xs
xsm
sm
md
lg

“ซูซูกิ สวิฟท์” เหนือกว่าอีโคคาร์-ท้าชนได้ทุกคัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กางแผนยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นหนึ่งใน 4 ฐานการผลิตหลัก ต่อจากญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนีเซีย ด้วยการลงทุนสร้างโรงงานเฟสแรกมูลค่า 7,500 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดระยอง อันสอดรับกับโปรเจกต์ใหญ่ของรัฐบาลไทย “อีโคคาร์”

จากเริ่มลงเสาเข็มสร้างโรงงานเมื่อสองปีที่แล้ว สู่การปรับโครงสร้างทางธุรกิจและเคลียร์ใจกับพันธมิตรเก่า ตระกูล “พรประภา” ตลอดจนเดินหน้าปรับปรุงและเพิ่มศูนย์บริการทันสมัยได้มาตรฐานที่คาดว่าปีนี้จะมีครบ 60 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่แขนอีกข้างหนึ่งของซูซูกิก็พยายามสร้างการรับรู้ ปูทางให้แบรนด์อย่างต่อเนื่อง พร้อมโปรดักต์คุณภาพที่ถูกเลือกมาชิมลางอย่าง รถอเนกประสงค์รุ่น “เอสเอ็กซ์ 4” (SX4) และ “สวิฟท์” เจเนอเรชันแรก เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร


ประเด็นน่าสนใจอยู่ตรง “สวิฟท์” ที่ซูซูกินำเข้ามาจากอินโดนีเซีย โดยหวังให้คนไทยรู้จักแบรนด์หวังต่อยอดสร้างการรับรู้ ก่อนจะถึงตัวขายหลักที่เป็นอีโคคาร์ แต่นั่นละครับไม่น่าเชื่อว่า 2 ปีกว่าๆ ที่สวิฟท์ เจเนอเรชันแรกอยู่ในตลาด ยังสามารถทำยอดขายได้ถึง 7,000 คัน...เรียกว่าประสบความสำเร็จเกินคาด!

ถึงวันนี้ทุกอย่างสุกงอมพร้อมลุย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ไหว้ครูเสร็จเรียบร้อย และเตรียมขึ้นชกในสังเวียนจริง ด้วย “สวิฟท์ เจเนอเรชันที่สอง” หรืออีโคคาร์รุ่นที่ 5 ในตลาดเมืองไทย (โดนมิตซูบิชิ มิราจ ปาดหน้าเปิดตัว 20 มี.ค. ส่วน สวิฟท์ 21 มี.ค.)

...จะรุ่นที่ 4 หรือ 5 คงไม่สำคัญมากนัก แต่ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย จัดทริปทดสอบให้สื่อมวลชนกลุ่มย่อยไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยผู้เขียนเคยลงข้อมูลคร่าวๆของ “สวิฟท์ ใหม่” ไปก่อนหน้า ซึ่งการทำตลาดในไทยจะแบ่งเป็น 3 เกรด คือ GA, GL และ GLX โดยทั้งหมดวางเครื่องยนต์เบนซิน รหัส K12B ขนาด 1242 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมระบบ VVT วาล์วแปรผันทั้งฝั่งไอดี-ไอเสีย ให้กำลังสูงสุด 91 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 118 นิวตันเมตรที่ 4,800 รอบต่อนาที รองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง CVT และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ซึ่งในเกรด GA และ GL มีให้เลือกทั้งเกียร์อัตโนมัติและเกียร์ธรรมดา ขณะที่เกรด GLX จะประกบเกียร์อัตโนมัติเท่านั้น

ด้านช่วงล่างด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง เหล็กกันโคลง หลังทอร์ชันบีม คอยล์สปริง พวงมาลัยแร็กแอนด์พิเนียนผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เกรด GA, GL มีรัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 4.8 เมตร และ GLX 5.2 เมตร

ในส่วนของเบรกหน้าดิสก์ หลังดรัม พร้อมระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD จัดเป็นมาตรฐานทุกรุ่น แต่รุ่น GA และGL จะติดถุงลมนิรภัยด้านคนขับมาลูกเดียว ส่วน GLX เป็นคู่หน้าสำหรับคนขับและผู้โดยสาร

ออปชันอำนวยความสะดวก-ปลอดภัยระดับ กุญแจอัจฉริยะ (เปิดประตูเข้า-ออกโดยไม่ต้องกดรีโมต และปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์) พวงมาลัยปรับระดับได้ 4 ทิศทาง เครื่องเสียงเล่นวิทยุ CD MP3 ได้ 1 แผ่น พร้อมช่องต่อ USB จะมีในเกรด GL และ GLX

ตัวท็อป GLX ยังเสริมแอร์อัตโนมัติ ระบบทำความร้อน สวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย ไฟตัดหมอกหน้า กระจกมองข้างฝังไฟเลี้ยว และไล่ฝ้ากระจกหลัง ซึ่งผิดกับรุ่นล่าง GA ที่นอกจากจะไร้ออปชันดังกล่าวแล้ว ยังไม่มีเครื่องเสียงติดมาให้ด้วย

...นั่นเป็นข้อมูลทางเทคนิค และออปชันในแต่ละเกรดที่ซูซูกิเปิดเผยออกมาเบื้องต้น ส่วนใครที่สงสัยว่า เมื่อสวิฟท์ เวอร์ชันอีโคคาร์ เครื่องยนต์ 1250 ซีซี (ปัดกลมๆ) ออกมาขายแล้ว เครื่อง 1.5 ลิตรเดิมยังมีขายหรือไม่? คำตอบคือ “ไม่”

โดยหลังจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 21 มีนาคมนี้ ถัดมาหนึ่งวันทุกโชว์รูมมาตรฐานของซูซูกิ จะมีรถจอดโชว์ พร้อมแจ้งราคาขายอย่างเป็นทางการ จากนั้นรถยนต์ล็อตแรกรุ่นเกียร์อัตโนมัติจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ส่วนเกียร์ธรรมดาต้องรอถึงเดือนตุลาคม

คาดว่า อีโคคาร์ของซูซูกิ จะเปิดราคา 3.89 แสนบาท ในรุ่น GA เกียร์ธรรมดา ส่วน GL น่าจะเริ่ม 4 แสนบาทต้นๆ ไปจนถึงตัวท็อป GLX ราคาประมาณ 5.3 แสนบาท

สำหรับ “สวิฟท์ โฉมนี้” ขายในตลาดโลกมาปีกว่าๆ แล้ว และแม้จะเป็นโมเดลเชนจ์ที่มิติตัวถังอวบอ้วนกว่าโมเดลแรกนิดๆ แต่หน้าตารวมๆ ยังคล้ายกันอยู่มาก โดยโคมไฟหน้าเรียวใหญ่ขึ้น ใหม่ทั้งกระจังหน้า กันชนหน้า ลายล้ออัลลอย ขณะเดียวกัน ทรงประตูที่ 5 สั้นลงและตัดเรียบระดับเดียวกับโคมไฟ พร้อมตำแหน่งป้ายทะเบียนสูงขึ้น ส่วนโคมไฟท้ายแนวเดิมแต่ปรับรายละเอียดภายในให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น

มิติตัวถังยาว 3,850 มม. กว้าง 1,695 มม. สูง 1,510 มม. ระยะฐานล้อ 2,430 มม. เป็นอีโคคาร์ตัวถังแฮตช์แบ็กที่ดูใหญ่สุดในตลาด (แต่มาร์ช ตัวถังสูงกว่า ด้วยตัวเลข 1,515 มม. และระยะฐานล้อ 2,450 มม.) นอกจากนี้ ในรุ่น GLX ใช้ล้ออัลลอย 16 นิ้ว ยาง 185/55R16 ซึ่งเป็นอีโคคาร์โมเดลเดียวที่ใช้ล้อและยางขนาดนี้ (มาร์ช, อัลเมรา ขอบ 15 นิ้ว บริโอ้ 14 นิ้ว)


ในส่วนของการขับ ผู้เขียนได้ลองรุ่นท็อป GLX ถ้าเทียบกับ “สวิฟท์ 1.5 เดิม” ต้องยอมรับว่า “ความสนุกลดลงไปเยอะ” แน่นอนว่าด้วยขนาดเครื่องยนต์ พร้อมเรี่ยวแรงน้อยลง ช่วงล่างนิ่มกว่าเดิม นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สมรรถนะต่างออกไป แต่กระนั้นถ้าเทียบกับอีโคคาร์รุ่นอื่นๆ ต้องบอกว่าขับไม่เป็นรอง และน่าจะดีกว่าในหลายๆจุดด้วยซ้ำ

...มีเพียงจุดเดียวตามความรู้สึกของผู้เขียน คือ จังหวะออกตัว ที่ม้า 91 ตัวของสวิฟท์ ส่งกำลังสู่ล้อหน้าผ่านเกียร์ CVT (ลูกเดียวกับมาร์ช) อาจจะไม่พุ่งพล่านมากมาย ขณะที่มาร์ช กับ บริโอ้ ยังดูกระฉับกระเฉงกว่านิดๆ แต่กระนั้นถ้าเลยจุดออกตัวนี้ไปแล้ว ที่เหลือ “สวิฟท์” ให้ความรู้สึกยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

การออกตัวไม่ถึงกับอืด ขับในเมืองให้ความคล่องตัวพอสมควร รอบดีดไป 3,000-4,000 รอบ ตัวรถเคลื่อนตัวไปแบบเรียบเรื่อยสบายๆ ด้านพวงมาลัยแรคแอนด์พิเนียนผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า น้ำหนักเบา (เท่าๆ มาร์ช) พร้อมหุ้มหนังจับกระฉับควบคุมได้คล่องมือในย่านความเร็วต่ำ

ส่วนการขับทางไกลต่างจังหวัดไม่ได้วอกแวกอะไร ความเร็ว 120 กม./ชม.ในรุ่นท็อป GLXใช้ยาง 185/55R16 พวงมาลัยจะนิ่งและให้ความมั่นใจกว่ารุ่นล่างๆที่ใช้ยาง 175/65R15 แบบรู้สึกได้

ความเร็ว 40 กม./ชม.ไล่ไปถึง 100 กม./ชม. อัตราเร่งไม่ถึงกับดุดันทันใจ แต่พลังก็มาแบบต่อเนื่อง หรือถ้าขับเลย 120 กม./ชม.ขึ้นไปแล้ว ตัวรถไหลไปได้ยาวๆ ขับเพลินๆ จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือรถยนต์ที่วางเครื่องเบนซิน 1250 ซีซี

ขุมพลัง K12B 4 สูบ ประกบเกียร์ CVT ชุดนี้ ดูจะมีบุคลิกนุ่มเรียบ การขับรวมๆรถตอบสนองความแรงแบบสมเหตุสมผล และเพียงพอกับการใช้ชีวิต ที่สำคัญจะให้ประโยชน์เรื่องอัตราบริโภคน้ำมันแน่นอน

โดยความเร็ว 120 กม./ชม.ที่เกียร์สูงสุด รอบนิ่งอยู่แถว 2,500 รอบเท่านั้น ซึ่งในทริปนี้ขับทางไกลไปปราณบุรี ระดับความเร็วที่ใช้ 120-130-140 กม./ชม. มีเข่นมีเร่งแซงบ่อยครั้ง ยังเห็นตัวเลข 15.2 กม./ลิตร ขณะที่คันของผู้สื่อข่าวท่านอื่นขับแบบนิ่งๆ แถว 120 กม./ชม. เห็นว่าได้ตัวเลข17 กม./ลิตรเลยทีเดียว



ด้านช่วงล่างให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่า “สวิฟท์ รุ่นแรก” ซึ่งใครที่ชอบความดิบมันของตัวเก่าคงต้องผิดหวัง อย่างไรก็ตามการรองรับรวมๆ ยังหนึบแน่น บางช่วงลองสาดใส่ในโค้งความเร็ว 100 -120 กม./ชม. ตัวรถทรงตัวยอดเยี่ยม หรือถ้าเทียบกับ “มาร์ช” และ “บริโอ้” แล้ว ผู้เขียนว่าตัวถังและโครงสร้างกันสะเทือนของ “สวิฟท์” ดูจะนิ่งกว่า

ส่วนของการเก็บเสียง “สวิฟท์ ใหม่” ก็ทำการบ้านมาดี กล่าวคือภายในห้องโดยสารนั้นเงียบมาก และถ้าเทียบกับ อีโคคาร์ด้วยกัน รวมถึงพวกซับคอมแพกต์บางรุ่น ต้องยกให้สวิฟท์ชนะเลิศ กอปรกับวัสดุการประกอบดูดีมีสกุล แม้ในรุ่นที่ลองขับเป็นแค่ตัว “พรีโปรดักต์ชัน” ยังไม่ถึงขั้นขายจริง ซึ่งการประกอบอาจไม่แน่นเนียนเท่าไหร่ แต่ถ้าวัดที่วัสดุและพื้นผิวสัมผัสนั้น ก็เนี้ยบได้โลห์เช่นกัน

ในตำแหน่งคนขับ-ผู้โดยสารด้านหน้า กว้างขวางระยะขาและระยะหัวเหลือๆ การปรับกระจกมองหลังอยู่ตำแหน่งสูงและไกลมือมาก เสาเอ-พิลลาร์ตั้งชันให้มุมมองด้านหน้าโปร่งกว้าง แต่ในส่วนของโครงเบาะเป็นจุดที่ไม่โดนใจผู้เขียน คือรองรับสรีระแบบแปลกๆ จนรู้สึกว่านั่งไม่โอบกระฉับนัก

เช่นเดียวกับผู้โดยสารด้านหลัง ที่นอกจากระยะห่างช่วงขา (leg Room) จะเหลือน้อยแล้ว พนักพิงหลังยังตั้งชันมากไปนิด ที่สำคัญช่วงล่างจะกระดอนเด้งมากกว่าการนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหน้าอีกด้วย...สรุปคือการนั่งแถวหลังไม่ค่อยสบายเท่าไหร่

รวบรัดตัดความ...ไม่ต้องสงสัยเรื่องสมรรถนะ ที่เด่นเกินหน้าเกินตารถตระกูลอีโคคาร์ และน่าจะดีกว่าซับคอมแพกต์หลายรุ่นในตลาด พร้อมรูปลักษณ์สดใหม่เป็นเอกลักษณ์ วัสดุการประกอบที่ใช้ดูดีมีระดับ ออปชันจัดหนักระดับคอมแพกต์คาร์ แต่สนนราคาไม่ต่างจากรถที่ขอใช้นามสกุลเดียวกัน ที่เหลือคือสร้างความมั่นใจเรื่องศูนย์บริการเท่านั้น...รถดีแล้วต้องขายเก่ง พร้อมเน้นบริการให้หนัก แล้วลูกค้าจะรักซูซูกิที่สุด








กำลังโหลดความคิดเห็น