xs
xsm
sm
md
lg

เกรย์ฯถล่มตลาดรถหรู เบนซ์เจอทุบราคา-ชิงรุ่นใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - ตลาดรถหรูดุเดือด! เกรย์มาร์เก็ต หรือผู้นำเข้ารถอิสระ ดาหน้าถล่มกันแบบสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งเกรย์มาร์เก็ตด้วยกัน หรือค่ายรถเจ้าของแบรนด์ก็ตาม โดนหนักสุดเห็นจะเป็น “เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย” ค่ายรถหรูตราดาวสามแฉก ที่ล่าสุดถูกชิงตัดหน้านำเข้า “เมอร์เซเดส ซีแอลเอส 350 ใหม่” ที่วาดหวังจะนำมาเป็นไฮไลต์ในงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2011 ปลายเดือนมีนาคมนี้ แถมยังถูกเกรย์มาร์เก็ตลูบคมกดราคาลงมาให้สู้ลำบากอีก เช่นเดียวกับรถตัวธงตระกูล “อี-คลาส” ถึงจะเป็นรถประกอบในไทย กลับทำราคาสู้เกรย์มาร์เก็ตที่นำเข้ามาทั้งคันไม่ได้ ยิ่งรถนำเข้าสำเร็จรูปด้วยกันแล้ว แพงกว่าเป็นแสนขึ้นไป เท่านั้นไม่พอหากลูกค้าต้องการราคาไหนบอกมา เกรย์มาร์เก็ตพร้อมถอดออปชั่นจัดราคาให้ตามต้องการ ขณะที่ค่ายรถหรูยี่ห้ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “โฟล์คสวาเกน” หรือ “ออดี้” ต่างเจอดีไม่แพ้กัน เจ็บปวดสุดเห็นจะเป็น “ปอร์เช่ คาเยนน์ ไฮบริด” ที่โดนผู้นำเข้าดั๊มราคาต่ำกว่าถึง 2 ล้านบาท งานนี้ล้วนร้องโอดโอยกันเป็นแถว ภายใต้คำถามคาใจของทุกฝ่าย เกรย์มาร์เก็ตสำแดงต้นทุนนำเข้าต่ำ เพื่อเสียภาษีศุลกากรน้อยลง หรือบริษัทรถตั้งราคาสูงเกินจริง?
CLS-Class
สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้า ให้กับบรรดาเจ้าของแบรนด์ หรือผู้ได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทยเป็นอย่างมาก จากการทำตลาดของผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ หรือเกรย์มาร์เก็ต ไม่เพียงมีหน้าใหม่เปิดตัวสู่ตลาดทุกเดือน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์เงินบาทที่แข็งค่าแล้ว การชิงเปิดตัวรถดึงลูกค้าก่อน แม้รถที่มาโชว์จะเป็นพวงมาลัยซ้ายก็ตาม และที่สำคัญราคาขายรถของเกรย์มาร์เก็ตที่เปิดออกมา เรียกว่าใกล้เคียงกับราคาขายของบริษัทรถเจ้าของแบรนด์เลยทีเดียว
 
จนเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมาบรรดาค่ายรถทนไม่ไหว ต้องร้องเรียนผ่านสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้ช่วยจี้กรมศุลกากรตรวจสอบการสำแดงราคาต้นทุนนำเข้ารถยนต์ เพราะมองว่าเกรย์มาร์เก็ตส่วนใหญ่แจ้งราคาซื้อรถต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อจะได้เสียภาษีศุลกากร หรือภาษีนำเข้าต่ำลง และส่งผลให้มีราคาขายต่ำตามไปด้วย ขณะเดียวกันทางฝ่ายเกรย์มาร์เก็ตก็ตั้งคำถามสวนกลับไป บริษัทรถตั้งราคาสูงเกินจริงหรือเปล่า? และที่สุดกรมศุลกากรต้องขอความร่วมมือจากเกรย์มาร์เก็ตให้สำแดงราคาสูงขึ้น 5-10% แต่นั่นดูเหมือนจะไม่สามารถหยุดการบุกตลาดของเกรย์มาร์เก็ตได้ เพราะปี 2554 นี้ สถานการณ์ยิ่งดุเดือดและร้อนแรงกว่าเก่าอีก...

แน่นอนค่ายรถที่โดนหนักสุดย่อมหนีไม่พ้น “เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย” เจ้าของรถตราดาวสามแฉก “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ในฐานะรถยนต์ยอดนิยมของเศรษฐีไทย จึงกลายเป็นเป้าหมายของเกรย์มาร์เก็ตลำดับแรกๆ และยิ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ต้องการรักษาไมตรีกับลูกค้าในไทยไว้ ทำให้ไม่กล้าหักดิบตัดขาดการบริการหลังการขายเหมือนบีเอ็มดับเบิลยู เหตุนี้จึงโดนเกรย์มาร์เก็ตลองของอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส ใหม่ ที่ว่ากันว่าทำให้บรรดาเกรย์มาร์เก็ตเก็บกินยอดขาย จนตัวอ้วนไปตามๆ กันในปีที่ผ่านมา ดีว่าตลาดรถในไทยปีที่แล้วพุ่งแบบติดเทอร์โบ เลยทำให้ยอดขายของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ยังรักษาการเติบโตและยึดตำแหน่งเจ้าของแชมป์ตลาดรถหรูไว้ได้ แต่หากเทียบอัตราการเติบโตของคู่แข่งอย่างบีเอ็มดับเบิลยูแล้ว นับว่าน้อยกว่ามาก และนี่อาจจะเป็นจุดทำให้ดาวร่วงจากฟ้าในอนาคตก็ได้?
นำรถมาให้สื่อมวลชนทดสอบก่อนเจ้าของแบรนด์
ล่าสุดเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยโดนลูบคมอีกครั้ง เมื่อบรรดาเกรย์มาร์เก็ตชิงเปิดตัวสปอร์ตซีดาน “เมอร์เซเดส เบนซ์-ซีแอลเอส” ใหม่ ตัดหน้าแบบเจ็บแสบ เพราะตามแผนเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะนำรถรุ่นนี้มาเป็นไฮไลต์ในงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2011 ปลายเดือนมีนาคมนี้ แต่ปรากฏกว่าเหล่าเกรย์มาร์เก็ตนำรถมาขายแล้ว ที่สำคัญยังเป็นรุ่นพวงมาลัยขวาเสียอีก ไม่ใช่นำรุ่นพวงมาลัยซ้ายมาโชว์เหมือนที่ผ่านๆ มา

โดยเฉพาะค่าย “ทีเอสแอล” (TSL) ที่ถึงกับนำรถมาให้สื่อมวลชนทดสอบ เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกับเปิดราคา “ซีแอลเอส 350 บลูเอฟฟิเชียนซี” (CLS 350 Blue EFFICIENCY) อยู่ที่ 6.89 ล้านบาท จนเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยยังตาค้าง เพราะแว่วว่าหากนำเข้าจะเปิดราคาประมาณ 7 ล้านบาทขึ้นไป แต่มีเกรย์มาร์เก็ตที่ร้ายกว่านั้น เพราะค่าย “บีอาร์จี” (BRG)ที่แม้จะนำรถเข้ามาในสัปดาห์หน้า แต่ตอนนี้ได้ประกาศกดราคา ซีแอลเอส350 ลงไปล่วงหน้าเป็น 6.75 ล้านบาทแล้ว

สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลเอส350 วางเครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ 3,498 ซีซี 306 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิด 370 นิวตันเมตร ที่ 3,500-5,250 รอบต่อนาที ให้ความเร็วสูงสุดประมาณ 248 กม./ชม. มีระบบเกียร์เป็นแบบอัตโนมัติเดินหน้า 7 จังหวะ (7G-TRONIC)

แต่นั่นเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย อาจจะพอทำใจได้ เพราะเป็นรถเฉพาะกลุ่มมียอดขายปีละไม่กี่สิบคัน ที่ทำให้แค้นสุดๆ เห็นจะเป็นตัวธงอย่าง “เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส” โฉมใหม่ ที่บรรดาเกรย์มาร์เก็ตกดราคาลงมา จนแทบจะไม่แตกต่างจากรุ่นประกอบจากโรงงานในไทยเลย เห็นได้จากราคาอี-คลาสใหม่ของบีอาร์จี ในรุ่น อี200 เครื่องยนต์เบนซิน (E200 CGI Avantgarde) เคาะออกมาที่ 3.99 ล้านบาท ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เปิดราคา 3.849 ล้านบาท แถมยังเป็นรุ่น Elegance ซึ่งออปชั่นต่ำกว่ารุ่น Avantgarde ที่สำคัญราคาของบีอาร์จีที่เคาะออกมา ยังสามารถต่อรองลดลงได้อีก 4-5% หรือจะตัดออปชั่นออกให้ได้ราคาตามที่ต้องการก็ได้ ที่สุดราคาของเกรย์มาร์เก็ตกลับถูกกว่าเจ้าของแบรนด์ที่ผลิตรถในไทยเสียอีก
E-Class Coupe
เท่านั้นไม่พอรุ่นไฮไลต์สำคัญ “อี250” (E250)เครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล แม้ราคากลางของเกรย์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์จี หรือทีเอสแอลจะสูงกว่าประมาณ 2-3 แสนบาท เมื่อเทียบกับของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ที่ตั้งราคาอยู่ที่ 4.159 และ 4.199 ล้านบาท แต่นั่นเป็นราคาที่เกรย์มาร์เก็ตเปิดออกมา ยังไม่ใช่ราคาต่อรองลดลงมาได้อีก ซึ่งที่สุดราคาสุดท้ายก็แทบจะไม่แตกต่างจากของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย

ราคาของเกรย์มาร์เก็ตดังกล่าว นั่นเป็นของรายใหญ่ที่มีชื่อเสียง จึงสามารถทำราคาได้ค่อนข้างสูงกว่าทั่วไป แต่หากหันไปมองเกรย์มาร์เก็ตรองลงมา หรือหน้าใหม่ๆ จะเห็นว่าราคาถูกกดลงมาต่ำกว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยเสียอีก อย่างน้องใหม่ที่เพิ่งโดดสู่สังเวียนตลาดรถนำเข้า แต่ไม่ใหม่ในวงการรถมือสอง “เบนซ์ เอ็น.เค.” ที่สยายปีกมาเป็นเกรย์มาร์เก็ตเมื่อกลางปี 2553 ที่ผ่านมา ด้วยการประกาศเป็นผู้ทำตลาดรถนำเข้าเมอร์เซเดส-เบนซ์ 100% และมีออปชั่นที่เหนือกว่าคู่แข่ง

การเป็นน้องใหม่ของเบนซ์ เอ็น.เค. เพื่อให้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคจึงค่อนข้างออกตัวแรง โดยกดราคารุ่นอี200 รุ่นท็อป Avantgarde ลงมาเหลือเพียง 3.68 ล้านบาท แต่ที่แรงกว่านั่นเห็นจะเป็นค่าย “สไปเดอร์ ออโต้ อิมพอร์ต” ที่ลงโฆษณาทางหน้าสือพิมพ์กดราคาลงมาเต็มๆ 3.49 ล้านบาท ขณะที่รุ่นอี250 เบนซ์ เอ็น.เค.ให้มาแบบฟูลออปชั่น อย่างเครื่องยนต์ดีเซลชุดแต่งเอเอ็มจี(AMG) มีราคาอยู่ที่ 4.28 ล้านบาทเท่านั้น
ปอร์เช่ คาเยนน์ เอส ไฮบริด
นั่นเป็นราคาที่เทียบกับรถประกอบในประเทศของเมอร์เซเดส-เบนซ์ หากเทียบกับรถนำเข้าจากต่างประเทศด้วยกันแล้ว ยิ่งทำให้สถานการณ์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไยลำบากเข้าไปอีก อย่างรุ่น อี200 คูเป้(E200 Coupe) เครื่องยนต์เบนซิน ค่ายสไปเดอร์ออโต้อิมพอร์ตตั้งราคาเริ่มต้นเพียง 3.69 ล้านบาท เช่นเดียวกับเบนซ์ เอ็น.เค.

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ไม่ได้ทำตลาดในรุ่นนี้ โดยขยับขึ้นไปรุ่นใหญ่กว่า อี250 คูเป้(E250 Coupe)แทน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 4.75 ล้านบาท และรุ่นชุดแต่งเอเอ็มจี 4.999 ล้านบาท แต่ทางเกรย์มาร์เก็ตอย่างค่ายบีอาร์จีเปิดราคาเริ่มต้นเพียง 4.69 ล้านบาท หรือรุ่นชุดแต่งเอเอ็มจียังถูกกว่า 9 พันบาท และต้องไม่ลืมว่านี่เป็นราคาตั้งยังไม่ได้ต่อรองราคาลงมา เช่นเดียวกับค่ายทีเอสแอลที่เปิดราคาเริ่มต้น4.75 ล้านบาทเช่นกัน

ส่วนราคารถเมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่นอื่นๆ ไม่ได้มีสภาพที่ดีแตกต่างกันนัก และใช่ว่าจะมีเฉพาะเมอร์เซเดส-เบนซ์เท่านั้น ยี่ห้ออื่นๆ ต่างก็โดนเกรย์มาร์เก็ตถล่มไม่แพ้กัน ที่เจ็บแสบสุดเห็นจะเป็น “ปอร์เช่” ซึ่งผู้ถือสิทธิจำหน่ายในไทยเป็นค่าย “เอเอเอส ออโต้เซอร์วิส” เรียกว่าเจอดั๊มราคาลงจนพูดไม่ออกร้องไม่ถูก อย่างรุ่นที่กำลังนิยมในปัจจุบัน “ปอร์เช่ คาเยนน์ เอส ไฮบริด” ราคาขายของเอเอเอสอยู่ที่ 7.9 ล้านบาท ขณะที่เกรย์มาร์เก็ตทั่วๆ ไปทำราคากลางอยู่ที่ 7.0 ล้านบาท แต่ที่ทำให้ทุกรายต้องร้องจ๊ากเห็นจะเป็นเจ้าเดิม “สไปเดอร์ ออโต้ อิมพอร์ต” กดราคาถล่มคู่แข่งลงมาเพียง 5.49 ล้านบาท
โฟล์สวาเกน ซีรอคโค
สำหรับค่ายรถหรูกลาง(ในไทย)อย่าง “ออดี้” หรือ “โฟล์กสวาเกน” ใช่ว่าจะไม่โดนเกรย์มาร์เก็ตเล่น อย่างสปอร์ตคูเป้ “ออดี้ ทีที 2.0 เอฟเอสไอ” (Audi TT2.0FSI) บริษัท เยอรมัน มอเตอร์เวอร์ค จำกัด ในฐานะผู้ถือสิทธิ์ขายอย่างเป็นทางการ ทำราคาอยู่ที่ 4.69 ล้านบาท แต่เกรย์มาร์เก็ตกดลงมาใกล้เคียง 4.5 ล้านบาท และต่ำสุดประมาณ 4.19 ล้านบาท

ในส่วนของรถอเนกประสงค์แบบเอสยูวี “ออดี้ คิว5” (Audi Q5) ผู้ถือสิทธิ์เปิดราคา 3.59 ล้านบาท นับว่าค่อนข้างต่ำทีเดียว แต่ยังเจอกับเกรย์มาร์เก็ตอย่าง “เอฟ1 ออโต้ สปอร์ต” ที่กดราคาเริ่มต้นเพียง 3.19 ล้านบาท หรือสูงสุด 3.59 ล้านบาทเท่ากัน และ“โฟล์กสวาเกน” เป็นอีกยี่ห้อที่ค่ายเอฟ1 ออโต้ สปอร์ต เน้นทำตลาดมากที่สุด จะเห็นว่า “โฟล์สวาเกน ซีรอคโค” (Volkswagen Scirocco) ราคาเปิดออกมา 2.25 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ไทยยานยนต์ จำกัด ผู้ถือสิทธิ์แบรนด์โฟล์สวาเกนในไทย เคาะราคาอยู่ที่ 2.46 ล้านบาท

นี่เป็นเพียงบางส่วนของการเขย่าตลาดรถหรูของเกรย์มาร์เก็ตในไทย ทำเอาค่ายรถปั่นป่วนไปตามๆ กัน แน่นอนมองในแง่ดีประโยชน์ย่อมตกกับผู้บริโภค แต่หากถามหาความถูกผิดมาจากใคร? ผู้ที่จะตอบคำถามได้ดีที่สุด น่าจะเป็น... กรมศุลกากร หรือไม่ก็บริษัทรถเอง?!
กำลังโหลดความคิดเห็น