ต่างกรรมต่างวาระ สำหรับรถยนต์ที่ขึ้นไปจอดหนีน้ำตามทางด่วนและสะพานสูง บ้างโดนรถคันอื่นวิ่งมาชนท้าย บ้างถูกมอเตอร์ไซค์ปาดกระจกข้าง หรือซ้ำร้ายรถพ่วงล้มทับก็มีให้เห็นเป็นข่าว ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ยังไม่นับการโจรกรรมในรูปแบบฉกรถไปทั้งคัน(จะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่) ฉวยไปแต่ยางอะไหล่(ปิกอัพ) ขโมยดูดน้ำมัน(รถบรรทุก) ตลอดจนโดนทุบกระจก เอาทรัพย์สินมีค่าออกไป
...มหาอุทกภัยครั้งนี้ หลายคนที่รับรู้ข่าวสารและมีเวลาเตรียมการตั้งตัว เลือกนำรถไปจอดในที่ปลอดภัยอย่าง บ้านเพื่อน ที่ทำงาน ตึกสูง หรือต่างจังหวัด ขณะที่บางคนเลือกสู้โดยจอดรถไว้บ้านเหมือนเดิม แต่ใช้วิธียกสูงหนีน้ำ หรือหาวัสดุกันน้ำมาหุ้มรถ รวมถึงการใช้โฟม-ห่วงยาง หวังรองรถให้ลอยเหนือน้ำ
นอกเหนือจากการเอาตัวรอดตามภูมิปัญญาสร้างสรรค์แล้ว วิธีที่ง่ายและเห็นกันเกลื่อนเมืองตอนนี้คือ การนำรถไปจอดตามทางด่วน ถนนลอยฟ้า สะพานข้ามแยก สะพานกลับรถ ซึ่งประเด็นนี้มีข้อถกเถียงกันมากถึงจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
สำหรับการจอดรถในลักษณะดังกล่าว “ผิดกฎหมาย”ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ.2522 ทั้งห้ามหยุด(จอด) บนสะพานหรือในอุโมงค์,ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ และกีดขวางการจราจร (มีรายละเอียดยิบย่อยตามมาตรา 54-64)
...เมื่อมีคันแรกจอด คันที่สอง สาม สี่ ก็ตามมา จนกลายเป็น “ปฏิบัติการหมู่” ร่วมร้อย หลักพันในหลายๆจุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จำต้องผ่อนผันกันไป
ฉันใดฉันนั้นในภาวะฉุกเฉิน การบังคับใช้กฎหมายอาจจะต้องอะลุ่มอล่วยบ้าง ตามที่ผู้มีอำนาจสั่งไฟเขียว แต่การจอดรถบนทางด่วน สะพานต่างๆ ถือเป็นการเบียดบังการจราจร ช่องทางสาธารณะที่คนในสังคมต้องใช้ร่วมกัน
ยกตัวอย่างคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี มีคนนำรถมาจอดประกบคู่ซ้าย-ขวา เหลือช่องกลางให้รถวิ่งเพียงหนึ่งเลนทางต่างระดับบางแห่ง รถจอดซ้อนคันกัน 2-3 เลน เหลือถนนแคบนิดเดียว
ดังนั้นเมื่อการจราจรไม่คล่องตัวตามสภาพที่ควรจะเป็น จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ (ตามที่เป็นข่าว) ขณะเดียวกันหากมีกรณีเร่งด่วน ทีมช่วยเหลือผู้ประสบภัยอันหมายรวมถึงรถพยาบาล ก็ไม่สามารถเข้า-ออก จากพื้นที่ได้โดยสะดวก เสบียงการลำเลียงอาหาร คนป่วยไข้ ลำบากแน่
...ทั้งหลายทั้งปวงจึงสอดคล้องกับคำกล่าว “จราจรสะท้อนวินัยชาติ” ได้เป็นอย่างดี และแม้จะมีแนวคิดประนีประนอมว่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน น่าจะผ่อนผันยืดหยุ่นกันบ้าง แต่ถ้าการทำอะไรตามใจแล้วอ้างว่าเดือดร้อน โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม จะยิ่งวุ่นวาย...สุดท้ายแม้วิกฤตน้ำท่วมจะผ่านไป แต่ปัญหาคนกับ “วัฒนธรรมมักง่าย” อยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน