาคเหนือ อ.ลำดวน ภาคใต้ อ.พิชัย ภาคอีสาน อ.พลกฤษฎ์ ภาคกลาง-ตะวันออก อ.ศาสตราวุธ หรือ ประสานกับ อ.ทวีศักดิ์ (กลไกกลาง)

จากนั้น ภญ.ชโลม เกตุจินดา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ได้อ่านข้อเรียกร้องซึ่งเป็นข้อเสนอจากการทำงานร่วมกันของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อเสนอไปยังบริษัท ขนส่ง จำกัด เร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะ ดังนี้

1.ให้มีการดำเนินการติดตั้ง GPS เพื่อจำกัดความเร็วของรถโดยสารสาธารณะทั้งที่เป็นของบริษัทขนส่ง และรถร่วมบริการที่เป็นของเอกชน และผู้โดยสารสามารถเห็นอัตราความเร็วจากจอมอนิเตอร์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการสากลที่หลายประเทศบังคับใช้

2.ให้มีมาตรการที่เคร่งครัด และบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสาร เช่น การประกอบรถที่ได้มาตรฐาน แข็งแรง มั่นคง มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งและสามารถใช้ได้จริง มีการตรวจสภาพรถโดยสารอย่างสม่ำเสมอ

3.ให้พนักงานรถโดยสารมีการแนะนำให้ผู้โดยสารใช้เข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทางเพื่อลดความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ และควรเข้มงวดต่อพนักงานขับรถเรื่องความพร้อมทางร่างกาย และจิตใจตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ จากนี้ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้จะได้มีการดำเนินงานในการเฝ้าระวังและติดตามการให้บริการรถโดยสารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะมีการจัดเวทีพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการป้องกัน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้รถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย

สำหรับข้อมูลการชดเชยต่อผู้เสียชีวิต จะได้รับเงินชดเชยค่าเสียหาย 700,000 บาท ส่วนผู้บาดเจ็บจะได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และประกันภัยประเภทที่ 3 ที่ บขส.ได้ทำให้แก่ผู้โดยสารของ บขส.ทุกคน หากผู้ประสบเหตุ และญาติมีข้อสงสัย หรือโดนละเมิดสิทธิชดเชยค่าสินไหมทดแทน สามารถขอคำปรึกษา โดยศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.สุราษฎร์ธานี จะช่วยเหลือดำเนินการเรียกร้องตามสิทธิ ติดต่อได้ที่ น.ส.สิรินนา เพชรรัตน์ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.สุราษฎร์ธานี 08-1737-1160 และ น.ส.จุฑา สังขชาติ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ 08-9734-2298
กำลังโหลดความคิดเห็น