พอจะเข้าใจถึงเหตุผลที่เชฟโรเลตลงทุน ถึงกับพัฒนาต้นแบบรุ่นใหม่มาเข้าร่วมจัดแสดงในงานนี้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งเหตุผลหลักก็คงหนีไม่พ้นการเข้ามาเปิดตลาดของแบรนด์รถยนต์นี้ในเกาหลีใต้ โดยเมื่อต้นปีนี้ทางจีเอ็ม หรือเจนเนอรัล มอเตอร์ส บริษัทแม่ของเชฟโรเลต ประกาศใช้ชื่อเชฟโรเลตในการทำตลาดรถยนต์เกาหลีใต้แทนที่แดวู พร้อมๆ กับการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก GM DAT มาเป็น GM Korea
และตรงนี้น่าจะถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดในการทำตลาดอย่างเป็นทางการของชื่อแดวูเลยก็ว่าได้
จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่านับจากปี 2004 เป็นต้นมาซึ่งจีเอ็มเข้าซื้อหุ้นของแดวูและเปลี่ยนชื่อมาเป็น GM DAT ทางจีเอ็มก็ใช้โนว์ฮาวของแบรนด์รถยนต์นี้มาต่อยอดในการพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กเพื่อส่งขายในตลาดทั่วโลกโดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อเชฟโรเลตในการทำตลาด ขณะที่ในเกาหลีใต้ก็ยังใช้ชื่อแดวูต่อไป...จนกระทั่งถึงต้นปี 2011
การเปิดตัวต้นแบบในงานโซล มอเตอร์โชว์ปีนี้จึงถือเป็นการเปิดตลาดอย่างเป็นทางการให้กับชื่อเชฟโรเลตในแดนโสมขาวเลยก็ว่าได้
มาที่เรื่องของต้นแบบใหม่แกะกล่องรุ่นนี้ ตัวรถถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยเน้นความสวยและเร้าใจในแบบโรดสเตอร์สุดล้ำ เป็นการออกแบบเป็นหน้าที่ของแผนก Advanced Design Studio ของ GM Korea โดยที่ชื่อรุ่นเป็นการนำคำในภาษาเกาหลีมาตั้งเพื่อสื่อให้เห็นเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินงานของ GM Korea โดย Mi-Ray ในภาษาเกาหลีมีความหมายเดียวกับคำว่า Future หรืออนาคตในภาษาอังกฤษ
Mi-Ray เป็นต้นแบบที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยการผสมผสานระหว่างความสำเร็จในอดีตให้เข้ากับความล้ำสมัยเพื่อสื่อให้เห็นถึงการเป็นรถยนต์ในยุคหน้าได้อย่างชัดเจน โดยงานออกแบบภายนอกเป็นการนำรูปลักษณ์ของรถยนต์สุดคลาสสิคจากค่ายเชฟโรเลตอย่างรุ่น มอนซ่า SS ที่เปิดตัวในปี 1963 และคอร์แวร์ ซูเปอร์ สปายเดอร์ รุ่นปี 1962 ให้เข้ากันอย่างลงตัว
ตัวรถมาในสไตล์โรดสเตอร์ 2 ที่นั่งพร้อมประตูเปิดเฉียงขึ้นในลักษณะที่เรียกว่า Scissor Door ซึ่งทางวิศวกรนำวุสดุที่เน้นความเบาอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ และอะลูมิเนียมมาใช้ในการผลิตโครงสร้างและชิ้นส่วนตัวถังร่วมกัน เพื่อเน้นความเบา ขณะที่เลย์เอาท์ของตัวรถมาในแบบเครื่องยนต์ 2 ระบบวางกลางลำและทางด้านหน้า
หน้าที่หลักของการขับเคลื่อนตัวถังขนาด 3.99 เมตรและระยะฐานล้อ 2.375 เมตรเป็นงานของเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ 1,500 ซีซี ส่วนที่บนเพลาหน้าจะมีมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15 กิโลวัตต์ 2 ตัวรับหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อน หรือสามารถเปลี่ยนเป็นการขับเคลื่อนล้อหน้าในรูปแบบ EV ชั่วคราวได้ โดยมอเตอร์ชุดนี้จะรับกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนที่ติดตั้งอยู่ด้านหลังของเบาะนั่ง โดยมีเกียร์แบบคลัตช์คู่ DCT รับหน้าที่ในการถ่ายทอดกำลัง
ในเรื่องของสมรรถนะตัวรถ ยังไม่ได้มีการเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าอยากจะทราบถึงความสามารถในการบริโภคน้ำมันแล้ว เชฟโรเลตบอกว่าประหยัดอย่างมาก ถ้าขับในเมือง Mi-Ray จะมีตัวเลขอยู่ในระดับ 25.5 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนนอกเมืองจะอยู่ที่ 26.8 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งส่วนหนึ่งนอกจากน้ำหนักตัวที่เบาแล้ว ระบบการขับเคลื่อนที่มีการผสมผสานระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์สันดาป ภายในบล็อกเล็กยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนโดยที่กินน้ำมันน้อยลงได้ด้วย
มาถึงบรรทัดสุดท้าย หลายคนอาจจะอยากทราบถึงโอกาสในการขึ้นไลน์ผลิตในอนาคต ตรงนี้ทางเชฟโรเลตไม่ได้ระบุ แต่สื่อส่วนใหญ่ในอินเตอร์เนตต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เส้นสายและรูปแบบของงานออกแบบที่ใช้อยู่ใน Mi-Ray อาจจะถูกนำมาต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์รูปลักษณ์ใหม่ของคอร์เว็ตต์ใหม่ในรหัส C7 ที่มีคิวเปิดตัวในปีหน้า....อยากรู้ว่าจะเหมือนแค่ไหน อดใจรอกันได้อีกไม่นาน