งานนี้ไม่ได้มีแค่การอวดโฉมของรถยนต์แบรนด์ยุโรปเท่านั้น แต่ด้วยความสำคัญของตลาดรถยนต์ยุโรป ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์จากต่างแดนทั้งฝั่งตะวันออกอย่างเอเชีย และฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา หลั่งไหลเข้ามาและส่งรถยนต์ใหม่ๆ เข้าร่วมประชันโฉมด้วย
สำหรับแบรนด์จากอเมริกา ก็ยังยืนพื้นด้วย 3 ผู้ผลิตหลักอย่างจีเอ็มที่ลุยผ่านทางเชฟโรเลต, ฟอร์ดที่ใช้แผนกในยุโรปเป็นตัวยืนในการทำตลาดกลุ่มนี้มานาน และก็ไครสเลอร์ ซึ่งในตอนนี้เปิดแนวรุกผ่านทางความร่วมมือกับเฟียต กรุ๊ป ซึ่งทางแซร์โจ้ มาร์คิออนเน่ ซีอีโอของเฟียตนั่งควบตำแหน่งเดียวกันนี้ในไครสเลอร์ เพื่อบูรณะแบรนด์นี้ให้กลับมาผงาดอีกครั้ง
ส่วนฝั่งเอเชียก็นำทัพโดยแบรนด์จากญี่ปุ่นทั้งโตโยต้ากับการเผยโฉมต้นแบบที่ใกล้เคียงการผลิตจริงของ FT-86 II หรือที่รู้จักกันในอินเตอร์เน็ตด้วยชื่อ Toyobaru เพราะเป็นโปรเจ็กต์ที่ยืมพื้นฐานตัวรถและเครื่องยนต์มาจากซูบารุ ส่วนเล็กซัสมากับ Nurburgring Package ผลิตเพียง 50 คันเพื่อเอาคนรัก LFA ตัวแรงแบบไม่เหมือนใคร
ขณะที่นิสสันและอินฟินิตี้สร้างสีสันด้วยต้นแบบ 2 รุ่น ทางนิสสันมากับสปอร์ตทรงล้ำในชื่อ ESFLOW ขณะที่แบรนด์ระดับหรูในเครือเป็นรุ่น Etherea พร้อมกับการประการสนับสนุนโดยเป็นสปอนเซอร์ทีแข่งเรดบูลส์ ซึ่งเพิ่งคว้าแชมป์โลก F1 ปี 2010 มาครองทั้งในประเภทนักแข่งด้วยฝีมือของเซบาสเตียน เว็ตเทล และทีมผู้ผลิต
ที่อยู่ในความสนใจมากที่สุดคือ มิตซูบิชิ ซึ่ง Global Small Concept เป็นต้นแบบที่จะเข้ามาขายในบ้านเราโดยเป็นรถยนต์ในโครงการ Eco Car และมาสด้าเปิดตัวต้นแบบเอสยูวี Minagi ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ก็น่าจะกลายเป็นตัวแทนของรุ่นทริบิวต์ เพราะทริบิวต์กับฟอร์ด เอสเคปคงแยกจากกันแล้ว เนื่องจากตลาดเอสยูวีกลุ่มนี้ของฟอร์ดจะถูกแทนที่ด้วยรุ่นเวอร์เทร็กที่เข้ามาโชว์ตัวในงานนี้ด้วยเช่นกัน
ฝั่งเกาหลีมากันครบ (ไม่นับรวมแดวูที่ขายอยู่ในตลาดเกาหลีเป็นหลัก) เริ่มกับฮุนไดกับต้นแบบใหม่ในชื่อ Crub ออกแนวเอสยูวีทรงสุดล้ำ พร้อมกับเตรียมเปิดตัว i40 รถยนต์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ทรงแวกอน เช่นเดียวกับการนำเวโลสเตอร์เข้ามาขายในยุโรปหลังเปิดตัวไปแล้วในสหรัฐอเมริกา
เกียเน้นการเจาะตลาดรถยนต์คลาสเล็กจนถึงบี-เซ็กเมนต์กับรุ่นพิแคนโตใหม่ ที่เป็นโมเดลเชนจ์แบบสุดสวย ขณะที่รุ่นริโอก็มีการเพิ่มความสดเพื่อกระตุ้นตลาด ทั้งเวอร์ชันธรรมดา และ ecoDynamics เน้นความประหยัด และปิดท้ายกับซังยองด้วยต้นแบบทรงปิกอัพในชื่อ SUT1