xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนอดีต “ฮุนได” จากก่อสร้างสู่เส้นทางยานยนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใครจะทราบบ้างว่า “ฮุนได-เกีย ออโตโมทีฟ กรุ๊ป” ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของเกาหลี แต่พวกเขาคือ ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ5 ของโลก (เมื่อนับตามจำนวนคันตามตัวเลขล่าสุดประจำปี 2008) และเป็นหนึ่งในบิ๊กโฟร์ ค่ายผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของเอเชีย (โตโยต้า, ฮอนด้าและนิสสัน)
 “ชุง จู ยุง” (Chung Ju-Yung)
โดยในปี 2008 ฮุนได-เกีย มียอดผลิตรถทุกชนิดรวมกันทั้งสิ้น 4,172,461 คัน (ฮุนได2,777,137 คัน และ เกีย 1,395,324 คัน) มีพนักงานรวมกันทั่วโลกประมาณ 75,000 คน มีตัวแทนขายกระจายอยู่ทั้งสิ้น 193 ประเทศ ซึ่งทั้งหมดเริ่มจากเมื่อปี 1947 เมื่อ “ชุง จู ยุง” (Chung Ju-Yung) ก่อตั้งบริษัท ฮุนได เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ขึ้นโดยจุดมุ่งหมายเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

ซึ่งบริษัทก็ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการเป็นอย่างดี จนกระทั่งในปี 1967 ชุง มีความคิดขยายกิจการมาในด้านยานยนต์ จึงตั้งบริษัท “ฮุนได มอเตอร์” ขึ้น แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีในช่วงเวลานั้นที่มองว่าการนำเข้ารถดีกว่าการประกอบรถในประเทศ
ฮุนได -ฟอร์ด คอร์ตินา
ในช่วงแรก ฮุนได มอเตอร์ ได้รับความร่วมมือจากบริษัทฯ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เป็นอย่างดีทั้งด้านการผลิตและตัวสินค้า โดย “คอร์ตินา” (Cortina) คือรถยนต์คันแรกของฮุนไดที่ปล่อยสู่ตลาดในปี 1968 ด้วย อาศัยพื้นฐานมาจากรถ ฟอร์ด คอร์ตินา ส่วนรถยนต์คันแรกที่ถือเป็นรถเกาหลีจริงๆ (ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนเกาหลี) ได้แก่ ฮุนได “โพนี่” (Pony) โดยออกสู่ตลาดในปี 1975

แม้ โพนี่ จะอาศัยการออกแบบภายนอกของ Giorgio Giugiaro จากสำนักออกแบบรถชื่อดัง ItalDesign แห่งประเทศอิตาลี ส่วนหัวใจยืมมาจากบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ของญี่ปุ่น แต่โดยรวมทั้งหมดต้องถือว่าเป็นฝีมือของคนเกาหลีในการพัฒนา

ฮุนได โพนี่
ทั้งนี้ปีถัดมา ฮุนได ส่งออก โพนี่ ไปทำตลาดยังประเทศ เอคัวดอร์ นับเป็นการส่งออกรถยนต์เพื่อทำตลาดครั้งแรกของรถจากเกาหลี รวมถึงการส่งออกไปขายยังยุโรป กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ และแคนาดาในเวลาต่อมา ซึ่ง โพนี่ ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการทำตลาดในแคนาดา ส่วนในอเมริกาไม่สามารถเข้าไปทำตลาดได้เนื่องจากติดปัญหาไอเสียไม่ผ่านมาตรฐานของสหรัฐ

ในปี 1986 ฮุนไดสามารถส่งรถเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกาสำเร็จ นำทัพโดยรุ่น เอ็กซ์เซล(Excel) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามมียอดขาย 100,000 คันในระยะเวลาเพียง 7 เดือนแรกของการจำหน่าย รวมถึงการถูกเสนอชื่อเข้าไปเป็นผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมแห่งปี ของนิตยสาร ฟอร์จูน อีกด้วย ด้วยจุดเด่นสำคัญความเป็นรถราคาประหยัด ผู้บริโภคสามารถซื้อหาได้ง่ายและมีคุณภาพไม่ด้อยกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกัน
ฮุนได เอ็กซ์เซล
แม้ช่วงเริ่มต้นของการพัฒนารถจะต้องอาศัยความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีจากค่ายผู้ผลิตรายอื่นๆ แต่สุดท้ายเป้าหมายของฮุนได คือการพัฒนารถยนต์ด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง ซึ่งฮุนไดเริ่มทำตั้งแต่ปี 1988 โดยเริ่มต้นจากรุ่น โซนาต้า รถยนต์ขนาดกลาง ที่กลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของโตโยต้า คัมรี่ และฮอนด้า แอคคอร์ด ในปัจจุบัน

ความสำเร็จครั้งใหญ่มีขึ้นเมื่อปี 1991 ฮุนได สามารถพัฒนาเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ รวมถึงระบบส่งกำลังด้วยเทคโนโยลีของตนเองสำเร็จเป็นครั้งแรก และนำมาซึ่งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยลำแข้งของตัวเองในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
 “ชุง มุง กู” (Chung Mong Koo) ซีอีโอ คนปัจจุบันของฮุนได
ปี 1998 ฮุนได เริ่มต้นปรับภาพลักษณ์ขององค์กรใหม่ให้มีความเป็นแบรนด์ระดับโลกมากขึ้น รวมไปถึงการก้าวลงจากตำแหน่งของผู้ก่อตั้ง ชุง จู ยุง และส่งต่อความเป็นผู้นำให้กับทายาทคือ “ชุง มุง กู” (Chung Mong Koo) เมื่อปี 1999

หลังจากนั้น ฮุนได ลงทุนอย่างหนักทั้งด้านคุณภาพ,การผลิต,การออกแบบ และการวิจัยในระยะยาวของผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์ทั้งหมด รวมไปถึงความกล้ารับประกันสินค้านานถึง 10 ปีหรือ 100,000 ไมล์ (160,000 กิโลเมตร) สำหรับรถยนต์ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา

การดำเนินงานด้วยความตั้งใจจริงและความพยายามอย่างไม่ลดละจึงทำให้วันนี้ “ฮุนได” ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก ภายในระยะเวลาเพียง 40 กว่าปีเท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น