กลุ่มเก๋งขนาดเล็กคึกคักสุดๆ โดยเฉพาะตลาด “อีโคคาร์” ที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเหลืออีกเพียงเดือนกว่าๆ “ฮอนด้า บริโอ” จะออกมาชนกับ “นิสสัน มาร์ช” พิสูจน์กันให้รู้ดำรู้แดงไปเลย ขณะที่ค่ายนิสสันก็เตรียมหนีออกไปอีกสเต็ป เพราะกำลังซุ่มขึ้นไลน์ผลิตอีโคคาร์เวอร์ชัน 4 ประตู เพื่อบุกตลาดไทยภายในปีนี้เช่นกัน แต่ก่อนจะถึงวันนั้น “โปรตอน” ค่ายรถจากมาเลเซียชิงตีกินไปก่อน ส่ง “โปรตอน ซาก้า” (Proton Saga) มาแย่งยอดขายให้รู้สึกรำคาญเล่นๆ
โปรตอน ซาก้า เปิดตัวสู่ตลาดเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2010 และแน่นอนไม่ใช่อีโคคาร์ในความหมายของทางราชการ แต่ในแง่ของตำแหน่งทางการตลาดแล้ว นับว่าเป็นคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน หรือรถยนต์ที่ครอบคลุมระดับราคากว่า 300,000 - 500,000 บาท
แต่ที่โปรตอนขึ้นบัญชีเป็นคู่แข่งหลักจริงๆ แล้ว มีอยู่ด้วยกัน 3 รุ่น คือ นิสสัน มาร์ช, เชฟโรเลต อาวีโอ และฟอร์ด เฟียสต้า(1.4L)…
จริงๆ แล้วโปรตอนชิงเข้าสู่ตลาดนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่เริ่มประเดิมกับ “โปรตอน แซฟวี”(Savvy) ในแบบแฮ็ทช์แบ็ก หรือ 5 ประตู ซึ่งถือว่าชนกับ นิสสัน มาร์ช มากกว่าเสียอีก ดังนั้นการเปิดตัวรุ่นซาก้าจึงน่าจะเป็นการชิงเปิดเกมอีกครั้ง ก่อนที่รุ่น 4 ประตูของนิสสันจะออกมาในปีนี้ และยังเป็นการป่วนกลุ่มรถซับคอมแพกต์อย่าง ฟอร์ด เฟียสต้า หรือเชฟโรเลต อาวีโอได้อีกด้วย
จะว่าไปโปรตอน ซาก้า ถือเป็นเวอร์ชั่น 4 ประตูของรุ่นแซฟวีก็ได้ เพราะใช้โครงสร้างแชสซีส์เดียวกัน แต่ได้มีการขยายฐานล้อให้ยาวขึ้นเป็น 2,465 มม. รวมถึงห้องเครื่องยนต์ที่ได้มีการขยายปรับปรุงใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าได้
ดังนั้นมองภาพรวมๆ ด้วยสายตา ซาก้านับเป็นรถที่ดูใหญ่กว่ามาร์ชมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าภายในจะใหญ่เหมือนข้างนอก ยิ่งหากไปเทียบกับ นิสสัน มาร์ช หรือฟอร์ด เฟียสต้า ที่เทคโนโลยีการออกแบบสมัยใหม่ ดูภายนอกอาจจะเล็ก แต่ห้องโดยสารกว้างขวางทีเดียว เพราะรถสมัยใหม่จะลดขนาดเครื่องยนต์ให้เล็กกะทัดรัดลง ใช้พื้นที่ห้องเครื่องให้พอดีเหมาะสม ไม่ปล่อยโล่งว่างเหมือนรถสมัยก่อน แล้วขยายฐานล้อ หรือห้องโดยสารให้ยาว-กว้างขึ้น
ขณะที่เมื่อมาดูโปรตอน ซาก้า ยังคงมาในแบบรถเจเนอเรชันก่อน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับมาจากค่ายรถญี่ปุ่น ทำให้ภายในห้องโดยสารไม่ได้กว้างขวาง หรือแตกต่างจากคู่แข่งมากนัก เช่นเดียวการออกแบบเส้นสายภายนอก ตั้งแต่เสาหน้ายาวไปจนถึงด้านหลัง โดยสูงโค้งไม่เพรียวเช่นการออกแบบรถรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน ยังดีว่าช่วงหน้าเส้นสายดูร่วมสมัยหน่อย ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า กระจัง และกันชนหน้า
สำหรับวัสดุอุปกรณ์ภายใน คงต้องบอกว่าคุณภาพยังเป็นรองคู่แข่งรถญี่ปุ่นอยู่พอสมควร แต่การประกอบค่อนข้างใช้ได้ หากเทียบกับรถจากจีนยังถือว่าดีกว่า เบาะนั่งเป็นผ้าดูแบนๆ บอบบาง ทำให้หวั่นใจเวลาเดินทางไกลน่าจะแย่แน่ๆ ปรากฎว่าวิ่งเช้ายันบ่ายคล้อยร่วม 400 กิโลเมตร กลับไม่เป็นปัญหาให้คิดถึงมันอีกเลย แม้จะไม่โอบกระชับนั่งสบายมากนัก ซึ่งกับราคาระดับนี้ก็พอใช้ได้
แผงมาตรวัดนำมาจาก โปรตอน แซฟวี แต่ปรับปรับปรุงให้มีโทนสีส้มและลวดลายแตกต่างออกไป เป็นอีกจุดที่รู้สึกร่วมสมัยหน่อย พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน และยังทันสมัยกับปุ่มควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย นอกจากนี้โปรตอนยังพยายามตอบสนองไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ด้วยเครื่องเสียงเล่น MP3 แบบ 1 แผ่น รวมถึงช่อง AUX และ USB ด้วย (รุ่นท็อป : Medium Line)
รับทราบกลุ่มเป้าหมายและคู่แข่ง ตลอดจนสำรวจตรวจตราภายนอกและในแล้ว จึงได้เริ่มลองสมรรถนะการขับขี่บ้าง โดยคันที่ใช้ลองขับเป็นรุ่นท็อป หรือเรียก Medium Line ส่วนจุดหมายปลายทางที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ตามโปรแกรมจะต้องนอนพักคืนหนึ่ง แต่เนื่องจากช่วงนี้มีภารกิจเยอะหน่อย จึงขอไปแบบเช้า-เย็นกลับแทน
ความรู้สึกแรกเมื่อล้อหมุน พวงมาลัยหนักเอาการเลย จะว่าคุ้นเคยกับรถญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ ที่พวงมาลัยค่อนข้างเบา เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งานในเมือง รวมถึงตอบโจทย์ให้คุณผู้หญิงทั้งหลาย แต่เมื่อมาคิดดูแล้วก็ไม่น่าจะใช่ เพราะยังมีรุ่นที่ให้ความรู้สึกกำลังดี ไม่เบาหรือหนักเท่านี้อยู่ 1-2 รุ่น เหตุนี้จึงค่อนข้างเชื่อได้เลยว่าไม่น่าจะถูกใจผู้หญิงแน่นอน และวงเลี้ยงค่อนข้างกว้างกว่าคู่แข่ง ยิ่งทำให้การใช้งานในเมืองด้อยลงไปอีก
อย่างไรก็ตาม ความแม่นของพวงมาลัยค่อนข้างดี ยิ่งเมื่อคุ้นเคยกับน้ำหนักของมัน การขับขี่ฝ่าการจราจรของกรุงเทพฯ ในเช้าวันทำงานจึงไหลลื่นทีเดียว
เครื่องยนต์ CAMPRO แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว ขนาด 1.3 ลิตร ให้กำลัง 95 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 120 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ แม้จะไม่ปรู๊ดปร๊าดแต่ก็ไม่ถึงกับเลวร้ายนัก หากเทียบกับคู่แข่งอาจจะด้อยกว่า นิสสัน มาร์ชบ้าง แต่ใกล้เคียงกับ เชฟโรเลต อาวีโอ(1.4L) ส่วนฟอร์ด เฟียสต้า คงต้องตัดไป เพราะเป็นเกียร์ธรรมดา
จนหลุดเข้าสู่เส้นพระราม 2 ถนนโล่งเริ่มกดคันเร่งได้เต็มที่ ช่วงแรกอาจจะเค้นบางนิดหน่อย แต่เมื่อติดลมบนแล้ววิ่งปร๋อทีเดียว ช่วงตีนปลายของโปรตอน ซาก้า ให้ความรู้สึกถูกใจกว่ารุ่นมาร์ชเล็กน้อย ย่านความเร็วที่ใช้ประมาณ 120-140 กม./ชม. เป็นความเร็วที่มั่นใจได้ รอบเครื่องยนต์ค่อนข้างสูง 4,000 รอบ/นาที และก็มาพร้อมกับเสียงทำงานของเครื่องยนต์ที่ดังมาก แม้จะเปิดเครื่องเสียงกลบ แต่คุณภาพเสียงก็ช่างย้อนยุคเสียอีก
การทดสอบคราวนี้เลยแซวเล่นๆ กับเพื่อนสื่อมวลชนที่ไปคันเดียวกัน… “เรามาทดสอบรถสไตล์เรโทร(Retro) หรือเปล่า?”
สิ่งที่ชอบอีกอย่างในตัวของ โปรตอน ซาก้า เห็นจะเป็นการทำงานของช่วงล่าง และถือเป็นจุดเด่นของรถยนต์โปรตอนแทบทุกรุ่น เพราะได้รับเทคโนโลยีมาจากรถสปอร์ต “โลตัส” ประเทศอังกฤษ โดยซาก้าช่วงล่างเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นระบบทอร์ชันบีม ซึ่งการซับแรงสั่นสะเทือนทำได้ค่อนข้างดี เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงท้ายอาจโยนนิดๆ แต่ยังมั่นใจได้ นี่ก็ต้องให้คะแนนให้เหนือกว่า นิสสัน มาร์ช
ส่วนเบรกแรกๆ ต้องทำความคุ้นเคยเช่นกัน เพราะแป้นเบรกดูจะสูงกว่าคันเร่งผิดปกติ ไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน หรือต่างกันเล็กน้อย ลองถามเพื่อนสื่อมวลชนที่ขับคันอื่นๆ ก็พูดคล้ายกัน และเบรกค่อนข้างตื้น เผลอกระแทกแรงหน่อยหัวทิ่มได้เหมือนกัน โดยระบบเบรกของซาก้าด้านหน้าดิสก์เบรก และหลังเป็นดรัมเบรก ขณะที่อุปกรณ์ความปลอดภัย ต้องบอกว่าโปรตอน ซาก้า ใจถึงทีเดียว โดยในรุ่น Medium line มาพร้อมกับแอร์แบ็กคู่หน้าเลย
สำหรับอัตราสิ้นเปลือง ตั้งแต่เริ่มสตาร์ทมีน้ำมันเต็มถัง และวิ่งจนไฟเตือนขึ้น ระยะทางที่วิ่งไป 370 กิโลเมตร แวะเข้าปั๊มเติมน้ำมันคืนไปเต็มถัง 32 ลิตร เบ็ดเสร็จสิ้นเปลืองอยู่ที่ประมาณ 11.5 กิโลเมตร/ลิตร เห็นแล้วซดเอาการทีเดียว เมื่อเทียบกับรถเล็กกลุ่มเดียวกัน แต่ในเอกสารแนะนำ 1 ในจุดเด่นหลายข้อของ โปรตอน ซาก้า นับเป็นรถที่เหมาะกับการติด LPG แล้วก็เลยได้แต่ยิ้ม
สรุป “โปรตอน ซาก้า” มีให้เลือก 2 รุ่น Base Line และ Medium Line ราคาตั้งแต่ 3.99 - 4.64 แสนบาท นับเป็นราคาที่กำลังอยู่ในเทรนด์ สมรรถนะเหมาะกับขับนอกเมือง หรือบนทางหลวงมากกว่า แถมยังได้อารมณ์ “เรโทร” (Retro) อีก แต่หากคิดให้เข้ากับกระแสย้อนยุค ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ก็นับเป็นรถที่น่าสนใจ!