ข่าวในประเทศ - ค่ายรถแดนกิมจิ “ฮุนได” ได้ปลื้มยอดขายปีเสือพุ่งเท่าตัว ฮึกเหิมเดินหน้ารุกตลาดรถไทยปีกระต่าย ขอกู้หน้าในตลาดเก๋งขนาดกลาง เล็งฟื้นชีพ “ฮุนได โซนาต้า” ที่เคยล้มเหลวมาแล้วอีกรอบ แต่ครั้งนี้ไม่หวังสูงชนกับยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นโดยตรง หันมานำเข้าเป็นแบบรถสำเร็จรูปจากเกาหลี แทนขึ้นไลน์ประกอบในไทยเช่นเดิม ทำให้มีราคาสูงกว่ารถระดับเดียวกัน จึงวางเป้าหมายเพียงจับฐานลูกค้าเก่า และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ที่เบื่อรถในตลาดปัจจุบัน ขณะที่เก๋งเล็ก “ฮุนได ไอ10” ที่เงื้อง่าจะนำเข้ามาขายตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังยืนยันแผนที่จะทำตลาดในไทยต่อไป เพียงแต่รอการปรับโฉมใหม่ให้เรียบร้อย และขึ้นไลน์ประกอบในมาเลเซีย เพื่อที่จะสามารถทำราคาแข่งขันได้ แต่หากยังไม่มีข้อสรุป ยังไงก็ต้องเจรจาบริษัทแม่ ฮุนได มอเตอร์ ประเทศเกาหลี สนับสนุนราคาและไฟเขียวให้นำเข้าจากฐานการผลิตอื่น มาขายในช่วงปลายปีนี้ให้ได้ และประกาศพร้อมนำเข้ารถสปอร์ตคูเป้รุ่น Genesis ทำตลาดทันที หากมีการขึ้นไลน์ผลิตรุ่นพวงมาลัยขวา ด้านเครือข่ายและบริการหลังการขาย เตรียมขยายรุกต่างจังหวัดมากขึ้น มั่นใจถึงสิ้นปีจะมีดีลเลอร์เพิ่มเป็น 30 ราย เพื่อรองรับการเข้าถึงและให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่สำคัญจะผลักดันให้ยอดขายปีนี้พุ่งเป็นไม่ต่ำกว่า 4-5 พันคัน
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ของการฟื้นชีพแบรนด์ “ฮุนได” ในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ฮุนได มอเตอร์(ไทยแลนด์) จำกัด ในเครือกลุ่มบริษัทเทรดดิ้งญี่ปุ่นชื่อดัง “โซจิตสึ” (Sojitsu) ซึ่งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จทีเดียว จากยอดขายปีแรกไม่ถึงพันคัน เติบโตต่อเนื่องจนถึง 3,000 คัน ปีที่ 3 หรือปีผ่านมา และคาดว่าปีกระต่าย 2554 นี้ จะยังขยายตัวต่อไปไม่หยุด เพราะนอกจากจะมีรถตัวธง “ฮุนได เอช-1” (Hyundai H-1) ที่ยังจะเป็นตัวหลักแล้ว ฮุนไดยังพยายามเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขยายเครือข่ายและบริการหลังการขาย เพื่อเพิ่มทางเลือกและความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า
ทั้งนี้ฮุนไดมอเตอร์ในประเทศไทย ได้วางเป้าหมายการขายปี 2554 เบื้องต้น ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 4,000 คันเป็นอย่างน้อย หรืออาจจะทะลุ 5,000 คัน หลังจากรถยนต์รุ่นหลัก ฮุนได เอช-1 ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญรถรุ่นใหม่ล่าสุด “ฮุนได แกรนด์ สตาร์เร็ก” (Hyundai Grand Starex) ที่ต่อยอดมาจากรุ่นเอช-1 เพื่อขยายฐานเจาะกลุ่มลูกค้าระดับวีไอพี ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปใน “งานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2010” ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเกินคาด รถที่ขอโควต้าไป 200 คัน ลูกค้าสั่งจองหมดเกลี้ยงภายในงานทันที จนปีนี้ต้องเพิ่มเป้าหมายการขายแกรนด์สตาร์เร็กเป็น 300-400 คันไปแล้ว
โดยในปีนี้ฮุนไดมีแผนที่จะเปิดตัวรถใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเก๋งที่ยังเป็นจุดบอดของฮุนไดในไทย หลังจากล้มเหลวกับ “ฮุนได โซนาต้า” (Hyundai Sonata) อดีตรถธงที่ถูกเลือกให้เข้ามาฟื้นชีพในตลาดรถไทย จนถึงกับจ้างบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ขึ้นไลน์ประกอบเลยทีเดียว แต่สุดท้ายก็แทบล้มทั้งยืน และยกเลิกการประกอบในไทยไปเมื่อต้นปี 2553 ที่ผ่านมา แต่ยังดีที่ฮุนไดค้นพบช่องว่างทางการตลาด นำเข้ารถตู้อเนกประสงค์ฮุนได เอช-1 มากู้ชีวิตรอบสองได้ทันเวลาเสียก่อน และทำให้ฮุนไดในประเทศไทยกลับมายืนมั่นคงมากขึ้นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ฮุนไดในไทยยังเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์ตนเอง ว่าไม่ด้อยกว่ารถในระดับเดียวกัน ล่าสุดจึงได้เล็งฟื้นชีพ “ฮุนได โซนาต้า” คืนสังเวียนตลาดเก๋งขนาดกลาง(D-Segment) ในไทยอีกรอบ แต่ได้มีการปรับกลยุทธ์ใหม่ เพราะประเมินแล้วว่ายังไม่สามารถสู้กับคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า คัมรี ที่มีทั้งเครื่องยนต์ธรรมดา และเครื่องยนต์ผสมหรือไฮบริด, ฮอนด้า แอคคอร์ด และนิสสัน เทียน่า ซึ่งล้วนยังมีความแข็งแกร่งในตลาดอยู่มาก
ดังนั้นการบุกตลาดเก๋งขนาดกลางของ ฮุนได โซนาต้าครั้งนี้ จึงต้องการเพียงเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้า หรือตอบสนองผู้ที่ต้องการทางเลือกใหม่ๆ ที่ไม่ใช่รถยนต์จากญี่ปุ่น รวมถึงลูกค้าเก่าที่ยังชื่นชอบ ฮุนได โซนาต้าอยู่ เหตุนี้จึงไม่ได้ขึ้นไลน์ประกอบในไทยเหมือนเดิม แต่เลือกนำเข้ารถสำเร็จรูปจากเกาหลีใต้มาทำตลาดแทน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทแม่ที่เกาหลีใต้ แต่คาดว่าจะเปิดตัวได้ช่วงเดือนมีนาคม หรือเป็นทางการในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2011
สำหรับฮุนได โซนาต้า ที่จะนำเข้ามาทำตลาด เป็นโมเดลใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวสู่ตลาดโลกเมื่อปีที่ผ่านมา หรือเจนเนอเรชั่นที่ 6 (รหัสตัวถัง YF) ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบยุคใหม่ของฮุนได จึงมีความโฉบเฉี่ยวสวยงามไม่แพ้ยี่ห้อไหนๆ ในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จาก “ฮุนได ทูซอน” (Hyundai Tucson) ที่เปิดตัวขายในไทยเมื่อต้นปี 2553 ที่ผ่านมา จึงไม่แปลกที่เส้นสายของโซนาต้าใหม่จะมีความคล้ายคลึงกัน
โซนาต้าใหม่ในตลาดโลก มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 บล็อก เป็นเครื่องยนต์ Theta-II บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVVT ทั้งขนาด 2.0 ลิตร 165 แรงม้า ที่วางอยู่ในเอสยูวีรุ่นทูซอน โดยจะเน้นทำตลาดเกาหลี และขนาด 2.4 ลิตร 178 แรงม้า ซึ่งเป็นเครื่องยนต์บล็อกหลักส่งออกทั่วโลก (ล่าสุดได้มีการเปิดตัวรุ่น 2.0T ที่เพิ่มขุมกำลังให้กับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เป็น 274 แรงม้า และยังมีรุ่นไฮบริดทำตลาดในสหรัฐอเมริกาด้วย)
โดยในไทยกำลังอยู่ระหว่างเจรจากันอยู่ จึงยังไม่สามารถระบุรายละเอียดชัดได้ แต่จะพยายามนำเข้ามาตอบสนองลูกค้าทั้งสองทางเลือก ขณะที่ราคาคงจะไม่ต่ำเหมือนกับรถประกอบในไทย เพราะเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจากเกาหลี จึงคาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ ฮุนได ทูซอน ประมาณ 1.8-1.9 ล้านบาท
ส่วนเก๋งเล็ก “ฮุนได ไอ10” ที่ทางฮุนไดในไทยเงื้อง่ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่สุดท้ายต้องเลื่อนแผนออกไป ทำให้พลาดโอกาสเกาะกระแสรถเล็กที่กำลังมาแรงไปอย่างน่าเสียดาย โดยเหตุผลที่ต้องชะลอแผนการทำตลาดรุ่นไอ10 เนื่องจากรถรุ่นนี้อยู่ในช่วงปรับโฉมใหม่ และยังไม่ชัดว่าจะขึ้นไลน์ประกอบรุ่นใหม่ในมาเลเซียเมื่อไหร่ เลยทำให้ไทยจำเป็นต้องรอโฉมใหม่ทีเดียว เพื่อที่จะได้มีความสดใหม่สามารถแข่งขันกับรถระดับเดียวกันได้
อย่างไรก็ตาม ฮุนไดในไทยได้มีการเจรจากับบริษัทแม่ เพื่อขอนำฮุนได ไอ10 เข้ามาทำตลาดภายช่วงปลายปีนี้ ไม่ว่าจะขึ้นไลน์ประกอบในมาเลเซียหรือไม่ โดยอาจจะนำเข้าจากประเทศอินเดีย ฐานการผลิตอีกแห่งของฮุนไดในเอเชียแทน หรือจะเป็นนำเข้าจากเกาหลีเลย แม้จะต้องมีภาษีที่นำเข้าที่สูงกว่าในอาเซียน และคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเรื่องราคาจากบริษัทแม่ ฮุนได มอเตอร์ ประเทศเกาหลีไปก่อน จนกว่าจะขึ้นไลน์ผลิตรถรุ่นนี้ในมาเลเซีย
ฮุนได ไอ10 เป็นรถซับคอมแพ็กต์ขนาดเล็ก ซึ่งรูปลักษณ์ของโฉมใหม่ได้รับอิทธิพลจาก ฮุนได ทูซอน อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของกระจังและเปลือกกันชนหน้า ส่วนเครื่องยนต์มีให้เลือกทั้งขนาด 1.0 ลิตร 69 แรงม้า และรุ่น 1.2 ลิตร 85 แรงม้า ที่ไทยต้องการจะนำเข้ามาทำตลาด เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับรถในกลุ่มอีโคคาร์และซับคอมแพ็กต์ได้
นอกจากนี้หากฮุนได มอเตอร์ ขึ้นไลน์ผลิตรถสปอร์ตคูเป้รุ่น Genesis ที่เป็นพวงมาลัยขวาเมื่อไหร่ ไทยก็เตรียมจะนำเข้ามาทำตลาดทันทีเช่นกัน โดยมีให้เลือกทั้งรุ่น 2.0 เทอร์โบ 212 แรงม้า และเครื่องยนต์วี 6 ขนาด 3.8 ลิตร 306 แรงม้า แต่หากจะนำเข้ามาและทำราคาเรียกลูกค้าในไทยได้ คงจะเป็นรุ่น 2.0 เทอร์โบมากกว่า
แน่นอนไม่ใช่เพียงการเพิ่มผลิตภัณฑ์หลากหลายทางเลือกมากขึ้น ฮุนไดในประเทศไทยยังจะเปิดตัวแทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์ ให้ได้ครบ 30 แห่งทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 23 แห่ง โดยโชว์รูมและศูนย์บริการใหม่จะเน้นขยายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงและให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมในจังหวัดหลักๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ในด้านบริการหลังการขายด้วย
จากความพยายามของฮุนไดในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความมั่นมุ่งที่จะสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง และเป็นที่ยอมรับของลูกค้า ทีนี้ก็อยู่ผู้บริโภคชาวไทยแล้ว ว่า... จะตัดสินใจอย่างไร?!