กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเป็นประจำทุกปีสำหรับรินสปีด บริษัทสัญชาติสวิสส์ที่ผลิตชุดแต่งและโมดิฟายรถยนต์ ที่เมื่อถึงเวลาของงาน "เจนีวา มอเตอร์โชว์" บริษัทแห่งนี้จะมีการผลิตรถยนต์ต้นแบบออกมาเปิดตัวและจัดแสดงเป็นครั้งแรกของโลกที่งานนี้ ซึ่งในปีนี้ รินสปีดมากับแนวคิดรักษ์โลกตามกระแส ด้วยต้นแบบพลังไฟฟ้าทรงกะทัดรัดสำหรับการใช้งานในเมืองที่ใช้ชื่อว่า UC Concept
สำหรับชื่อ UC มาจากตัวย่อที่ว่า Urban Commuter หรือยานยนต์ขนาดเล็กสำหรับใช้งานเมือง โดยเน้นความคล่องตัวด้วยขนาดที่กะทัดรัด แต่เปี่ยมด้วยความอเนกประสงค์จากการออกแบบภายในห้องโดยสารให้สามารถรองรับกับผู้ขับและผู้โดยสารรวม 2 คนและยังเหลือพื้นที่ในการบรรทุกสัมภาระที่ด้านท้ายในอีกระดับหนึ่ง โดยไอเดียในการออกแบบมาจากไอเดียและวิสัยทัศน์ของ Frank M. Rinderknecht เจ้าของรินสปีด ที่ต้องการเห็นยานยนต์ยุคใหม่เพื่อคนเมือง ซึ่งสามารถตอบโจทย์ในเรื่องปัญหาพลังงานและมลพิษได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น UC Concept ยังเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์สำหรับแฟนๆ ของรินสปีดที่มักจะผลิตรถสปอร์ตต้นแบบ หรือไม่ก็รถยนต์ขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่าซับคอมแพ็กต์เป็นหลัก แต่สำหรับปีนี้ กลับหันมาผลิตต้นแบบที่เป็นซิตี้คาร์ ซึ่งรถยนต์รุ่นนี้มีขนาดความยาวเพียง 2.6 เมตร และมีสไตล์การออกแบบที่ชวนให้นึกถึงซิตี้คาร์รุ่นดังในอดีตอย่างเฟียต ท็อปโปลิโนที่ผลิตขายในช่วงทศวรรษที่ 1930-1950
แน่นอนว่าจุดเด่นของ UC Concept ไม่ได้มีแค่งานออกแบบภายนอกและภายในที่ดูแปลกตาเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและความทันสมัยที่ถูกติดตั้งอยู่ในตัวรถเหมือนกับต้นแบบรุ่นอื่นๆ ของรินสปีด และเทคโนโลยีเหล่านี้ก็มาจากความร่วมมือของพันธมิตรต่างๆ ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น การนำระบบ 3G Internet มาใช้ในตัวรถจากความร่วมมือของ Harman International ขณะที่ VoIP2Car technology สนับสนุนในเรื่องของ IP Telephone ซึ่งทำให้ผู้ขับสามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เนตได้ตลอดเวลา รวมถึงการรับส่งอีเมล การประชุมออนไลน์ในแบบ Video Conference หรือ Video Chat จากในรถได้
สิ่งแปลกใหม่อีกอย่าง คือ ในห้องโดยสารของตัวรถที่ถูกออกแบบชนิดสุดล้ำ และลืมไปได้เลยสำหรับพวงมาลัยแบบที่คุ้นเคย เพราะตัวรถจะบังคับและควบคุมทิศทางผ่านทางจอยสติ๊กแบบที่มีแรงสะท้อนและสั่นสะเทือนตามสภาพพื้นผิวถนนที่ถูกส่งขึ้นมา โดยจอยสติ๊กรุ่นนี้ได้รับการพัฒนาจากบริษัท Rafi ในเยอรมนี และระบบต่างๆมาในรูปแบบ By-Wire ผ่านทางระบบควบคุมที่เรียกว่า Space Drive ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย Paravan ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่ผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้ในรถยนต์เพื่อคนพิการ
อีกทั้งทาง VDO Continental Automotive ผู้ผลิตชุดมาตรวัดและแผงหน้าปัดชั้นนำของโลกยังออกแบบแผงมาตรวัดและระบบตรวจจัดระดับกระแสไฟฟ้าสำหรับ UC Concept โดยที่ Carl F. Bucherer ผู้ผลิตนาฬิการะดับพรีเมียมของสวิตเซอร์แลนด์รับหน้าที่ออกแบบนาฬิการุ่นพิเศษมาติดตั้งบนชุดมาตรวัดนี้ด้วย ขณะที่ฝาครอบตรงช่องชาร์จกระแสไฟฟ้าที่เรียกว่า Crystal Tank Lid ออกแบบโดย Swarovski ซึ่งตัวคริสตัลนี้สามารถเรืองแสงออกมาได้ 3 ระดับ คือ แดง-ไม่มีกระแสไฟฟ้า, ส้ม-มีเพียงครึ่งเดียว และเขียว-เต็มแบตเตอรี่
ในส่วนของการขับเคลื่อนเป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีแรงบิด 13.4 กก.-ม. สามารถทำความเร็วสูงสุดในระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และแล่นทำระยะทางได้ 105 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งเกินพอสำหรับการใช้งานตามเมืองใหญ่ในยุโรป และถ้าใครไม่แน่ใจ ทางรินสปีด และ Esoro ผู้ผลิตรถยนต์ต้นแบบรุ่นนี้ให้เป็นคันจริง ก็นำออกทดสอบตามเมืองใหญ่ในยุโรป และพบว่า 82% ในการทดสอบ UC Concept สามารถแล่นทำระยะทางโดยรวมไม่น้อยกว่า 60 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้งพบว่า
ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกใช้ยางแบบ Green Tireก รุ่น P7 Cinturato ของพิเรลลี่ ซึ่งมีขนาด 195/40R17 จับคู่กับล้อแม็ก 17 นิ้วขนาดเบาของ AEZ ซึ่งมีน้ำหนักต่อวงเพียง 6.2 กิโลเมตร รวมถึงแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนจาก Li-Tec-Battery ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Evonik กับเดมเลอร์ เอจี
และนี่คืออีกไอเดียที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นคันจริงเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของการเดินทางในยุคหน้าสำหรับคนเมือง