xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! แผนสำรอง ทักษิณ ยอมติดคุก 1-3 วัน แลกขอพระราชทานอภัยโทษ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร ขณะเดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา
ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

กฎหมายเรื่องการพระราชทานอภัยโทษ นั้นในมาตรา 259 – 261 นั้นเป็นการยื่นถวายฎีกาเป็นรายบุคคล โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ของรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้

มาตรา 260ผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราวแล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เฉพาะ 2 มาตรานี้จะเห็นว่ากำหนดลักษณะของการถวายเรื่องราวส่วนตัวนั้นมี 2 ประเภทแยกออกจากกัน คือ ถ้าเป็น “ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ”ให้ถวายฎีกาได้ตามมาตรา 259 โดยยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโดยตรง ส่วน “ผู้ที่ต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ” แล้วให้ถวายเรื่องราวโดยื่นผ่านพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำแล้วส่งต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

แสดงให้เห็นว่าถ้า “ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ” หากยังไม่ได้ต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำ ก็น่าจะมีโอกาสถวายฎีกาตามมาตรา 259 ได้อยู่ และถ้าไม่ใช่เจ้าตัวก็ต้องเป็น “ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง” แต่ก็ต้องผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นเบื้องต้นก่อน

อย่างไรก็ตามคำว่า “ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง” นั้นไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องเฉยๆ แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ยื่นนั้นมีประโยชน์อะไรและลักษณะไหนที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษด้วย ซึ่งหมายความว่า แม้แต่จะเป็นญาติพี่น้องนามสกุลเดียวกัน ภรรยาที่หย่าขาดกันแล้ว หรือลูกที่บรรลุนิติภาวะและเป็นมหาเศรษฐีแล้ว หากไม่ได้มี “ประโยชน์เกี่ยวข้อง” ก็อาจยังไม่เข้าเกณฑ์เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้

“มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้”


จะเห็นได้ว่าในมาตรานี้ได้กำหนดหน้าที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอย่างชัดเจนว่าต้องถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้นก็ไม่ได้วินิจฉัยถวายความเห็นในเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นในสมัยตัวเอง ปล่อยทิ้งค้างให้คาราคาซังถึง 2 ปีกว่า จึงทำให้พรรคเพื่อไทยสบโอกาสมาสวมตอต่อมาในปีนี้

ซึ่งในทางตรงกันข้ามหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้วินิจฉัยตีความว่าการถวายฎีกาไม่ถูกต้องก็จบ หรือหากตีความและวินิจฉัยว่าขั้นตอนถูกต้องแต่หากถวายความเห็นว่าไม่ควรพระราชทานอภัยโทษและถูกยกหนหนึ่งไปด้วยเหตุผลใดแล้ว ก็จะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นไป 2 ปี ตามมาตรา 264

แต่กรณีมาตราที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเรื่องการถวายฎีกาเรื่องความผิดเฉพาะตน แต่ยังมีอีกกรณีหนึ่งก็คือการที่ไม่ต้องมีการถวายฎีกาใดๆทั้งสิ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีสามารถเป็นผู้พิจารณาตาม “มาตรา 261 ทวิ” ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า:

“มาตรา 261 ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้

การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา


จะเห็นได้ว่ามาตรา “261 ทวิ” ใช้คำว่า “ผู้ต้องโทษ” เท่านั้น แตกต่างจากคุณสมบัติของผู้ยื่นเรื่องถวายฎีกาส่วนตนตามมาตรา 259 ซึ่งใช้คำว่า “ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ” ย่อมแสดงว่ากรณีการใช้มติคณะรัฐมนตรีเพื่อถวายคำแนะนำเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษโดยการออกพระราชกฤษฎีกานั้น “ต้องเป็นผู้ที่ต้องรับโทษ” แล้วเท่านั้น

กรณีที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง คือ การตราพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเอาไว้ในพระราชกฤษฎีกา เนื่องในโอกาสสำคัญเป็นคราวๆไป ดังที่เกิดมาแล้ว เช่น เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปีที่ 60 วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษ ในการตราพระราชกฤษฎีกานี้

เช่น ในพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 มาตรา 6 (1) กำหนดให้นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับพระราชทานให้ปล่อยตัวคือ:

“ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่รวมกันไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”

แน่นอนที่สุดจากความหวังตรงนี้ทำให้มีควาเป็นไปได้สูงมากที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินหน้าทั้ง 2 แผน คู่ขนานกันไปในการหาหนทางขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร ดังนี้

แผนแรกอาศัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสวมตอต่อจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่ไม่มีการวินิจฉัยในเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้น ดำเนินการทูลเกล้าถวายความเห็นว่าเห็นควรพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษหนีคดีทักษิณ ชินวัตร

ซึ่งเมื่อสำนักราชเลขาธิการได้รับเรื่องมาจากรัฐมนตรีว่ากากระทรวงยุติธรรมแล้ว ก็จะส่งเรื่องต่อให้กับคณะองคมนตรีเพื่อถวายความเห็นประกอบการมีพระบรมราชวินิจฉัยต่อไป

คำถามคือด้วยกระบวนการที่ช่วยเหลือคนเดียว โดยมีพื้นฐานการอาศัยมวลชนคนเสื้อแดงอยู่เบื้องหลังครั้งนี้ ถือเป็นการกดดันต่อพระราชอำนาจหรือไม่?

อย่างไรก็ตามหากแผนแรกในการช่วยเหลือนักโทษชายทักษิณไม่สำเร็จ ก็อาจมีการดำเนินการต่อในแผนที่สองรองรับตามมา

แผนที่สอง คือการ “ผสมโรง” ไปกับการตราพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554 โดยมติคณะรัฐมนตรี เพื่อถวายคำแนะนำต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอให้พระราชทานอภัยโทษเนื่องในวโรกาสมหามงคล 5 ธันวาคม 2554 ครบรอบ 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยต้องจับตาว่าจะมีการพ่วงแก้ไขให้พระราชกฤษฎีกาครั้งนี้ผิดแผกแตกต่างกว่าทุกครั้งหรือไม่? เช่น เปลี่ยนคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยตัวตามมาตรา 6 (1) จากเดิม คือ

"ผู้ต้องโทษจำคุกที่จะต้องได้รับโทษเหลืออยู่รวมกันไม่เกินหนึ่งปี”

ขยายเวลาเป็น...

"ผู้ต้องโทษจำคุกที่จะต้องได้รับโทษเหลืออยู่รวมกันไม่เกินสองปี”

ถ้าเป็นไปตามนี้ ก็จะแสดงว่ามีการเตรียมแผนให้นักโทษหนีอาญาแผ่นดิน ทักษิณ ชินวัตร ยอมกลับมาติดคุก โดยมีการจัดเตรียมพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ให้ขยายขอบเขตเวลาสำหรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมคำพิพากษาโทษจำคุก 2 ปี ในคดีที่ดินรัชดาของนักโทษหนีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร ด้วย

แต่คนอย่างทักษิณให้มาติดคุกโดยมาเสี่ยงเอาข้างหน้าว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็ไม่น่าเป็นไปได้

ดังนั้นจึงต้องจับตาตามมาด้วยว่าในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะมีการกำหนดเอาไว้ในมาตราที่ 2 หรือไม่ที่จะระบุ “เวลาเริ่มการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกา” ฉบับนี้ ให้ทอดยาวออกไปเพื่อให้นักโทษหนีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร กลับมาเข้าคุกก่อนวันมีผลบังคับใช้ตามพระราชกฤษฎีกา 1- 3 วัน ซึ่งจะทำให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามมาตรา 265 วรรคหนึ่ง มีผลทันทีคือ

มาตรา 265 ในกรณีที่มีการอภัยโทษเด็ดขาดโดยไม่มีเงื่อนไข ห้ามมิให้บังคับโทษนั้น ถ้าบังคับโทษไปบ้างแล้วก็ให้หยุดทันที ถ้าเป็นโทษปรับที่ชำระแล้ว ให้คืนค่าปรับให้ไปทั้งหมด

แต่เรื่องนี้ต้องเข้าใจตามประมวลวิธีพิจารณากฎหมายอาญาทุกมาตรานั้น ระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะรัฐมนตรีทำได้แค่ “ถวายคำแนะนำ”เท่านั้น

จึงต้องตระหนักว่า “การพระราชทานอภัยโทษ” หรือไม่นั้น เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยตรงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 191

อย่างไรก็ตามการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือคณะรัฐมนตรี จะผลักดันนำเรื่องที่จะช่วยคนๆเดียว เพื่อถวายให้มีพระบรมราชวินิจฉัยทั้งๆที่ประชาชนมีความขัดแย้งกันอยู่นั้น นักการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้คงคิดไม่ได้จริงๆ ว่ามันสมควรแล้วหรือไม่?

กำลังโหลดความคิดเห็น