xs
xsm
sm
md
lg

“มาสด้า บีที-50 โปร”ปิกอัพยุคใหม่...ได้มากกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เห็นโฆษณาที่ “ผู้พันเบิร์ด” ควบ “มาสด้า บีที-50 โปร” หวังไปให้ถึงชายหาดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น นั่นเพราะลูกชายที่นอนใส่เฝือกอยู่บนเตียง ดันอธิษฐานว่าอยากเห็นทะเลในวันเกิดของตนเอง

ด้วยความรักลูกและมั่นใจในปิกอัพ“บีที-50 โปร” เรื่องราวอันน่าประทับใจจึงเกิดขึ้น และจบแบบ “แฮปปี้เอนดิ้ง”...ลูกชายตัวน้อยตื่นมาบนเตียงแสนนุ่ม และเห็นทะเลเป็นภาพแรกในวันเกิด ส่วนพ่อ “ผู้พันเบิร์ด” ก็ได้เป็นฮีโร่ สมความตั้งใจทุกฝ่าย

...ชีวิตครอบครัวเป็นสุขด้วย “มาสด้า บีที-50 โปร” แม้ผู้เขียนจะยัง “งง งง” ว่าเตียงเด็กที่ยาวใหญ่ (ประเมินจากตอนสุดท้ายของโฆษณา)มันขึ้นไปวางบนกระบะตัวถังดับเบิลแค็บได้อย่างไร? ขณะเดียวกันการขับรถแบบบี้ตะบันของ“ผู้พัน” สาดโค้งบนทางดำ ถนนฝุ่น ลูกชายยังนอนหลับสบายบนเบาะผู้โดยสารด้านหน้า ส่วนภรรยาที่นั่งเบาะหลัง อาจจะหลับๆตื่นๆ แต่ก็อมยิ้มพริ้มเพรากับพื้นที่กว้างขวางนั่งสบาย

สำหรับเรื่องเตียงนอนอาจไม่ใช่ประเด็นที่ต้องไปจริงจังอะไรมาก แต่เรื่องความสะดวกสบายและความนุ่มนวลภายในห้องโดยสาร มันดีจริงอย่างที่มาสด้าโม้ในโฆษณารึเปล่า?

ดังนั้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย จำกัด จึงจัดทริปทดสอบ “บีที-50 โปร” ให้สื่อมวลชนได้ลองขับกันยาวๆ จากจังหวัดอุดรธานี ข้ามไปถึงหลวงพระบาง สปป.ลาว รวมระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร

ผู้เขียนเริ่มขับรุ่นไฮ-เรเซอร์ ตัวถังฟรีสไตล์แค็บ (แค็บเปิดได้) เครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร เกียร์ธรรมดา 6 สปีด โดยการเข้า-ออกภายในห้องโดยสารต้องบอกว่าปีนขึ้นครับ แถมฝั่งคนขับยังไม่มีมือดึง(ฝังที่เสา เอ-พิลลาร์) เหมือนฝั่งผู้โดยสาร ซึ่งอาจเป็นเรื่องของทัศวิสัยการขับขี่หรือความปลอดภัยก็สุดแล้วแต่

ขณะที่การตกแต่งภายในมากับโทนสีเข้ม พร้อมอารมณ์สปอร์ตทันสมัยจากพวงมาลัยสามก้าน ปุ่มควบคุมเครื่องเสียง พร้อมจอแสดงผลขนาดเล็กฝังอยู่เหนือคอนโซลกลาง ซึ่ง “ฟอนท์” (Font)ตัวหนังสือ เป็นแบบเดียวกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์” (ถ้าเป็นรุ่นท็อปๆของตัวถังดับเบิลแค็บจะมีระบบสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งเสียงคุณป้าที่คอยรับคำสั่งและแนะนำการใช้งาน ก็เหมือนฟอร์ด)


ด้านช่องเสียบ AUX และ USB จะอยู่ในลิ้นชักเก็บของด้านหน้า ตลอดจนปุ่มต่างๆจัดวางไว้ชัดเจนใช้งานง่ายไม่ต้องศึกษากันนาน ส่วนคุณภาพเครื่องเสียงอยู่ในเกณฑ์ดี คือถ้าบ้านไม่ใช่ร้านเครื่องเสียง ก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนให้เปลืองสตางค์แล้ว

เมื่อนั่งในตำแหน่งคนขับจะพบทัศนวิสัยด้านหน้าชัดเจนมองไกล ส่วนเบาะผ้ารองรับสรีระได้พอใช้ กระจกข้างบานโตสะท้อนถนัดตา ส่วนคันเกียร์พยายามออกแบบด้ามให้สั้นมุ่งหวังความเท่

หลังลองเหยียบแป้นคลัทซ์ เบรก คันเร่ง รวมแล้วเซ็ทน้ำหนักมากำลังดี ไม่หนักจนเกินไป แต่จังหวะสับเปลี่ยนเกียร์อาจรู้สึกแข็งและเข้าเกียร์ยากในช่วงแรกๆ

ระบบเปลี่ยนเกียร์ของ“บีที-50 โปร” ยังมี Up-Shift Indicator สัญญาณไฟเตือนให้ผู้ขับเปลี่ยนเกียร์ในรอบที่เหมาะสม หวังให้ผู้ขับถนอมเครื่องยนต์ และช่วยเรื่องการประหยัดน้ำมันสูงสุด

โดยการขับจริงผู้เขียนสังเกตว่า เมื่อรอบดีดไปอยู่แถวๆ 2,000-2,100 รอบ เจ้าไฟUp-Shift Indicator สีเขียวก็แสดงขึ้นบริเวณหน้าปัดรอบเครื่องยนต์แล้ว แต่กระนั้นถ้าเราจะลากรอบต่อไปอีกสักนิด มันจะดับไปเอง...ประมาณว่าฉันเตือนแล้วนะ แต่จะทำหรือไม่ก็เรื่องของคุณ!


ด้านเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล 4 สูบ 2.2 ลิตร เทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้าที่ 3,700 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 375 นิวตันเมตร ที่ 1,500-2,500 รอบต่อนาที เมื่อประกบกับเกียร์ธรรมดาชุดนี้ ช่วยให้การขับกระฉับกระเฉงมากขึ้น

แม้จะต้องเปลี่ยนเกียร์บ่อย ในสถานการณ์ยุ่งเหยิง แต่พละกำลังที่จัดการลงสู่ล้อก็มาอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการขับในทริปนี้ ที่มีทั้งขึ้น-ลงเขา สลับกับถนนพังตลอดเส้นทาง ผู้เขียนเลือกใช้เกียร์ 3 หรือ4 เท่านั้นละครับ ซึ่งโอกาสน้อยมากที่จะได้ขับทางยาวๆแล้วแช่เกียร์ 6

นอกเหนือจากรุ่นเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร เกียร์ธรรมดาแล้ว ผู้เขียนยังได้ลองเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ขับเคลื่อนสี่ล้อ ตัวถังดับเบิลแค็บ แน่นอนว่าการขับสบายกว่า 2.2 เกียร์ธรรมดาเยอะ ทั้งไม่ต้องเข้าเกียร์ให้เมื่อยขณะที่ดีเซลบล็อก 5 สูบ 20 วาล์ว ขนาด 3.2ลิตร 200 แรงม้า แรงบิด 470 นิวตันเมตรมาเต็มที่ 1,750-2,500 รอบต่อนาที ระเบิดแรงมาแบบนุ่มนวลต่อเนื่อง ลดความเครียดในจังหวะส่งทำความเร็ว และจังหวะแซงระยะกระชั้น หรือถ้าประมาณความรู้สึกก็คงคล้ายๆกับพลังที่ปลดปล่อยมาจาก 1KD 3.0 ลิตรของ “โตโยต้า วีโก้”

ด้านเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด เซ็ทอัตราทดมากลางๆ ไม่จี๊ดไม่หนักไปทางต้นหรือปลาย ขณะเดียวกันผู้ขับยังสามารถเลือกเปลี่ยนเกียร์เองได้ การสั่งงานเชื่องมือ จังหวะเพิ่ม-ลด เกียร์ สนุกตามใจผู้ขับพอสมควร

จุดเด่นที่เห็นพ้องกันหลายคน และเป็นอีกหนึ่งจุดที่ต่างจาก “ฟอร์ด เรนเจอร์” คือการปรับเซ็ทช่วงล่าง แม้จะยึดโครงสร้างเดียวกัน กับด้านหน้าเป็นปีกนกสองชั้น คอยล์สปริง (เดิมเป็นทอร์ชันบาร์) โช้กอัพแบบ 2 จังหวะ เสริมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแหนบแผ่นซ้อนมีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 1,330 มิลลิเมตร (เดิม 1,320 มิลลิเมตร) พร้อมโช้กอัพไขว้

โดย “มาสด้า บีที-50 โปร” ดูจะรองรับได้นุ่มนวลกว่า ซึ่งเป็นไปตามคอนเซ็ปต์ของมาสด้าที่อยากจะให้บุคลิกของปิกอัพคันนี้ไปใกล้เคียงกับรถเก๋ง หรือเอสยูวีมากที่สุด (ในขณะที่ฟอร์ดเน้นแบบแกร่งลุย สมบุกสมบัน)

การขับบนถนนยอดแย่ หนทางเพ (ภาษาลาว)ตลอดเส้นทางเวียงจันทน์-วังเวียง-หลวงพระบาง ผู้เขียนรู้สึกว่า “บีที-50 โปร” จะซับแรงสะเทือนได้ดีกว่า “เรนเจอร์” เช่นเดียวกับผู้โดยสารหญิงร่างอวบที่นั่งมาด้วยกัน ยังสำทับว่า เป็นปิกอัพที่นั่งนุ่มสบายจริงๆ (แถมยังหลับได้สบายแบบไม่รู้สึกตัวเหมือนเด็กในโฆษณาอีกด้วย)

อย่างไรก็ตาม“บีที-50 โปร” จะมีจังหวะโยนเด้งในรุ่นฟรีสไตล์แค็บ ขับสองยกสูง แต่ความรู้สึกเดียวกันนี้จะน้อยหรือให้ความสมดุลกว่าในรุ่น ดับเบิลแค็บ ขับเคลื่อนสี่ล้อ

การควบคุมรถผ่านพวงมาลัยแรคแอนด์พิเนียน ดูจะเป็นอีกจุดที่มาสด้าเน้นให้เสมือนอารมณ์รถเก๋ง กล่าวคือมีระยะฟรีน้อย สั่งงานซ้าย-ขวาแม่นยำเอามากๆ โดยวิศวกรพัฒนาโครงสร้างทั้ง การยึดชุดระบบบังคับเลี้ยว พร้อมติดตั้งแดมเปอร์วาล์ว หวังให้การควบคุมรถสบายขึ้น

การขับขี่ความเร็ว 60-80 กม./ชม. น้ำหนักพวงมาลัยกำลังดี องศาเลี้ยวเฉียบคม แต่ถ้าวิ่งความเร็ว 100 กม./ชม.ผ่านทางขุรขระ จะรู้สึกว่าพวงมาลัยแกว่งนิดๆ ส่วนการขับทางตรงยาว(อุดรธานีไปหนองคาย)ใช้ความเร็วเกิน 120 กม./ชม. ผู้เขียนอยากให้พวงมาลัยนิ่งกว่านี้อีกนิด


ในส่วนของเบรกนั้น ตอบสนองค่อนข้างเร็ว กล่าวคือแป้นเบรกเบา กดลงไปนิดเดียวจะรู้สึกถึงการจับของการห้ามล้อ ที่สำคัญยังมีอาการหน้าจิกหัวทิ่มอยู่เหมือนกัน (กรณีรถเปล่า)

ปิดท้ายด้วยอัตราบริโภคน้ำมัน ในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ ดับเบิลแค็บ 3.2 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ กับการขับโหดๆในทริปนี้ และมีบางช่วงที่ลองใช้เกียร์ 4H สุดท้ายได้ตัวเลข 11ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร หรือประมาณ 9 กิโลเมตรต่อลิตร ขณะที่รุ่น ไฮ-เรเซอร์ ขับเคลื่อนสองล้อยกสูง ฟรีสไตล์แค็บ 2.2 ลิตร เกียร์ธรรมดา สรุปได้ตัวเลขประมาณ 13 กิโลเมตรต่อลิตร

รวบรัดตัดความ... “บีที-50 โปร” พร้อมท้าทายความเชื่อ และเปลี่ยนภาพลักษณ์วงการปิกอัพ ด้วยตัวถังสวยใหญ่ การออกแบบโดดเด่นแตกต่าง ภายในอารมณ์เก๋ง(หลายยี่ห้อชูเหมือนๆกัน) บวกกับการเซ็ทรถให้เป็นบุคลิก “ซูม-ซูม” ขับสนุก เน้นช่วงล่างนุ่มนวล แต่ยังคงความอเนกประสงค์ครบถ้วน

...อย่าแปลกใจถ้าเดินเข้าไป“โชว์รูมมาสด้า”เพื่อซื้อปิกอัพ“บีที-50 โปร”...แต่พอกลับออกมาจะไม่ได้รถปิกอัพมาขับ?







กำลังโหลดความคิดเห็น