xs
xsm
sm
md
lg

“รถเหล็ก” ของสะสมจิ๋ว แจ๋ว เจ๋ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใครจะรู้ว่าจากของเด็กเล่น “รถเหล็ก” โมเดลยานพาหนะขนาดจิ๋วในวัยเยาว์สนนราคาไม่กี่สิบบาท จะสำแดงความแจ๋วออกมากลายเป็นของมีค่าหายากในวันนี้ ถึงขั้นบางรุ่นซึ่งเป็นที่นิยมสุดเจ๋งต้องแข่งขันแย่งกันประมูล ผ่านตลาดออนไลน์กับกลุ่มนักสะสมจากทั่วโลกเป็นจำนวนเงินหลายพันหรืออาจสูงถึงหลักหมื่นบาท แต่ไม่ใช่กระเป๋าสตางค์หนักอย่างเดียวแล้วมั่นใจว่าเอาอยู่ เพราะต้องอาศัยดวงเข้าช่วย หากโชคไม่ดีจริงหรือไม่มีคนเข้ามาปล่อยของ ต่อให้มีเงินมากขนาดไหนก็จบข่าว...
บรรยากาศงานมิตติ้งกลุ่มนักสะสมรถเหล็กคล้ายมอเตอร์โชว์ขนาดมินิ
“ช่วงสะสมแรกๆ ทั้งวันผมไม่ทำอะไรเลย นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อหารถอย่างเดียว ทั้งจากการประมูลและเจ้าของตั้งราคาขายตายตัว หากนับจำนวนตอนนี้ที่เก็บไว้น่าจะราวๆ 3 หมื่นคัน แต่ไม่นับที่เคยผ่านมืออีกกว่าแสนคัน เพราะก่อนที่จะคัดเหลือแต่หัวกะทิ รู้ข้อมูลว่าควรเก็บรุ่นไหนและไม่เก็บรุ่นไหน ผมก็เคยเก็บรถขยะหรือพวกรถกากๆ มาก่อน” เอก-สัญชัย ธรรมศาสตร์สิทธิ์ เล่าย้อนสมัยเริ่มเข้าวงการนักสะสมรถเหล็กเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

โดยในเมืองไทยมีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถโมเดลหลักๆ อยู่ 2 แหล่ง คือ ampmodelcar.net และ smalldiecastcar.com เว็บแรกเน้นขนาดย่อส่วนจากรถจริงสเกล 1/18 ขณะที่อีกเว็บจะเน้นสเกล 1/43 และ 1/64 ซึ่งมีขนาดเล็กลงมาตามลำดับ
หนึ่งในคอลเลคชันสุดหวงของ เอก-สัญชัย ธรรมศาสตร์สิทธิ์
“หลายคนตั้งฉายาให้ผมว่า เอก-เฟอร์รารี่ เพราะรู้ว่าสะสมยี่ห้อนี้ในสเกลขนาดใหญ่เยอะมาก แต่หารู้ไม่ว่าขนาดรองลงมาอีก 2 สเกลก็ไม่น้อยหน้ากัน ถ้าแบ่งสัดส่วนมากที่สุด คือ 1/64 ด้วยซ้ำเพราะมีขนาดเล็กที่สุด ไม่เปลืองพื้นที่การจัดเก็บ” เจ้าของฉายาม้าป่าลำพองพ่วงท้าย เสริมต่อว่า

“ในวงการนี้หากไม่มีเงินคงเก็บไม่ได้ เพราะแต่ละคันที่นักสะสมให้ค่าจะมีราคาตั้งแต่ 2,500 บาทขึ้นไป โดยอ้างอิงราคากลางจากตัวเลขของกลุ่มนักสะสมทั่วโลกที่ร่วมเข้าไปประมูลในอีเบย์ และต้องอาศัยดวงเข้าช่วย หากช่วงไหนไม่มีคนปล่อยของ ตลาดก็เงียบเหงาเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ผมควักเงินจ่ายความสุขการสะสมรถเหล็กไปแล้วไม่ต่ำกว่าหลักล้านบาท”
จับมาถ่ายรูปล้อเลียนเหตุการณ์จริงช่วงเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่
เทียบเคียงอีกกระแสทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ สำหรับธุดงค์กลางเมือง
เอก-เฟอร์รารี่ เล่าว่า สำหรับยี่ห้อรถเหล็กที่นักสะสมให้ความสำคัญที่สุดมี 3 แบรนด์ดัง คือ ฮอตวีลส์ (Hot Wheels) จากอเมริกา, แมทช์บ๊อก (Matchbox) จากอังกฤษ และ โทมิก้า (Tomica) จากญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็จะผลิตโมเดลตามแบรนด์และรุ่นรถที่มีจำหน่ายจริง โดยมูลค่าของรถเหล็กจะบวกลบตามความเก่าของปีที่ผลิต สภาพความสมบูรณ์ ขณะที่ความนิยมจะยกให้แบรนด์โฟล์คสวาเกนมีความพิเศษเหนือแบรนด์อื่นๆ

“เวลามีรถเหล็กประมูลในอีเบย์ กลุ่มนักสะสมทั่วโลกจะเคาะราคาโฟล์คฯ สูงที่สุด” เอก เล่าพลางหยิบรถคันเก่งโชว์ตัว “โฟล์คฯ บัส แมทช์บ๊อก สภาพใหม่กริ๊ปอยู่ในกล่องแบบนี้ ราคาตามท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 3,500 บาท”
โฟล์คฯ บัส แมทช์บ๊อก จอดสงบนิ่งอยู่บนกล่อง นับวันรอเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง
ด้านความนิยมแบรนด์คลาสสิกจากเยอรมัน สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ เคน-สรรเสริญ กมลเพชร อีกหนึ่งผู้หลงใหลของเล่นแบบจำลองรถจิ๋วเช่นกัน

ในต่างประเทศและบ้านเราเหมือนกัน โฟล์คฯ จะเป็นกลุ่มที่คนเล่นนิยมเก็บสะสมมากที่สุด ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร อาจจะด้วยความเก่าแก่และรูปทรงที่สวยงาม ส่วนผมเลือกเก็บเพราะขับโฟล์คฯ ก็อยากสะสมโพล์คฯ แค่นี้เองไม่มีเหตุผลอื่น ตอนนี้เก็บมา 4 ปีแล้ว วางเรียงในห้องชื่นชมทุกคืนก่อนนอน”
ความนิยมทั่วโลกให้ค่าโฟล์คสวาเกนเป็นอันดับที่หนึ่ง
เต่าเขียว โฟล์คฯ ผลผลิตปีแรกของฮอตวีลส์
เคน เล่าต่อว่า หากให้ระบุรถเหล็กยี่ห้อใด รุ่นใด เป็นรถที่หายากที่สุด ถามสิบคนก็ได้คำตอบสิบคัน เพราะแต่ละคนมีรุ่นรถที่อยากเก็บสะสมแตกต่างกัน อีกทั้งเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้าย คนส่วนใหญ่ที่เก็บมักมีฐานะดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้น บางครั้งการได้มาต้องมีทั้งเงินและรอจังหวะมีคนเอามาขายในเวลานั้นด้วย

“สำหรับผมรถหายากและเป็นคันโปรด ต้องยกให้เจ้าเต่าเขียวคันนี้ โฟล์คฯ ที่ผลิตเป็นปีแรกของฮอตวีลส์ ปี 1968มูลค่าสภาพเก่าๆ ไม่ค่อยสมบูรณ์ประมาณ 1,000 บาท แต่ถ้าสภาพใหม่น่าจะสูงถึง 10,000 บาท เลยทีเดียว”

แม้ยังไม่รวยและไม่ค่อยมีโชค แต่หากสนใจรายละเอียดการสะสมรถเหล็กเพิ่มเติม ลองเข้าไปคลิ๊กอ่านข้อมูลพร้อมชมรูปสวยๆ ได้จากทั้งสองเว็บไซต์ข้างต้น ฟรี! ไม่เสียเงิน

หมายเหตุ-ขอบคุณ ampmodelcar.net และ smalldiecastcar.com สำหรับข้อมูลและภาพประกอบ
มอเตอร์โชว์ไซส์เล็ก ครบทุกรส ยกเว้นพริตตี้
กำลังโหลดความคิดเห็น