xs
xsm
sm
md
lg

“โตโยต้า” ครองแชมป์ TAQA 4 สมัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - “Thailand Automotive Quality Award” หรือ TAQA (ทา-ก้า) 2554 “โตโยต้า” มาแรงกวาด 10 รางวัล ทุกประเภทขณะที่มาสด้า นิสสัน บีเอ็มดับเบิลยู เมอร์ซีเดส-เบนซ์ อีซูซุ ฟอร์ด และฮอนด้า รับรางวัลใหญ่ไปครองเช่นกัน ผู้บริโภคตื่นตัวพลังงานทางเลือกหันมานิยมรถขนาดเล็ก มั่นใจพิษวิกฤตน้ำท่วมไม่กระทบอุตสาหกรรมในระยะยาว

นายสุกิจ ตันสกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท คัสต้อม เอเซีย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาดมากว่า 30 ปี เปิดเผยว่า การสำรวจความคิดเห็นผลความพึงพอใจของผู้ใช้รถจำนวนกว่า 6,600 คนทั่วประเทศที่มีต่อผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ผ่านช่องทางการสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ ระหว่างเดือน มิถุนายน ถึงเดือน กันยายน 2554 แบ่งประเภทรางวัลเป็น 5 กลุ่ม รวม 31 รางวัล สรุปผลได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 รางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมด้านการขายในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ตกเป็นของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แชมป์ 4 สมัย ส่วนประเภทรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาด 1 ตัน เป็นของบริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย จำกัด ล้มแชมป์จากโตโยต้าเป็นผลสำเร็จ

กลุ่มที่ 2 รางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมด้านบริการหลังการขายในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาด 1 ตันในปีนี้ยังเป็นของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แชมป์เก่าทั้ง 2 รางวัล

กลุ่มที่ 3 รางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมด้านผลิตภัณฑ์ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลประเภท Pre-Entry “นิสสัน มาร์ช” คว้ารางวัลเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน รางวัลยอดนิยมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลท้ายลาด 5 ประตู เป็นของ “โตโยต้า ยาริส” เช่นเดียวกับในปีก่อน ประเภทรถยนต์นั่งขนาดกลางเล็ก - รถหรู ได้แก่ “บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 3” สามารถชิงตำแหน่งจาก “เมอร์ซีเดส เบนซ์ - ซีคลาส” และประเภทรถยนต์นั่งขนาดกลางใหญ่ - รถหรู “เมอร์ซีเดส เบนซ์ - อีคลาส” โค่นแชมป์ “บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 5” ในปีที่แล้ว

สำหรับประเภทรถยนต์นั่ง สินค้าจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยังคงครองตำแหน่งแชมป์รวม 3 รุ่นเช่นเดียวกับในปี 2553 ได้แก่ “โตโยต้า วีออส” ในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็ก “โตโยต้า พรีอุส” ในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดกลางเล็ก แทนที่แชมป์เก่าอย่าง “โตโยต้า อัลติส” และประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดกลางใหญ่ที่ในปีก่อนตำแหน่งแชมป์เป็นของ “โตโยต้า คัมรี่” ในปีนี้กลายเป็นของ “โตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด”

ด้านรถยนต์รุ่น “โตโยต้า วีโก้” ซึ่งในปีที่แล้วกวาดรางวัลยานยนต์ยอดนิยมประเภทรถเพื่อการพาณิชย์ไปทั้ง3 ประเภท มาปีนี้ชนะเลิศประเภทเดียวในกลุ่ม ขนาด 1 ตัน แบบ 2 ประตู ขับเคลื่อน 2 ล้อ ขณะที่ขนาด 1 ตันแบบ 2 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ ตกเป็นของ “อีซูซุ ดีแมกซ์” ส่วนในกลุ่มขนาด 1 ตัน แบบ 4 ประตู กลายเป็นของ “มาสด้า บีที 50” ขณะเดียวกัน รถยนต์รุ่น “โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” ยังได้รับการโหวตเป็นอันดับหนึ่งในประเภทรถกิจกรรมกลางแจ้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 อีกด้วย

กลุ่มที่ 4 รางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมด้านภาพลักษณ์แบรนด์ ประเภทการออกแบบยังเป็นของแชมป์เก่าอย่าง “บีเอ็มดับเบิลยู” ประเภทนวัตกรรม“ฮอนด้า”ถูกโค่นตำแหน่งชนะเลิศโดย “ฟอร์ด” ประเภทเทคโนโลยีระดับสูง เป็นของ “เมอร์ซีเดส เบนซ์” ประเภทคุ้มค่าเงินเป็นของ “อีซูซุ” ประเภทมีราคาที่ทุกคนสามารถครอบครองได้ ตกเป็นของ “นิสสัน” ประเภทความปลอดภัย “เมอร์ซีเดส เบนซ์” ยังคงครองตำแหน่งแชมป์ ประเภทประหยัดพลังงาน เป็นของแชมป์ 2 สมัย “อีซูซุ” ประเภทแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง ตกเป็นของ “ฮอนด้า” และประเภทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ได้รับรางวัลคือ “โตโยต้า”

กลุ่มที่ 5 รางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์อื่นๆ และผลิตภัณฑ์ประกอบการใช้รถยนต์  “ปตท.” ยังคงกวาดรางวัลชนะเลิศใน 3 กลุ่มเช่นเดียวกับในปี 2553 คือ ประเภทน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และประเภทน้ำมันหล่อลื่น ส่วนประเภทยางรถยนต์และประเภทฟิล์มกรองแสงยังคงเป็นของแชมป์เก่าคือ “บริดจ์สโตน” และ “ลามีน่า” ตามลำดับ สุดท้ายประเภทมอเตอร์ไซค์ตกเป็นของ “ฮอนด้า”

นายสุกิจ ตันสกุล ระบุว่า ผลการสำรวจปีนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหลายประการในตลาดรถยนต์ ทั้งในฝั่งผู้ผลิตแต่ละค่ายที่ได้คะแนนสูสีไม่ทิ้งห่างกันมาก ไม่เพียงแต่ค่ายรถยักษ์ใหญ่ที่ได้รับรางวัลตามคาด แต่ผู้ผลิตขนาดกลางและเล็กต่างก็ตบเท้ากันเข้ารับรางวัลเช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าตลาดยานยนต์ของไทยยังมีการแข่งขันกันสูงมากในแง่ของการเร่งฝีเท้าเพื่อปรับปรุง พัฒนาเทคโนโลยี คุณภาพผลิตภัณฑ์ และการบริการเพื่อมอบความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ปัจจัยเรื่องของเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม และพลังงานทางเลือกก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค รวมถึงกระแสความนิยมที่พุ่งสูงขึ้นของรถยนต์ขนาดเล็ก ที่ถูกออกแบบและพัฒนาให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

เกี่ยวกับปัญหาภัยน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ คาดว่าไม่ส่งผลกระทบมากนักในระยะยาว เพราะนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการแข่งขันหลายด้านของไทย โดยเฉพาะความพร้อมเรื่องฝีมือแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งประเทศไทยได้บ่มเพาะมานานมากกว่า 10 ปี

รางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม (TAQA) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ประกอบการที่สามารถครองใจมหาชนได้มากที่สุด จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ด้วยการสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจของผู้ใช้รถทั่วประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่ความพึงพอใจคุณภาพบริการซื้อ-ขายรถใหม่ คุณภาพรถแรกใช้ และบริการหลังการขาย รวม 45,710 รายนับเป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสำรวจด้านนี้ในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น