xs
xsm
sm
md
lg

“แคปติวา ดีเซล” เอสยูวีดีที่สุด...ชั่วโมงนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาตามสัญญาสำหรับ “แคปติวา” เครื่องยนต์ ดีเซล 2.0 ลิตร โดยเชฟโรเลตเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2011 ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามสเต็ปขั้นหลังจากส่งรุ่นเครื่องยนต์เบนซินกวาดยอดขายไปก่อนหน้า (เปิดตัวเดือนมิถุนายน 2554)

อย่างที่ผู้เขียนเคยบอก เมื่อครั้งลองขับรุ่นเครื่องยนต์เบนซินว่า นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับบิ๊กไมเนอร์เชนจ์ของ “แคปติวา” เพราะทั้งหน้าตา ออปชัน และระบบขับเคลื่อนถูกปรับปรุงใหม่ ฉันใดฉันนั้นเมื่อเป็นรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล เชฟโรเลตก็จัดการพัฒนาขึ้นใหม่ในหลายๆจุด

...ว่ากันด้วยเรื่องเครื่องยนต์ดีเซล VCDi กันก่อน แม้จะอิงบล็อก 4 สูบ 2.0 ลิตรเดิม แต่คราวนี้วิศวกรจีเอ็มหันมาใช้เทคโนโลยีแคมชาฟต์คู่ในการควบคุมวาล์วไอดี-ไอเสีย หรือDOHC แทนแบบ SOHC เดิม พร้อมเปลี่ยนฝาสูบใหม่ให้สอดรับกัน

นอกจากนี้ยังใช้ท่อไอดี 2 ท่อต่อหนึ่งสูบ (เดิมไอดี 1 ท่อต่อหนึ่งสูบ) โดยช่วงที่ผู้ขับต้องการกำลังเต็มที่ ไอดี 2 ท่อจะเปิดให้อากาศเข้าพร้อมๆ กัน แต่ในช่วงไม่ต้องการกำลังหรืออยู่ในรอบเดินเบา ระบบจะเปิดไอดีเพียง1ท่อ ให้อากาศไหลคลุกเคล้ากับปริมาณน้ำมันอย่างเหมาะสม เพื่อการเผาไหม้สมบูรณ์สูงสุด ส่งผลให้เครื่องยนต์ VCDiดีเซลคอมอนเรลใหม่ ระเบิดพลังทันใจตามการขับขี่ในทุกสภาวะ (ช้า, เร่ง, เร็ว) พร้อมการประหยัดน้ำมัน และลดมลพิษ

โดยให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (รุ่นเดิม 150แรงม้า)ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 360 นิวตันเมตรที่ 1,750 - 2,750 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด (เดิม 5 สปีด)

ในรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลแบ่งการขายเป็น 3 รุ่นย่อย คือ LSX ขับเคลื่อนล้อหน้า ราคา 1.395 ล้านบาท และ LT 1.620 ล้านบาท และรุ่นท็อป LTZ 1.684 ล้านบาท ซึ่งสองรุ่นหลังเป็น AWD เคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา

ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ลองขับรุ่น LT ซึ่งจัดออปชันมาให้ตามสมควร ไล่ตั้งแต่ ชุดเบาะหนัง ขณะที่ด้านคนขับปรับระดับด้วยไฟฟ้า รวมถึงเบรกมือไฟฟ้า เครื่องเล่นวิทยุ ซีดี เอ็มพี 3 ช่องต่ออุปกรณ์ภายนอก AUX (ไม่มีช่องต่อUSB) พร้อมระบบเสียง 3 มิติ ลำโพงรวม 8 ตัว ด้านพวงมาลัยมัลติฟังก์ชันฝังปุ่มควบคุมเครื่องเสียง ปุ่มปรับระดับแรงลมแอร์ และครูสคอนโทรล

ขณะที่ ความปลอดภัย มั่นใจได้กับดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) ระบบเสริมแรงเบรก (HBA) ระบบกระจายแรงเบรกอัตโนมัติ (EBD) และถุงลมนิรภัยคู่หน้า ม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (Traction Control) ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) ระบบป้องกันรถพลิกคว่ำ (ARP) ระบบป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางลาดชัน (Hill Start Assist) ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Hill Descent Control) และระบบช่วงล่างยกตัวอัตโนมัติ (Self-Levelizer)

โดยออปชันที่รุ่น LT ขาดไปจากรุ่นท็อป LTZ ซึ่งราคาแพงกว่า 64,000 บาท มีเพียงกระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ ช่องต่อ USB รวมถึงระบบนำทาง Navigator (จริงๆ ต้องจ่ายค่าซอฟต์แวร์เพิ่มอีก 15,000 บาท) พร้อมหน้าจอทัชสกรีนขนาด 7 นิ้ว และล้ออัลลอยขนาด 19 นิ้ว (LT ใช้ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ประกบยาง 235/55 R18)

...กลับมาที่ความรู้สึกหลังการขับขี่ ประการแรกเมื่อผู้เขียนเข้ามานั่งภายในห้องโดยสารพบว่าการเก็บเสียงเครื่องยนต์และเสียงรบกวนจากภายนอกทำได้ดีพอสมควร ตลอดจนพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง เบาะนั่งสบาย คนตัวใหญ่ไม่อึดอัด และที่เพิ่งสังเกตเห็นคือการหันมาใช้เบรกมือไฟฟ้า ที่นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว ยังทำให้เกิดช่องใส่ของขนาดใหญ่และลึกมากบริเวณคอนโซลกลาง หรือถ้าผู้ขับขี่ไม่ใช่เจ้าของรถตัวจริง อาจไม่มีทางรู้เลยว่ามีช่องใส่ของอยู่ตรงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคุ้นชิน แถมยังมีที่วางแก้วน้ำวางทับอยู่ด้านบนอีกต่างหาก

ส่วนอารมณ์การขับขี่ ต้องบอกว่าต่างจากรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ชัดเจน โดยเฉพาะอาการหน่วงดึง และเสียงเครื่องยนต์ที่เป็นเอกลักษณณ์ ยืนภายนอกจะรู้ทันทีว่านี่คือรถดีเซล (ถ้าไม่ได้ดูสัญลักษณ์ VCDi ด้านหลัง) แต่กระนั้นก็ดังแบบสุภาพ ต่างจากปิกอัพรุ่นเก่าที่เราคุนเคย

ขณะที่การตอบสนองของเครื่องยนต์ดูกระตือรือร้น ออกตัวกระฉับกระเฉง พละกำลังมาตั้งแต่รอบต่ำ 1,600-1,700 รอบ ส่งผลให้การขับขี่คล่องตัว แม้ต้องการเร่งแซงในย่านความเร็วต่ำ


เหนืออื่นใดเครื่องยนต์ดีเซลที่พัฒนาใหม่ยังรู้สึกเดินเรียบและนุ่มนวลกว่าตัวเก่า การขับขี่ในเมืองอัตราเร่งดี ออกนอกเมืองขับสบาย และด้วยม้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 163 ตัว ถูกจัดการลงสู่ล้อด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดใหม่ส่งกำลังไหลได้ต่อเนื่อง ขณะที่ความเร็ว 120 กม./ชม.ที่เกียร์สูงสุด รอบจะอยู่แถว 2,100 รอบ

ส่วนช่วงล่างที่ยึดโครงสร้างด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง และหลังเป็นมัลติลิงก์ 4 จุดยึด การรองรับแข็งกว่ารุ่นเครื่องยนต์เบนซินเล็กน้อย ช่วงผ่านเนินหลังเต่า และทางขุรขระมีดีดเด้งนิดๆ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับในการเป็นรถแบบขับเคลื่อนสี่ล้ออัตโนมัติด้วย (Active on Demand จะกระจายกำลังสู่ล้อคู่หน้าและหลังแบบแปรผันตามสภาพการขับขี่)

แต่กระนั้นก็ช่วยให้การขับขี่มั่นใจ ช่วงความเร็ว 120-140 กม./ชม. ตัวรถยังทรงตัวนิ่ง เกาะถนนในโค้งหนึบแน่น บวกกับการเซ็ทน้ำหนักพวงมาลัยและทดสั่งงานกำลังพอดี ส่งผลให้เอสยูวีคันโตควบคุมเชื่องมือ ผ่านฉลุยทุกสภาพถนน

ด้านการเบรกต้องยกให้เป็นอารมณ์ของรถยนต์เชฟโรเลต กล่าวคือทุกโมเดลยุคใหม่จะให้ความรู้สึก (ช่วงแรก) แป้นเบรกแข็งๆ ทื่อๆ ต้องใช้พลังหรือเยียบลึกถึงจะได้ดั่งใจ แต่ถ้าขับไปนานๆแล้วปรับความรู้สึกของการกดแป้นกับระยะเบรกได้สักพักจะเริ่มคุ้นชินและรับรู้ว่า เบรกตอบสนองได้นุ่มนวล ยิ่งช่วงขับรถติดตามกันไป ไม่รู้สึกว่าหน้าจิก จนหัวโยกหัวคลอน

สำหรับอัตราบริโภคน้ำมันจากการขับทางไกลใช้ความเร็ว 120-140 กม./ชม. และผ่านรถติดหนักในเมือง หน้าจออัจฉริยะแสดงผลไว้ประมาณ 9 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร หรือ 11 กม./ลิตร (อย่าลืมว่าเป็น AWD)


รวบรัดตัดความ... แคปติวา เครื่องยนต์ดีเซล เข้ามาเป็นทางเลือกในตลาด ทำให้คนไทยไม่ต้องจำเจอยู่กับพีพีวี เพียงอย่างเดียว และที่ผ่านมารุ่นเครื่องยนต์ดีเซลก็สร้างความแตกต่างพร้อมทำยอดขายให้เชฟโรเลตได้มากพอสมควร ส่วนรุ่นใหม่ไมเนอร์เชนจ์ยังพัฒนาขุมพลังและเกียร์ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งชั่วโมงนี้ต้องยกให้เป็นเอสยูวีดีที่สุด (ไม่นับแบรนด์หรู) ในแง่ของสมรรถนะการขับขี่ ความอเนกประสงค์ พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และมาตรฐานความปลอดภัย



กำลังโหลดความคิดเห็น