xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นอุตฯยานยนต์ปี 2009

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

1.การล่มสลายของไครสเลอร์และจีเอ็ม

กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สุดในรอบปีนี้ไปเลยสำหรับการล่มสลายของ 2 บริษัทรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาอย่างไครสเลอร์ และจีเอ็มหรือเจนเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งต้องประกาศยื่นขอพิทักษ์สินทรัพย์ตามมาตรา 11 หรือ Chapter 11 แก่ศาลล้มละลาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการหนี้สินที่มีอยู่และการก่อตั้งบริษัทใหม่

ไครสเลอร์เป็นรายแรกที่ประสบปัญหา โดยไม่สามารถประคองกิจการฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจการที่รุมเร้าไปได้ และหาทางออกให้กับตัวเองด้วยการยื่นขอล้มละลายตามมาตรฐานที่ 11 เพราะไม่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ได้ในเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ไครสเลอร์ก่อตั้งบริษัทในปี 1925 และจากนั้นในปี 1998 ก็ได้ตกลงร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับทางเดมเลอร์ เอจีของเยอรมนีโดยใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่าเดมเลอร์ไครสเลอร์ ก่อนที่ทางเดมเลอร์ เอจีจะขายหุ้นจำนวนกว่า 80% ที่ถืออยู่ในไครสเลอร์ออกไปให้กับทางเซอร์เบอรุส แคปิตอล แมนเนจเมนท์ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2007 และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นไครสเลอร์ แอลแอลซีในเวลาต่อมา

ก่อนที่จะมีการตัดสินใจยื่นขอเข้าสู่สภาวะล้มละลายต่อศาลแมนฮัตตันตามมาตราที่ 11 นั้น ทางไครสเลอร์ได้พยายามเจรจาตกลงกับทางเจ้าหนี้อยู่หลายสัปดาห์เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในการประคองบริษัทให้รอดพ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จจนนำไปสู่การตัดสินใจที่จะดำเนินงานตามขั้นตอนนี้ในที่สุด พร้อมกับประกาศจับมือกับพันธมิตรใหม่อย่างเฟียตอย่างเป็นทางการ

สำหรับข้อตกลงกับทางพันธมิตรใหม่อย่างเฟียตนั้น จากการร่วมมือกันของทั้ง 2 บริษัทจะทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก และทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะให้เงินกู้ช่วยเหลือกับการทำงานของคู่ใหม่ปลามันคู่นี้เป็นจำนวน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 210,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนการฟื้นฟูกิจการให้กับทางไครสเลอร์

ในขั้นต้นหุ้นของทางไครสเลอร์จะถูกแบ่งให้กับเฟียตโดยที่ไม่ต้องมีการเสียเงินเลยถึง 20% และจะเพิ่มเป็น 35% ในกรณีที่เฟียตเข้ามาทำการลงทุนในสหรัฐอเมริกา และส่งมอบเทคโนโลยีผลิตรถยนต์ขนาดเล็กให้กับทางไครสเลอร์ โดยตามสัญญานี้เฟียตสามารถถือหุ้นได้สูงสุดถึง 51% หลังจากที่ไครสเลอร์สามารถจ่านเงินกู้คืนให้กับกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว

ส่วนหุ้นที่เหลือของไครสเลอร์เชื่อว่าจะถูกแบ่งออกไปให้กับทางทรัสต์ฟันด์ดูแลสุขภาพ หรือ Voluntary Employee Beneficiary Association (VEBA) ที่ดำเนินงานโดยสหภาพแรงงานรถยนต์ (United Auto Workers) ก็จะเข้ามาถือหุ้น 55% ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯและแคนาดาจะเข้าถือหุ้นรวมกัน 10% ด้วย

ขณะที่ทางจีเอ็มก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน และเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 11 เพื่อนำไปสู่กระบวนการขั้นต่อไปในการก่อตั้งบริษัทใหม่ที่มีชื่อว่า General Motor Co. แทนที่ New GM หรือจีเอ็มใหม่ โดยมีกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ขณะที่ผู้บริหารหลักๆ เช่น ฟริตซ์ เฮนเดอร์สัน, เอ็ด เวลเบิร์น และบ็อบ ลุตซ์ซึ่งในตอนแรกประกาศรีไทร์ไปแล้ว ก็ยังนั่งประจำอยู่ในตำแหน่งบริหารเหมือนเดิม

เฮนเดอร์สันประกาศว่าบริษัทใหม่จะมีการแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นใหม่ โดยแบ่งออกเป็น กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาถือหุ้น 60.8 %, กลุ่มกองทุดด้านสุขภาพของสหภาพแรงงานรถยนต์ UAW จำนวน 17.5% รัฐบาลของแคนาดาและเมืองออนตาริโอ จำนวน 11.7% และกลุ่มจีเอ็มเก่าจำนวน 10%

จีเอ็มใหม่จะเดินหน้าทำงานโดยที่มี 4 แบรนด์รถยนต์หลักอยู่ในเครือ คือ เชฟโรเลต, บูอิก, แคดิลแล็ก และจีเอ็มซี ส่วนพอนติแอคจะยกเลิกการทำตลาด และที่เหลือ คือ ฮัมเมอร์, โอเปิล, แซทเทิร์น และซาบ ในตอนแรกจีเอ็มบอกจะถูกขายออกไป แต่ในตอนนี้มีเพียงแค่ฮัมเมอร์เท่านั้นที่มีคนจ่อคิวเทคโอเวอร์ โดยมีการเจรจากันเรียบร้อยแล้ว ขณะที่โอเปิล ทางจีเอ็มจะเก็บเอาไว้ทำตลาดต่อ ส่วนแซทเทิร์นมีวี่แววว่าจะต้องเลิกทำตลาดเหมือนกับพอนติแอค หลังจากที่คู่เจรจา คือ Penske ล้มโต๊ะเจรจา โดยที่ซาบหลังจากที่มีชะตาคล้ายกับแซทเทิร์น แต่สุดท้ายทางสปายเกอร์ตัดใจกลับมาเจรจากันใหม่อีกรอบ และน่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเร็วๆ นี้

2.ประธานใหม่โตโยต้ากับงานที่ท้าทาย

ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ทางโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน หรือ TMC แห่งญี่ปุ่น ประกาศเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานด้วยการส่งอากิโอ โตโยดะเข้ามาแทนที่คัตสึกอากิ วาตานาเบ้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2005 พร้อมกันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงอีกหลายตำแหน่ง
อากิโอ โตโยดะ
สำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยว่า การประกาศนี้มีขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของโตโยต้า และอากิโอ โตโยดะ ซึ่งเป็นหลานชายของคิอิชิโร โตโยดะ ผู้ก่อตั้งบริษัทโตโยต้าเมื่อปี 1937 ได้เข้ารับตำแหน่งประธานคนใหม่ของ TMC ซึ่งประธานใหม่ถอดด้ามวัย 53 ปีพร้อมกับทีมบริหารชุดใหม่ที่ประกอบไปด้วยรองประธานบริหารใหม่ 4 คน และอีกสมาชิกใหม่ของบอร์ดบริหารอีก 8 คนจะเดินหน้าปรับปรุงการบริหารของบริษัท โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการขาดทุนที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 70 ปีของบริษัท

นอกจากนั้น อากิโอ โตโยดะในวันแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา เขายังประกาศว่าจะใช้เวลาเพียง 2 ปีในการพลิกสถานการณ์ของโตโยต้าให้กลับคืนมาสู่สภาพที่มีกำไรให้ได้ โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มปฏิบัติการในการเจาะตลาดรถยนต์อเมริกาเหรือและให้ความสนใจกับการพัฒนารถยนต์สำหรับขายในตลาดเฉพาะกลุ่ม พร้อมกับประกาศลดต้นทุนในการปฏิบัติการลงอีก 30% เพื่อลีกเลี่ยงสภาพของการประสบปัญหาขาดทุนสะสมเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน

ข่าวการผลักดันให้อากิโอ โตโยดะขึ้นเป็นประธานคนใหม่ของ TMC มีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2008 ที่ผ่านมา จากนั้นเมื่อเดือนมกราคม 2009 จึงมีข่าวยืนยันว่าเขาจะได้เป็นประธานคนใหม่อย่างแน่นอน จากนั้นในวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา TMC ก็ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

อากิโอ โตโยดะเกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 1956 ที่เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น และเข้าทำงานกับโตโยต้าเมื่อปี 1984 ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นสมาชิกของบอร์ดบริหารในปี 2000 และเป็นรองประธานบริหารในปี 2005 ในยุคที่วาตานาเบ้เป็นประธานและซีอีโอแทนที่ฟูจิโอ โช ขณะที่การขึ้นดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ของเขา ทำให้วาตานาเบ้ ประธานคนเดิมเข้าไปดำรงตำแหน่งรองประธานแทนที่คัตซึฮิโร นาคากาว่า

3.เมื่อโฟล์คสวาเกนรวมพอร์ชเข้าเป็นสมาชิกในเครือ

เรื่องวุ่นๆ ของในตระกูลพอร์ชซึ่งมีอุตสาหกรรมรถยนต์ในเยอรมนีเป็นเวที และเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการเจรจาเพื่อเทคโอเวอร์กิจการของพอร์ชโดยทางโฟล์คสวาเกน ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่มีความครึกโครมในปีนี้

ที่ว่าเป็นเรื่องตระกูลพอร์ชก็เพราะเฟอร์ดินันด์ เพี๊ยค ซึ่งเป็นบุตรชายของหลุยส์ พอร์ช ลูกสาวของเฟอร์ดินันด์ พอร์ช พยายามอย่างหนักในการดันให้โฟล์คสวาเกน ซึ่งเขาอยู่ในตำแหน่งประธานของโฟล์คสวาเกน กรุ๊ปเข้าเทคโอเวอร์กิจการของพอร์ช

และก่อนหน้าที่จะเกิดข่าวนี้ ก็มีการบีบให้เวนเดอลิน วีเดอคิง (Wendelin Wiedeking) นายใหญ่ของพอร์ชผู้ปลุกปั้นให้แบรนด์รถสปอร์ตจากเมืองสตุ๊ตการ์ทให้กลับมาเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีกำไรอย่างต่อเนื่อง เดินลงจากตำแหน่ง CEO เพราะวีเดอคิงไม่เห็นด้วยกับการรวมกิจการในครั้งนี้

หลังการลงจากตำแหน่ง ทางโฟล์คสวาเกนและพอร์ชได้ร่วมลงนามในสัญญาว่าจะมีการรวมกิจการภายในปี 2011 ซึ่งนั่นจะทำให้พอร์ชกลายเป็นแบรนด์รถยนต์หมายเลข 8 ในเครือโฟล์คสวาเกน ต่อจากออดี้, ลัมบอร์กินี, บูกัตตี้, เบนท์ลีย์, สโกดา, เซียท และโฟล์คสวาเกน

ซึ่งจากการลงนามในเดือนสิงหาคมครั้งนี้ได้นำไปสู่ข้อตกลงในการซื้อหุ้นจำนวน 49.9% ในพอร์ช เอจีของโฟล์คสวาเกนซึ่งมีขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยหุ้นจำนวนนี้มีมูลค่า 3,900 ล้านยูโร หรือ 195,000 ล้านบาท และถือเป็นบันไดขั้นแรกก่อนนำไปสู่การรวมกิจการที่สมบูรณ์แบบในอีก 2 ปีข้างหน้า

4.จีน ขึ้นเบอร์ 1 ตลาดรถยนต์โลก

การล่มสลายของไครสเลอร์ และจีเอ็ม รวมถึงยอดขายรถยนต์ในปี 2009 ที่หดตัวลงเพราะว่าพิษเศรษฐกิจ ทำให้สหรัฐอเมริกาถูกประเทศจีนแซงหน้าขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดรถยนต์ของโลกแล้ว

จะว่าไปแล้วสัญญาณของเรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2009 เมื่อจีนทำยอดขายรถยนต์แซงหน้าสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ส่วนในเดือนที่เหลือของปีนี้ ยอดขายรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นแม้ว่าทางภาครัฐจะคลอดแคมเปญ Cash for Clunkers หรือเอารถเก่ามาเพิ่มมูลค่าเพื่อแลกซื้อรถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในช่วงกลางปี

คาดว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2009 ตัวเลขยอดขายรถยนต์ของจีนจะมีมากกว่า 12.7 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 44% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2008 ขณะที่เมืองลุงแซมจะมียอดขายเพียงแค่ 10.3 ล้านคันเท่านั้นเอง

ตรงนี้หลายสำนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์เคยทำนายว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว J.D. Poer ทำนายเอาไว้ว่ากว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้ก็ต้องรอจนถึงปี 2025 โน่น และทำนายอีกว่าในปีนี้ จีนจะมียอดขายรถยนต์เพียง 9 ล้านคันเท่านั้น สิ่งที่เป็นตัวเร่งให้เหตุการณ์เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่ทำนายเอาไว้ นอกจากจำนวนประชากรของจีนที่มีมากถึง 1,300 ล้านคนและเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตลาดรถยนต์อเมริกันหดตัวอย่างหนักแล้ว ยังอยู่ที่การหั่นภาษีของรัฐบาลจีนเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายซื้อรถยนต์ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี

5.เมอร์เซเดสคัมแบ็คสนามแข่ง F1

อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรงกับอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่เรื่องนี้ก็สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย เพราะในจังหวะที่ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่เจอพิษเศรษฐกิจเล่นงานจนงอม และถนอมกระเป๋าตังค์ของตัวเองด้วยการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะในเรื่องการเข้าร่วมมอเตอร์สปอร์ต แต่ทางด้านค่ายดาว 3 แฉกกลับเดินสวนทางอย่างหน้าตาเฉย

ที่เป็นเช่นนี้เพราะนับจากปลายปี 2008 เป็นต้นมา หลายผู้ผลิตต่างถอนตัวออกจากการแข่งขัน F1 หรือมอเตอร์สปอร์ตรายการอื่น เริ่มจากฮอนด้าใน F1 ตามด้วยซูบารุและซูซูกิในรายการแรลลี่โลก หรือ WRC ก่อนที่บีเอ็มดับเบิลยูจะตามมาฮอนด้ามา รวมถึงโตโยต้า ส่วนเรโนลต์ขายหุ้น 75% ของทีมแข่งให้กับพันธมิตรใหม่จากลักเซมเบิร์ก ทำให้เฟอร์รารี่กลายเป็นทีมโรงงานของผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียวที่ยังเดินหน้าแข่งขันต่อไป

ตรงนี้ถือเป็นการคัมแบ็คสู่การแข่งขันรายการระดับโลกอย่าง F1 ของทีมโรงงาน หลังจากเคยถอนตัวออกไปในปี 1955 พร้อมกับความสำเร็จด้วยฝีมือของฮวน มิเกล ฟานจิโอด้วยตัวแข่ง W196 โดยมีสเตอร์ลิง มอสส์เพื่อนร่วมทีมตามมาเป็นที่ 2 ส่วนในช่วงปี 1993-2009 ก็เป็นการเข้าร่วมในฐานะผู้สนับสนุนเครื่องยนต์ให้กับทีมซอเบอร์ และแม็คลาเรน

แม้จะไม่มีการระบุถึงที่มาที่ไปอย่างชัดเจนของการควักกระเป๋าลงแข่ง แต่การจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้นจำนวน 75.1% ของทีมแชมป์โลกล่าสุดอย่างบรอว์น จีพีมาทำต่อพร้อมกับเปลี่ยนชื่อเพื่อลงแข่งในนามเมอร์เซเดส จีพี ถือเป็นการแยกทางอย่างชัดเจนกับแม็คลาเรน ซึ่งทางเดมเลอร์ บริษัทแม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ถือหุ้นอยู่กว่า 40%

เพราะเดมเลอร์จัดการขายหุ้นส่วนนี้กลับคืน และการร่วมมือในการพัฒนารถสปอร์ตก็สิ้นสุดอยู่แค่ SLR McLaren ซึ่งหมดวาระการผลิตในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยทางแม็คลาเรนก็ไปก่อตั้งบริษัทรถยนต์ใหม่ของตัวเองในชื่อแม็คลาเรน ออโต้โมทิฟขึ้นมาเพื่อลุยตลาดซูเปอร์คาร์ ซึ่งการเบนเข็มสู่ตลาดรถยนต์ของแม็คลาเรนถูกมองว่าเป็นประเด็นหลักของการแตกหักในครั้งนี้ แต่แม้จะขาดกัน ทางเมอร์เซเดสก็ยังจะสนับสนุนเครื่องยนต์ให้กับแม็คลาเรนต่อไปจนครบตามสัญญา ซึ่งจะจบลงในปี 2015

ขณะที่ในทีมใหม่นี้ ทางเดมเลอร์ถือหุ้นอยู่ 45.1% ส่วนกลุ่มเงินทุนจากอาบูดาบี Aabar Investments ถือหุ้นอีก 30% ส่วนที่เหลือเป็นของรอสส์ บรอว์น และนิค ฟรายเจ้าของทีมเดิม พร้อมกับสร้างความฮือฮาระลอกสอง ด้วยการดึงตัวมิชาเอล ชูมัคเกอร์ แชมป์โลก 7 สมัยให้เดินจากเฟอร์รารี่ เพื่อมาคัมแบ็คลงแข่งให้กับทีมนี้ในฐานะที่เป็นทีมจากเยอรมนีเต็มตัว (ส่วนนักแข่งอีกคนคือนิโก้ รอสเบิร์ก แม้ว่าจะเป็นลูกครึ่งฟินแลนด์-เยอรมัน แต่เขาก็ถือสัญชาติเยอรมันตามแม่)
กำลังโหลดความคิดเห็น