xs
xsm
sm
md
lg

ปอกเปลือกจุดอ่อน-แข็งอุตฯรถไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะแข็งแกร่ง และในปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างมาก จนสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำเร็จ และยังประเมินว่าปี 2554 ยังจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยก็ยังมีจุดอ่อนเช่นกัน และยังต้องเผชิญหน้ากับประเทศคู่แข่ง ที่กำลังเร่งสนับสนุนและส่งเสริมอุตฯ รถยนต์ของตนเอง เพื่อชิงการค้าและลงทุนจากไทย ในสถานการณ์เช่นนี้ไทยจะเป็นอย่างไร? จุดอ่อน-จุดแข็งมีอะไรบ้าง?... และคนที่ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุด “ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย…

สรุปอุตฯ รถไทยและแนวโน้มปี’ 54

ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยประสบความสำเร็จมาก มียอดขายมากกว่า 8.0 แสนคัน ทำสถิติยอดขายรถยนต์ในไทยสูงสุดเท่าที่เคยมีมา และยอดการผลิตรถยนต์ในไทย ที่มีทั้งหมดกว่า 1.645 ล้านคัน สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในไทยเช่นกัน โดยปัจจัยสำคัญมาจากตลาดในประเทศ ที่ผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมด เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวมาก และพืชผลเกษตรราคาดี

สำหรับในปี 2554 นี้ แนวโน้มเศรษฐิจยังคงจะขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับพืชผลเกษตรราคา และมีรถยนต์รุ่นใหม่เปิดตัวปีนี้หลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นอีซูซุ ฟอร์ด มาสด้า หรือฮอนด้า ขณะที่การส่งออกก็มีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประมาณการผลิตรถนต์ในไทยปีนี้อยู่ที่ 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 9.42% โดยแบ่งเป็นการส่งออก 1 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 11.73% และผลิตจำหน่ายในประเทศ 8 แสนคัน เพิ่มขึ้น 6.67 %

ปัจจัยที่ยังเป็นกังวลจะส่งผลกระทบ

มีราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีพลังงานทางเลือกหลากหลาย อย่างก๊าซธรรมชาติ หรือซีเอ็นจี(CNG) และรถยนต์ประหยัดพลังงานมากขึ้น ในส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มส่งผลเช่นกัน แต่น่าจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น ส่วนการเมืองหากไม่วุ่นวายมากนักก็คงไม่มีผลเท่าไหร่ และปีนี้จะมีเลือกตั้งน่าจะทำให้ปิกอัพขายดี ดังนั้นปัจจัยลบจริงๆ ยังไม่มีเห็นชัดเจนนัก ที่สำคัญพืชผลเกษตรราคาดีมาก ตรงนี้จะทำให้ตลาดรถยนตไทยเติบโต

จุดแข็ง-จุดอ่อนของอุตฯรถในไทย

ไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์มานาน จึงมีความพร้อมในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและแรงงาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนต่างๆ และไทยยังเป็นฐานการผลิตของบริษัทรถยนต์จากทั่วโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยยังมีจุดอ่อนอยู่เช่นกัน ที่ชัดเจนอันดับแรกเป็นปัญหาแรงงานที่ยังขาดแคลนอยู่ และหากอุตสาหกรรมรถยนต์เติบโตมากจะยิ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะแรงงานฝีมือค่อนข้างขาดแคลนมากทีเดียว ต่อมาการไม่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำของตนเอง จะทำให้ไทยแข่งขันยาก อย่างเรื่องเหล็กที่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรมรถยนต์ หากไทยไม่มีโรงถลุงเหล็กเอง แม้จะมีเหล็กก็ไม่สามารถสู้กับประเทศอื่นได้ และสุดท้ายเป็นเรื่องเครื่องจักรเทคโนโลยีสูง ซึ่งปัจจุบันไทยยังทำเองไม่ได้ ต้องนำเข้ามาจะทำให้ต้นทุนสูง

จะแก้ปัญหาจุดอ่อนเหล่านี้อย่างไร

จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลต้องเข้าใจถึงปัญหา และมองให้ไกลๆ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเข้าไปช่วยเหลือผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ผลิตเครื่องจักร รวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์สนับสนุนกัน ตลอดจนการสนับสนุนภาษีในการนำเข้ามาก่อน เพื่อให้ผู้ผลิตเหล่านี้ได้ศึกษาและพัฒนาต่อไป เช่นเดียวกับประเทศจีนสมัยก่อน ที่ทำไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่อาศัยเลียนแบบ ศึกษา และพัฒนา (Copy and Development) ที่สุดเขาก็สามารถทำเองได้

แล้วบทบาทสนับสนุนของกลุ่มอุตฯ

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ฯ จะผลักดันให้เกิดการรวมของกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งที่อยู่ในคลัสเตอร์เดียวกันและข้างเคียง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้า ลงทุน และพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยได้เริ่มไปแล้วกับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน และจะขยายไปยังกลุ่มวัตถุดิบ รวมถึงกลุ่มเครื่องจักร ตลอดจนถึงการจับมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่น หรือบริษัทข้ามชาติ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในไทย นอกจากนี้จะสร้างและพัฒนาบุคลากรให้ได้มาตรฐานคุณภาพชีวิต และยกระดับฝีมือไปด้วย

ส่วนบทบาทอื่นๆ จะเป็นศูนย์รวมในการเผยแพร่ข้อมูลและสร้างภาพลักษณ์ของกลุ่ม ตลอดจนติดตามสถานการณ์และนโยบายของภาครัฐ เพื่อสังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมยานยนต์ และประชาชนทั่วไป

สิ่งที่ต้องการจะให้รัฐบาลดำเนินการ

ผู้ประกอบการบอกรัฐบาลอยู่เสมอว่า การดำเนินงานอะไรจะต้องมีกรอบแผนที่วางไว้ชัดเจน และไม่เปลี่ยนแปลงในนโยบายหลัก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องดำเนินการตามนั้น อย่างเรื่องนโยบายพลังงานทดแทนจะต้องทำไว้ล่วงหน้าระยะยาว 15 ปี แยกให้ชัดวัตถุดิบควรจะใช้เป็นอาหารและพลังงานเท่าไหร่ เพื่อเกิดการจัดสรรที่ถูกต้องและไม่ส่งผลกระทบต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ทั้งนี้สิ่งสำคัญรัฐบาลไม่ควรจะออกกฎหรือเงื่อนไขต่างๆ แบบทันทีทันใด และต้องทำอะไรในความเป็นจริง อย่างเงื่อนไขของอีโคคาร์ที่จะต้องผ่านมาตรฐานยูโร 4 ในขณะที่น้ำมันในไทยยังไม่มีใช้เลย เมื่อผู้ผลิตทำออกมาก็สูญเปล่า และภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นก็ไปตกกับผู้บริโภคแทน ดังนั้นการจะออกเงื่อนไขอะไรมา จึงควรจะมีระยะเวลาเหมาะสมกับความเป็นจริงด้วย

โครงสร้างภาษีรถที่รัฐบาลจะปรับแก้

จริงๆ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตปัจจุบันไม่ได้เลวร้ายมากนัก สิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้อง คือ อย่าออกภาษีใหม่มาเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความสับสน หรือซ้ำซ้อนกันไปหมด แต่เมื่อรัฐบาลจะปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ประเด็นที่ผู้ประกอบการเสนอ คือ ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และมีเวลาเตรียมการ แม้รัฐบาลจะบอกว่าให้เวลา 2 ปี ในความเป็นจริงเวลาขนาดนี้ไม่พอหรอก เวลาที่เหมาะสมควรจะ 5 ปีขึ้นไป อย่างในยุโรปหรือญี่ปุ่นเขาให้เวลาผู้ประกอบการ 5-10 ปี สำหรับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ โดยให้ระยะเวลาเตรียมดำเนินการได้ และเมื่อถึงเวลาเขาก็บังคับใช้จริงๆ คุณไม่ทำก็ผิดถูกปรับหรือยกเลิกการสนับสนุน ไม่ต้องมามีข้ออ้างเรื่องระยะเวลาสั้นไปไม่เพียงพอ มาเป็นข้อต่อรองขอเลื่อนบังคับใช้ไปเรื่อย

ตอนนี้อินโดนีเซียกำลังเป็นคู่แข่งไทย

อินโดนีเซียยังเสียเปรียบไทยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายของผู้ผลิตชิ้นส่วน เพราะไทยดำเนินงานมากว่า 40 ปีแล้ว รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมที่เขายังไม่พร้อมเท่าไทย ประกอบกับภูมิประเทศของอินโดนีเซียจะเป็นเกาะ สิ่งเหล่านี้ทำให้เสียเปรียบไทยอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังๆ รัฐบาลอินโดนีเซียให้การส่งเสริมเยอะมาก โดยตอนนี้เขากำลังจะทำโครงการรถราคาประหยัดออกมา ด้วยการใช้โครงการอีโคคาร์ของไทยเป็นต้นแบบ และนำมาปรับปรุงให้เข้ากับสภาวะของเขา ซึ่งคงเป็นพวกมาตรฐานมลภาวะสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ตรงนี้จะทำให้ต้นทุนราคาถูกลง เพื่อเป็นแรงจูงใจดึงบริษัทรถยนต์เข้าไปลงทุนโครงการรถราคาประหยัดในประเทศเขา

ดังนั้นอินโดนีเซียระยะสั้นๆ แม้จะยังสู้ไทยไม่ได้ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่เรื่องเหล่านี้สามารถพัฒนาตามกันทันได้ และยิ่งหากรัฐบาลไทยมีการออกกฎต่างๆ มาเรื่อย และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทย บริษัทรถก็อาจจะเปลี่ยนใจไปลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่อินโดนีเซียแทนก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น