xs
xsm
sm
md
lg

เจาะภารกิจ“นายกฯผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อัชณา ลิมป์ไพฑูรย์” นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) เปิดเผยภารกิจเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เพื่อรับมือการเข้ารวมกลุ่มพันธมิตร “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC (ASEAN Economic Community )ในปี 2558 ซึ่งจะมีผลทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงแรงฝีมืออย่างเสรี
อัชณา ลิมป์ไพฑูรย์
ภาพรวมอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย

ช่วงที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนไม่สามารถส่งมอบได้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าซึ่งเราต้องรอจากเขาอย่างเดียว ทั้งที่ส่วนอื่นๆ กว่า 90% เรามีพร้อมอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถประกอบเป็นรถทั้งคันที่พร้อมใช้งานได้ ดังนั้น ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ตัวเลขการเติบโตจะสะดุดและถดถอยไปพอสมควร อย่างไรก็ตาม คาดว่าไม่มีผลต่อแผนการผลิตรถยนต์จากเดิม ซึ่งปีนี้ตั้งไว้ที่ 1.85 ล้านคัน เพิ่มจากปี 2553 ที่ทำได้ 1.6 ล้านคัน เนื่องจากดูแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังตลาดโดยรวมจะฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

ปัจจัยบวกที่ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์

จากพื้นฐานเศรษฐกิจของเราเข้มแข็ง ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์คิดเป็น จีดีพี ของประเทศประมาณ 12% ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้น ชิ้นส่วนยานยนต์จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ และมั่นใจว่า ตลาดรถยนต์ปีนี้จะโตอย่างน้อย 8% รวมไปถึงอนาคต เพราะเรามีปัจจัยบวกหลายอย่าง เช่น การเป็นประตูของอาเซียน ใครที่อยากเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้จะมองประเทศไทยเป็นอันดับแรก นอกจากนี้เรายังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เป็นประเทศที่ดึงดูการลงทุนเป็นอันดับที่ 11 ของโลก และการเป็นศูนย์กลางของไทยไม่ใช่แค่เรื่องของยานยนต์ แต่อุตสาหกรรมอื่นก็แข็งแกร่งไม่ด้อยกว่ากัน อาทิ การท่องเที่ยวและการผลิตอัญมณี ตลอดจนการมีนโยบายที่สอดคล้องกับโลก ก็ทำให้นักลงทุนยังคงต้องการเข้ามาเมืองไทย อย่างแนวคิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีที่จะเน้นเรื่องของการประหยัดพลังงาน และการปล่อยมลพิษสู่อากาศเป็นตัวกำหนด

ด้านปัจจัยลบมีอะไรบ้าง

เมื่อไทยเป็นประเทศเนื้อหอม ใครๆ ก็อยากเข้ามาลงทุน จึงส่งผลในแง่ลบเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2558 ในข้อตกลงทางการค้า “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC ที่จะเปิดเสรีทุกอย่างรวมถึงแรงงานด้วย อย่างล่าสุดทางกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอินเดียสนใจเข้าตลาดไทยก็จะทำให้เกิดการแข่งขันเรื่องแรงงาน ของเขาได้เปรียบเรื่องภาษาอังกฤษ รวมถึงค่าแรงที่อาจเรียกร้องต่ำกว่าคนไทย

ภารกิจรับมือ AEC 2558

อันดับแรกเรายังขาดแคลนฝีมือแรงงานระดับช่างเทคนิคที่เรียนจบ ปวช. และ ปวส. เพราะบ้านเรามีค่านิยมว่า เมื่อเรียนจบแล้วต้องต่อยอดไปถึงปริญญาตรี ทีนี้ก็ไม่มีใครอยากลงมาทำงานเป็นช่างเทคนิคหรือระดับปฏิบัติการ ขณะที่แรงงานระดับวิศวกรไม่มีปัญหา ซึ่งบทบาทของสมาคมก็พยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม กรมอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกันวางแผนสร้างมหาวิทยาลัยต้นแบบสำหรับแรงงานยานยนต์ คือ ส่งเข้าไปเรียนภาคทฤษฎี 1 ปี จากนั้นเข้าไปเรียนและทดลองทำงานจริงในโรงงานอีก 1-2 ปี ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความยั่งยืนด้านแรงงานในอนาคตได้
ตารางแสดงการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานพาหนะ 10 ประเทศแรกของไทย ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2554 และ 2553 (หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ)
การปรับตัวของผู้ประกอบการไทย

สำหรับผู้ประกอบการเกี่ยวกับทิศทางของอุตสาหกรรมและแนวทางการปรับตัว วันที่ 23 มิ.ย.นี้ ที่ไบเทค บางนา จะมีการจัดประชุม ออโตโมทีฟ ซัมมิต 2011 โดยมีวิทยากรในแวดวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนากัน ทั้งนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและเจโทร โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอเป็นองค์ปาฐก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน แมนูแฟคเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2011 อีกทั้งในงานยังมีการแสดงเกี่ยวกับเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจและเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ควรจะไปติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดและเทคโนโลยีในปัจจุบัน
เปลี่ยนช่องทางจำหน่ายสู่การสร้างแบรนด์

จากที่ต้องรอชิ้นส่วนเพียงตัวเดียว สะท้อนถึงปัญหาการผลิตของไทยยังขาดการพัฒนาองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีเฉพาะทาง รูปแบบการทำงานเป็นเพียงการรับจ้างผลิตเท่านั้น โดยส่งต่อให้กับโรงงานประกอบรถยนต์หรือ โออีเอ็ม ไม่มีการทำออกมาในรูปของอุปกรณ์ตกแต่ง ซึ่งมีผู้ดำเนินการจริงจังอยู่ไม่กี่ราย สำหรับการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ซึ่งถ้าทำส่งออกไปตลาดทดแทนหรือ อาร์อีเอ็ม จะเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถต่อยอดธุรกิจและเติบโตต่อไปได้

แนะนำว่าช่วงนี้หากต้องการปรับตัวนับเป็นโอกาสที่ดี โดยเฉพาะผู้ผลิตในระดับเทียร์ 2 หรือเทียร์ 3 ที่ส่งต่อให้กับเทียร์ 1 เพื่อนำมารวมกันก่อนไปถึงปลายทางที่โรงงานประกอบรถยนต์ ไม่ต้องมองตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ขอใกล้ตัวในประเทศเพื่อนบ้านก็เพียงพอแล้ว เพราะการส่งออกชิ้นส่วนปัจจุบันก็วนเวียนอยู่ในอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียก็เป็นตลาดใหญ่ที่ล่าสุดแซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว

คู่แข่งและปัญหาในกลุ่มอาเซียน

ที่น่าจับตาคือ อินโดนีเซีย เพราะเป็นประเทศใหญ่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน เศรษฐกิจและการเมืองค่อนข้างมั่นคง เราคงประมาทไม่ได้ แต่ว่าไทยก็มีจุดแข็งอยู่ที่การส่งออก รวมถึงคุณภาพแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งยังต้องผลักดันกันต่อไป ส่วนปัญหาในภูมิภาคก็มีบ้าง จากข้อตกลงชิ้นส่วนที่มีแหล่งผลิตในอาเซียนสำหรับการประกอบรถยนต์ที่จะได้สิทธิพิเศษด้านภาษี มีบางประเทศที่ไม่ได้ผลิตจริง แต่นำเข้าชิ้นส่วนจากจีนมาแล้วตีตราว่าทำในประเทศนั้นๆ การตรวจสอบขอเข้าไปดูแหล่งผลิตยังทำไม่ได้ เพราะไม่มีในข้อตกลงทางการค้า ซึ่งเราจะพยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้ คาดว่าภายใน 1 หรือ 2 ปี จะมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น