xs
xsm
sm
md
lg

Volvo S60 ขับสบาย-ปลอดภัยไร้เสียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูหนุ่มขึ้น พร้อมนำเสนอโปรดักต์ใหม่ด้วยรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวทันสมัย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความหรูไซส์คอมแพกต์อย่าง “เอส60 โมเดลเชนจ์” ที่วอลโว่จัดการเปิดตัวในตลาดโลกเมื่อต้นปี 2553 จากนั้นปลายปีเดียวกัน บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่รอช้า รีบสั่งรถข้ามน้ำผ่านทะเลจากโรงงานเมืองเกนท์ ประเทศเบลเยี่ยม เข้ามาขายทันที

“เอส60 ใหม่” นับเป็นเจเนอเรชันที่สอง โดยรับไม้ต่อจากโมเดลแรกที่ทำตลาดมานานเกือบ 10 ปี (สานต่อมาจากตระกูล 850 อีกที) ซึ่งโฉมโมเดลเชนจ์ล่าสุดนี้ วอลโว่ให้คำจำกัดความว่า “Naughty Volvo” หรือเป็นรถที่เพียบด้วยนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัย พร้อมการออกแบบเร้าใจซุกซนกว่ารถยนต์วอลโว่รุ่นอื่นๆที่ผ่านมา

หน้าตาสวยจริงกับเส้นสายลื่นไหลดูสปอร์ตมากขึ้น ภายในตกแต่งทันสมัย พร้อมวัสดุคุณภาพดี คอนโซลหน้า แดชบอร์ด แผงข้างประตู ปุ่มควบคุมต่างๆดูสบายตา หรือคุ้นชินมาสักพักกับเอสยูวีอย่าง “เอ็กซ์ซี60”

อุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จัดเป็นมาตรฐาน ทั้ง เบาะคู่หน้าปรับระดับด้วยไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำ3 ตำแหน่ง พนักพิงเบาะหลังพับได้แบบ 60/40 รวมถึงแอร์อัตโนมัติพร้อมเซ็นเซอร์ควบคุมคุณภาพอากาศ ขณะที่เครื่องเสียงชั้นดีรองรับ CD/DVD/MP3 จำนวน1 แผ่น ช่องต่อ AUX USB และระบบเชื่อมต่อบลูทธ (สัญญาณโทรศัพท์และเสียงเพลง) จอแสดงผล LCD ขนาด 7 นิ้ว พร้อมลำโพง 8 ตัว

กุญแจรีโมทอัจฉริยะ เพียงพกไว้ในกระเป๋ากางเกง ก็เปิดประตูเข้า-ล็อกปิดสบาย พร้อมปุ่มสตาร์ท-ดับเครื่องยนต์ และแม้จะมีรูกุญแจอยู่ใกล้ๆกัน แต่คนขับจะเลือกเสียบหรือไม่ก็ได้

หลังผู้เขียนปรับเบาะ และระดับพวงมาลัยเข้าที่เข้าทางแล้ว พบว่าทัศนวิสัยด้านหน้า-หลังของ “เอส60” ไม่ได้โปร่งกว้างมากมาย ขณะเดียวกันต้องอาศัยเวลาปรับตัว กะระยะกันสักพัก

ด้านพวงมาลัยมีปุ่มมัลติฟังก์ชันมาให้ ซึ่งหลักๆเอาไว้ควบคุมเครื่องเสียง และครูสคอนโทรล ส่วนปุ่มต่างๆบริเวณคอนโซลกลาง แม้จะดูละลานตาไปหมดแต่ก็ใช้งานง่าย หรือแสดงตรรกะการใช้ให้เห็นกันชัดๆไม่ซับซ้อน

จุดนี้ถือว่าต่างจากพวก “เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส” กับ “บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์3” ที่มีปุ่มหลักควบคุม โดย เมอร์เซเดส-เบนซ์ เรียก “คอมมาน เอพีเอส” ส่วนบีเอ็มดับเบิลยู เรียก “ไอ-ไดรฟ์”

อย่างไรก็ตามพวงมาลัยของ“เอส60 ใหม่” ค่อนข้างหนักมือ พร้อมรัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 11.3 เมตร ขับในเมืองความเร็วต่ำต้องใช้แรงเอี้ยวเลี้ยวพอสมควรและอาจไม่คล่องตัวนัก ซึ่งน้ำหนักพวงมาลัยขนาดนี้จะไปปะเหมาะพอดีช่วงความเร็วเกิน 80 กม./ชม.ขึ้นไป ส่วนการควบคุมซ้าย-ขวา ตอบสนองแม่นยำกำลังดี

ในช่วงแรกของการทำตลาด “เอส60 ใหม่” ในเมืองไทย จะเริ่มจากเครื่องยนต์เบนซินทางเลือกเดียวคือ บล็อก 4 สูบ ขนาด 2.0 ลิตร ไดเรกอินเจกชัน พร้อมระบบอัดอากาศแบบเทอร์โบชาร์จ หรือตระกูล GTDi (Gasoline Turbocharged Direct Injection) ให้กำลังสูงสุด 203 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 300 นิวตันเมตร ที่ 1,750-4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ดูอัลคลัทซ์(เพาเวอร์ชิฟท์) 6 สปีด

แน่นอนว่าวอลโว่ภูมิใจกับเครื่องตระกูลนี้มาก โดยพัฒนาต่อยอดมาจาก “อีโคบูส” ของฟอร์ด ด้วยจุดเด่นอย่างระบบเทอร์โบใหม่ (ถูกจดสิทธิบัตรไว้เป็นเอกสิทธิ์) ซึ่งใช้ชุดเทอร์โบขนาดเล็กรีดพลังจากท่อร่วมไอเสีย อันทำจากแผ่นเหล็กเกรดพิเศษอัดขึ้นรูป แทนแบบเดิมที่ใช้โลหะหล่อขึ้นรูปซึ่งหนักกว่า ขณะเดียวกันจะรีดพลังให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การขับขี่จริงก็เป็นเช่นนั้นครับ กดคันเร่งไปนิด พลังพุ่งพล่านแบบหลังติดเบาะ โดยเทอร์โบบูสตั้งแต่รอบต่ำ 1,500 รอบ ยิ่งมาประกบเกียร์เทพแบบดูอัลคลัทซ์ ก็ผ่านกำลังสู่ล้อคู่หน้าได้รวดเร็ว เรียกว่า“ม้า”ลงพื้นทันใช้ จัดให้ไม่ได้ขาด

ขุมพลังและเกียร์ชุดนี้ของ “เอส60” ถือว่าตอบสนองการขับขี่ได้ยอดเยี่ยม อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 8.2 วินาที การขับความเร็วสูงเกิน 120 กม./ชม.ยังไหลไปได้ยาวๆ

ในส่วนของอัตราบริโภคน้ำมันเฉลี่ย วอลโว่เคลมไว้ 12.04 กม./ลิตร แต่สำหรับผู้เขียนทำได้เห็นจริงประมาณ 10 กม./ลิตรในการวิ่งนอกเมือง-ในเมือง ตลอดจนการขับขี่ช่วงจราจรหนาแน่นรถติดหนัก แถมฝนตก(หนักมาจริงๆในสุดสัปดาห์เลือกตั้ง) มีตัวเลขประมาณ 8 กม./ลิตร

ด้านช่วงล่างหน้าเป็นแบบ แมคเฟอร์สันสตรัท หลังมัลติลิงค์ เซ็ทมาค่อนข้างนุ่ม แต่ก็ไม่ถึงกับยวบย้อย ใช้ความเร็วเกิน 140 กม./ชม. ตัวรถไม่ได้โคลงแคลง พร้อมเก็บอาการในโค้งได้เนียนระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามด้วยการเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า เมื่อรวมการบังคับควบคุม ช่วงล่าง ก็อาจจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากพวกขับหลังอย่าง “ซี-คลาส” และ “ซีรีส์ 3” ยิ่งในรายของค่ายใบพัดสีฟ้าจะขับสนุก และออกแนวสปอร์ตกว่าชัดเจน

...พอเข้าใจได้ครับ แม้รถจะมีรูปลักษณ์สวยเฉี่ยวบาดตา ตามสมัยมากขึ้น แต่วอลโว่ก็ไม่ละทิ้งDNAเดิม ที่เน้นความสุขุมนุ่มสบาย และรายละเอียดเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง

ในส่วนของระบบความปลอดภัย ที่เป็นไฮไลต์สำคัญของ “เอส60 ใหม่” คงเป็น ระบบตรวจจับคนเดินถนนพร้อมเบรกเต็มแรงอัตโนมัติ (Pedestrian Detection with Full Auto Brake) ซึ่งจะมีเรดาร์ติดตั้งอยู่บริเวณกระจังหน้า และกล้องติดอยู่ด้านหลังของกระจกมองหลัง ช่วยกันตรวจจับวัตถุหรือมนุษย์ และส่งมาให้กล่องประมวลผล

ดังนั้นหากพบว่า รถคุณมีแนวโน้มจะชนวัตถุดังกล่าวและอยู่ในภาวะกระชั้นชิด ซึ่งตัวคนขับเองก็ไม่ได้เหยียบเบรกหรือมีปฏิกิริยาใดๆ (อาจเผลอ มองไม่เห็น หรือหลับใน) ระบบจะสั่งงานให้รถเบรกอัตโนมัติ พร้อมส่งสัญญาณเตือน(ไฟ-เสียง)ทันที แต่ทั้งหลายทั้งปวงต้องอยู่บนข้อแม้ การขับไม่เกิน 35 กม./ชม. และวัตถุหรือคนต้องสูงอย่างน้อย 80 เซนติเมตรขึ้นไป

นอกจากนี้ยังไม่ลืมระบบป้องกันการชนขณะขับขี่ความเร็วต่ำ City Safety ที่วอลโว่ติดมาก่อนในรุ่น “เอ็กซ์ซี 60” ซึ่งระบบนี้จะหยุดรถอัตโนมัติ หากคนขับไม่เหยียบเบรกเมื่อรถคันข้างหน้าชะลอหรือหยุด บนเงื่อนไขใช้ความเร็วไม่เกิน30 กม./ชม. (กรณีขับเรื่อยๆรถเคลื่อนตัวช้า) รวมถึงระบบเตือนจุดบอดข้างรถ (Blind Spot Information System - BLIS) ที่คุ้นชินมาในวอลโว่รุ่นหลังๆ ซึ่งจะมีกล้องใต้กระจกมองข้างคอยสอดส่องรถที่จะเข้ามาในจุดบอดด้านข้าง และจะมีไฟสว่างบริเวณเสาร์ เอ-พิลลาร์ คอยเตือนให้ระวัง

นั่นเป็นระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (Active Safety) ส่วนความปลอดภัยแบบปกป้อง(Passive Safety) วอลโว่ยังจัดมาเป็นมาตรฐานทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้าและด้านข้าง สำหรับคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า รวมถึงม่านนิรภัยด้านข้าง(ยาวถึงผู้โดยสารตอนหลัง) และระบบกระจายแรงกระแทกจากการชนด้านข้าง

รวบรัดตัดความ...รูปลักษณ์สวยจนสาวเหลียว แถมไร้เสียวจากอุบัติเหตุ กับเทคโนโลยีระบบความปลอดภัยที่ขนมาเพียบใน“เอส60 ใหม่” สนนราคา2.99 ล้านบาท ซึ่งเป็นรถนำเข้าทั้งคัน และปลายปีนี้วอลโว่เตรียมขึ้นไลน์ประกอบในประเทศ ส่งผลให้ราคาขายจะถูกลงกว่านี้แน่นอน

ชมคลิป รายการ Motoring ONAIR ออกอากาศทาง ASTV ช่อง NEWS1 ออกอากาศทุกวันเสาร์เวลา 13.30-15.30 น. หรือคลิกชมผ่านทางเฟซบุคได้ที่ Motoringonair




กำลังโหลดความคิดเห็น