ในอดีตเมื่อภาพยนตร์ออกจากโรงฉายไปแล้ว ก็จะผ่านไปยังหนังกลางแปลงหรือหนังขายยา ซึ่งประเภทแรกจะมีการเก็บสตางค์คนดู อาจเรียกว่าหนังเร่หรือหนังปิดวิก โดยมีการกั้นอาณาเขตเหมือนเป็นโรงภาพยนตร์ แต่เป็นโรงกลางแจ้ง ส่วนหนังกลางแปลงที่ฉายให้ดูฟรีๆ ก็จะต้องมีเจ้าภาพว่าจ้างให้ไปฉาย เช่น ในงานศพ งานบวช งานศาลเจ้าหรืองานบุญตามประเพณีต่างๆ
ส่วนหนังขายยานั้นก็จะฉายให้ดูฟรีเช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่มีการหยุดฉายเพื่อขายยาเป็นระยะ ซึ่งมักจะออกไปฉายตามแถบชานเมืองหรือที่ห่างไกลในชนบท นานๆ ทีจะเห็นหนังขายยาปักจอฉายกันในตัวเมืองสักครั้ง แม้ครั้นต่อมาเมื่อมีการนำสินค้าอื่นไปขายด้วย คนก็ยังเรียกว่าเป็นหนังขายยาเช่นเดิมอีก
วิธีการไปฉายหนังขายยาโดยส่วนใหญ่มักจะใช้รถยนต์เป็นพาหนะ แต่ก็มีบ้างบางแห่งที่ใช้เรือหรือเกวียน ถ้าเป็นรถยนต์ก็จะมีการตกแต่งรถโดยใช้สินค้าของตัวเองเขียนหรือวาดติดกับตัวรถเสมอ แบบว่าพอวิ่งผ่านไปที่ไหนคนก็จะเห็นโฆษณาสินค้าบนตัวรถทันที
นอกจากนั้นบนหลังคาก็ต้องมีการติดตั้งลำโพงกระจายเสียง ถ้าเป็นยุคเก่าก็จะเป็นลำโพงฮอร์น ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องมี 2 ตัวขึ้นไป ด้านหน้าและด้านหลัง ขณะที่ด้านในตัวรถจะมีการตั้งเครื่องฉายขนาด 16 มม. รวมถึงเครื่องขยายเสียง ตลอดจนอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น อาทิ โครงเหล็กและผ้าขาวสำหรับไว้ขึงเป็นจอภาพยนตร์ และไม่ลืมเพิ่มเครื่องปั่นไฟพร้อมตัวแปลงสัญญาณ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักของการฉายหนังด้วย
สำหรับรถหนังขายยาคันนี้ ซึ่งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดแสดงไว้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย คือ รถหนังขายยาสตรีเพ็ญภาค ตราพระยานาค นับเป็นรถหนังขายยาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดคันหนึ่งของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาโดย เจือ เพ็ญภาคกุล เจ้าของร้านขายยาเก่าแก่ยี่ห้อนี้ได้ซื้อรถจิ๊บ ดอดจ์ เป็นรถที่ดัดแปลงมาจากรถยนต์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และนำมาแต่งเป็นรถสำหรับเร่ฉายหนังและขายยาต่างๆ ตั้งแต่ราวปี 2492 เป็นต้นมา เคยตระเวนไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ก่อนจะชำรุดทรุดโทรมและถูกปลดระวางในช่วงปี 2520
หลังจากนั้นทางห้างฯ ได้นำไปเก็บที่สวนแห่งหนึ่ง ย่านคลอง 3 รังสิต ปทุมธานี โดยหวังว่าจะบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์ของห้างฯ ในอนาคต
ต่อมาเมื่อหอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดทำพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ขึ้นเมื่อปี 2543 จึงได้ติดต่อขอรับบริจาครถหนังขายยาคันนี้จาก บริษัท ห้างขายยาเพ็ญภาค (ตราพระยานาค) จำกัด โดยผู้จัดการห้างฯ สุรชัย ไทยชาติ ยินดีบริจาครถดังกล่าว เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านรูปแบบของรถที่มีความสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ไทยต่อไป
อย่างไรก็ตาม การหาช่างและอู่ซ่อมเพื่อบูรณะรถให้กลับคืนสู่สภาพใกล้เคียง หรือสามารถใช้งานได้ดังเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐที่มีจำกัด ทำให้การซ่อมแซมไม่สำเร็จและยืดเยื้อไปถึงปี 2547
แต่แล้วเหมือนมีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย เมื่อ ประสิทธิ์ ดีศิลปกิจ ผู้จัดการ บริษัท อีซูซุอึ้งง่วนไต๋สุพรรณ จำกัด ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่รุ่นบุกเบิกของหอภาพยนตร์แห่งชาติ เมื่อ 20 ปีก่อนทราบเรื่อง จึงอาสานำรถคันนี้ไปดำเนินการบูรณะให้เอง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และใช้เวลาหนึ่งปีเต็มจึงทำสำเร็จ พร้อมส่งมอบแก่หอภาพยนตร์แห่งชาติ ในวันที่ 21 มกราคม 2549
จากนั้นเป็นต้นมา รถหนังขายยาคันนี้จึงกลับมามีชีวิตชีวา เสมือนหนึ่งเวลาที่ผ่านไปกว่า 60 ปี ยุคของหนังขายยากำลังรุ่งเรืองได้ย้อนอดีตกลับมาให้ผู้คนได้รำลึกถึงอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลและเอื้อเฟื้อการถ่ายภาพ : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)