ถ้าให้ลองไล่ชื่อรุ่นรถยนต์ที่เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์โฟล์คสวาเกนแล้ว นอกจากบีเทิล หรือโฟล์คเต่า และกอล์ฟแล้ว T1 หรือ Transporter 1 ถือเป็นรถยนต์อีกรุ่นที่เข้าข่ายสุดคลาสสิกของค่ายนี้ และได้รับความนิยมอย่างมากในยุคบุปฝาชนเบ่งบาน จนเรียกว่าน่าจะเป็นตัวแทนของคนในยุคทศวรรษที่ 1950 เลยก็ได้
รถตู้รุ่นนี้ทำตลาดเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้วโดยเป็นผลผลิตที่เกิดจากไอเดียของ Ben Pon ตัวแทนจำหน่ายของโฟล์คฯ ในฮอลแลนด์ ซึ่งเขาได้ร่างภาพรถตู้ขึ้นมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 1947 และเกิดถูกอกถูกใจคนของโฟล์คฯ จนนำไปสู่การถ่ายทอดภาพร่างให้กลายมาเป็นความจริง
T1 ได้รับความนิยมอย่างมากก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยรุ่นใหม่ แต่ด้วยความคลาสสิกของรูปทรง ทำให้หลายคนยังฟื้นฟูและบูรณะนำกลับมาใช้กันเหมือนอย่างที่โฟล์คเต่าได้รับความนิยม และนั่นได้นำไปสู่ไอเดียในการคืนชีพโปรเจกต์รถตู้รุ่นนี้ผ่านทางต้นแบบที่เรียกว่า Microbus ในปี 2001
เหตุการณ์ทำท่าว่าจะเป็นเรื่อง ‘ฝันที่เป็นจริง’ เพราะในตอนนั้นกระแส Retro มาแรงมาก และโฟล์คฯ ก็เพิ่งปัดฝุ่นนำบีเทิลกลับมาสู่ตลาดอีกครั้งในชื่อนิวบีเทิล แต่จนแล้วจนรอด Microbus Concept ก็เป็นแค่โครงงานในกระดาษ และไม่ได้โดนสานต่อให้กลายมาเป็นจริง
จนกระทั่ง 10 ปีผ่านไป ในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ 2011 เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โฟล์คฯ ก็ทำให้บรรดาแฟนของ T1 ได้ตื่นตาตื่นใจกันอีกครั้งกับต้นแบบรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า Bulli เพราะเมื่อดูผ่านๆ แบบไม่ต้องเพ่งสเปกแล้ว คนที่ได้เห็นต่างฟันธงได้เลยว่า นี่คือตัวแทนของ T1 แน่ๆ เพราะทุกรายละเอียดของรูปลักษณ์ภายนอกถูกถอดแบบมา เพียงแต่มีการปรับแต่งให้สอดคล้องกับยุคสมัย
แต่ที่ไหนได้ พอได้อ่านสเปกแล้ว หลายคนที่อยากเห็น T1 คืนชีพคงผิดหวังกันเป็นแถวๆ เพราะนี่ไม่ใช่รถตู้ไซส์ใหญ่ในระดับ MPV เหมือนกับที่ T1 เป็น แต่เป็นความอเนกประสงค์ที่ถูกพัฒนาบนพื้นฐานของรถยนต์คอมแพกต์ พร้อมตัวถังที่มีความยาวไม่ถึง 4 เมตร เพื่อความคล่องตัวสำหรับการใช้งานในเมือง
เรียกว่าถอดแบบมาเฉพาะกลิ่นอายของการออกแบบ โดยเฉพาะเส้นตัว V ทางด้านหน้าของตัวรถ ส่วนตัวถังและระดับตลาด (หากมีการขายจริง) เป็นคนละเรื่องกันเลย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ Bulli Concept เป็นมินิแวนแบบ 6 ที่นั่งซึ่งมีขนาดตัวถังเพียง 3.99 เมตร กว้าง 1.75 เมตร และสูง 1.7 เมตรเท่านั้น ไม่ได้ใหญ่ถึงขนาด T1
หน้าที่ในการสร้างสรรค์ความคลาสสิกให้มีความร่วมสมัยเป็นฝีมือของทีมออกแบบโฟล์คฯ ที่มีวอลเตอร์ เดอ ซิลวารับหน้าที่ดูแล โดยอิงเส้นสายและสไตล์การออกแบบของโฟล์คฯ ที่เรียกว่า design DNA พร้อมกับมีการประยุกต์ใช้ให้ตัวรถดูมีความทันสมัยมากขึ้น
ภายในห้องโดยสารนำรูปแบบการวางของเบาะนั่งในรถยนต์อเนกประสงค์รุ่นเก่ามาใช้ โดยเบาะหน้าจะเป็นแบบแถวยาว นั่งได้ 3 คน ขณะที่ด้านหลังเป็นเบาะนั่งแถวยาวแบบนั่งได้ 3 คนเช่นกัน และด้วยตัวถังที่เน้นความกะทัดรัด ทำให้พื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายอาจจะยังไม่มากพอที่จะโดนใจคนที่ชอบบรรทุกสักเท่าไร เพราะมีความจุอยู่ที่ 370 ลิตร แต่เมื่อพับเบาะนั่งหลังลงมา ความจุจะขยายเป็น 1,600 ลิตรเลยทีเดียว ส่วนใครที่คิดว่าห้องโดยสารจะแคบเมื่อดูจากความยาวของตัวรถ ก็ขอให้เบาใจ เพราะ Bulli Concept มากับระยะฐานล้อที่ยาวถึง 2,600 มิลลิเมตร
ในรุ่นต้นแบบมาพร้อมกับการขับเคลื่อนในรูปแบบไฟฟ้าเพื่อรับกับกระแสความนิยมในรถยนต์ประเภทนี้ที่กำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระบบ EV ที่โฟล์คฯ นำมาใช้เป็นการเชื่อมต่อกันในรูปแบบของการขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบใหม่ที่เรียกว่า E-Motor ขนาด 85 กิโลวัตต์ พร้อมกับแรงบิดสูงสุด 27.5 กก.-ม. ส่วนหน้าที่ในการเก็บกระแสไฟฟ้าเป็นงานของแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนขนาด 40 kWh
สมรรถนะในการขับเคลื่อนถือว่าใช้ได้เลย ถ้ามองในแง่ของการเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แถมยังเป็นรถตู้ ด้วยอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 11.5 วินาที และความเร็วสูงสุดถูกจำกัดเอาไว้ที่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่การชาร์จ 1 ครั้งสามารถแล่นทำระยะทางได้มากถึง 300 กิโลเมตรเลยทีเดียว
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ โฟล์คฯ ยืนยันว่าตัวรถได้รับการปรับให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในได้ โดยเฉพาะเครื่องยนต์แบบ 4 สูบที่มีความจุระดับ 1100-1400 ซีซีแทนที่ระบบไฟฟ้าได้ ซึ่งตรงนี้แหล่ะที่ทำให้ใครหลายคนเริ่มมีความหวังว่าจะมีการผลิตออกขายจริง
อย่างน้อยไม่ได้ขับเวอร์ชันเต็มไซส์เดียวกับ T1 แต่ได้ขับความคลาสสิกแบบย่อส่วนก็ยังดี ก็ได้แต่หวังว่า โปรเจกต์นี้คงจะไม่แท้งเหมือนกับ Microbus Concept