xs
xsm
sm
md
lg

"ซูซูกิ สวิฟท์" สนุก สบาย สมเหตุผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเข้ามาบุกตลาดเมืองไทยอย่างเต็มตัวของค่ายรถยนต์ “ซูซูกิ” โดยบริษัทแม่จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข่าวผ่านทางสื่อมวลชนช่วงก่อนหน้างานมอเตอร์ เอ็กซ์โป พร้อมกับการเปิดตัวบริษัท ซูซูกิ ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จำกัด หรือ SAMT เข้ามาดูแลกิจการค้าขายรถยนต์ซูซูกิในเมืองไทย ควบคู่ไปกับ บริษัท ซูซูกิ ออโตโมบิล ประเทศไทย จำกัด หรือ SAT ตัวแทนจำหน่ายในปัจจุบัน

ครั้งนี้บริษัทแม่มาตามโครงการอีโคคาร์ที่ซูซูกิลงทุนกว่า 7,500 ล้านบาท ในการสร้างโรงงานและขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์ตามโครงการอีโคคาร์ ซึ่งตามกำหนดเดิมจะเปิดตัวปีหน้าแต่จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปลายปี 2551 ทำให้ซูซูกิประกาศเลื่อนการเผยโฉมออกไปเป็นปี 2555


ทั้งนี้บริษัท SAMT เข้ามาดูแลรถยนต์ซูซูกิชนิดเต็มรูปแบบในปี 2554 โดยระหว่างการเปลี่ยนถ่ายโอนกิจการ SAT จะยังคงดูแลการขายรถ 3 รุ่นที่ขายอยู่เดิมคือ เอพีวี(APV), วีทารา(Vitara) และแคร์รี่(Carry) ส่วนการบริการหลังการขายและอะไหล่ทาง SAMT ดึงกลับไปดูแลเอง

เรื่องดังกล่าวเป็นการยืนยันความตั้งใจจริงของซูซูกิในการเข้ามาทำตลาดเมืองไทย พร้อมกับการนำรถยนต์รุ่นแรกเข้ามาเปิดตัวเพื่อหวังสร้างชื่อให้แบรนด์รถยนต์ ซูซูกิ กลับมามีสีสันอีกครั้งด้วย “สวิฟท์”(Swift) รถยนต์ขนาดเล็ก อันเป็นทิศทางใหม่ของตลาดรถยนต์ไทยที่หลายค่ายกำลังเร่งปล่อยผลิตภัณฑ์ออกมา

สำหรับซูซูกินั้นชื่อชั้นเรื่องของการพัฒนารถเล็กจัดอยู่ในระดับแนวหน้าของผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่น และ สวิฟท์ ก็คือรถธงที่ซูซูกิภาคภูมิใจ โดยเมื่อครั้งเปิดตัวตลาดโลกเมื่อปี 2005 ซูซูกินำเข้า สวิฟท์มาโชว์ในเมืองไทยในงานมอเตอร์โชว์ปีถัดมาและหากใครจะซื้อก็ขายในราคาราว 1.1 ล้านบาท (ที่ราคาสูงเพราะนำเข้าสำเร็จรูปจากประเทศญี่ปุ่น)


ส่วน สวิฟท์ ที่นำเข้ามาทำตลาดหนนี้เป็นรถยนต์ที่ประกอบมาจากโรงงานของซูซูกิประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้เงื่อนไขอาฟตาที่เสียอากรนำเข้า 0% ดังนั้นจึงสามารถตั้งราคาให้แข่งขันกับรถของค่ายคู่แข่งรายอื่นได้ รวมถึงเป็นการหยั่งกระแสก่อนการเปิดตัวรถเล็กรุ่นใหม่ของซูซูกิ ที่แว่วว่าจะมีให้เห็นก่อนรถจากโครงการอีโคคาร์

อย่างไรก็ตามหลังการเปิดแนะนำตัวสวิฟท์และตั้งราคาขายที่ 5.99 แสนบาทกับ 6.49 แสนบาท(เดิมรุ่นท๊อปทีมงานเสนอจะตั้งราคา 6.67 แสนแต่เพื่อแฟนๆคนไทยของซูซูกิ ผู้บริหารจึงเคาะราคาดังกล่าวแทน) ในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป สวิฟท์สามารถกวาดยอดจองไปทั้งสิ้น 169 คัน รวมกับที่จองนอกงานอีกกว่า 30 คัน กระแสตอบรับสูงเกินกว่าที่คาดไว้อย่างมากจากคำบอกเล่าของผู้บริหารซูซูกิ

เมื่อกระแสของรถเล็กมาแรงเช่นนี้ ทีมงาน “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” จึงไม่พลาดขอทดลองขับ สวิฟท์ แบบทันควันแม้จะมีเวลาเพียงไม่มากสำหรับการทดลองขับหนนี้ เนื่องจากรถเป็นคันเดียวกับที่ให้ลูกค้าทั่วไปลอง จึงมีคิวขอขับอย่างต่อเนื่อง


นัดรับรถที่โชว์รูมและศูนย์บริการตามมาตรฐานอย่างเป็นทางการของ SAMT แห่งแรกและแห่งเดียวในเวลานี้ เมื่อรถพร้อมคนพร้อม สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับทีมงาน สวิฟท์เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ชนิด E10 ได้ทั้งออกเทน 91 และ95 แต่จะเติมE20ไม่ได้ (ทีมงานเติมโซฮอล์95ให้)

สัมผัสแรกหลังเข้ามานั่งหลังพวงมาลัย ความรู้สึกคือ กว้าง ทัศนวิสัยชัดเจนดี วัสดุและชิ้นส่วนต่างๆ ดูดีมีราคา คุณภาพการประกอบไม่ต่างจากรถประกอบในบ้านเรา หันหน้าไปเห็นปุ่มแอร์ นี่คือจุดขายอันดับ 1 ด้วยระบบแอร์อัตโนมัติ (ที่ยังไม่มีในเมืองไทยสำหรับรถไซส์เดียวกันนี้) ปรับไว้ที่ 22 องศา เย็นฉ่ำ

วิทยุรูปทรงสวยทันสมัยรองรับการเล่นMP3 ลูบคลำพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นที่หุ้มหนังคุณภาพดีพร้อมกับมองไปรอบในห้องโดยสาร พื้นที่เหนือศรีษะมีเยอะทำให้รู้สึกโล่ง คอนโซลหน้าดีไซน์ให้วางของจุกจิกได้และทำให้พื้นที่ของห้องโดยสารดูกว้าง ไม่อึดอัด แต่ขัดใจตรงกล่องเก็บของคอนโซลกลางยังดูไม่เรียบร้อยเพราะมีน๊อตยึดเพียง 2 ตัว วางแขนแล้วก็โอนเอนไปมาเหมือนจะหลุดเสียให้ได้

ตัวเบาะนั่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ฟองน้ำนุ่ม นั่งสบาย มีปีกโอบกระชับ และเมื่อปรับให้เข้าที่ตามสรีระ ก็ติดเครื่องด้วยการบิดปุ่มโดยไม่ต้องใช้กุญแจเสียบเนื่องจากเป็นระบบ wave key หรือแบบเดียวกับสมาร์ท เอนทรีของโตโยต้า ให้คุณเปิดรถและสตาร์ทรถได้โดยไม่จำเป็นต้องหยิบกุญแจจากกระเป๋า โดยรวมออปชันที่ให้มาไม่น้อยกว่าคู่แข่งรายใด

ขับออกมาจากโชว์รูมก็เจอกับวิกฤตจราจรบนถนนเพชบุรีตัดใหม่ คันเกียร์แบบขั้นบันไดใช้งานง่าย น้ำหนักของเบรกถูกใจผู้ขับเป็นอย่างมาก ไม่มีอาการหัวทิ่ม สไตล์จะคล้ายกับเบรกของรถยุโรปที่ต้องกดเท้าหนักสักหน่อยสำหรับการหยุดนิ่งสนิท เมื่อหลุดพ้นการจราจรที่เป็นจราจลเข้าสู่ถนนพระราม9 มุ่งหน้าเป้าหมายสนามบินสุวรรณภูมิ คราวนี้ได้ลองกำลังของเครื่อง M15A ขนาด 1.5 ลิตร ที่มีกำลังสูงสุด 100 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 133 นิวตันเมตร พบว่า การตอบสนองช่วงออกตัวถือว่าสมกำลัง แต่จังหวะคิกดาวน์ที่ความเร็วปานกลางราว 40-70 กม./ชม. ยังไม่จี๊ดจ๊าดเท่าคู่แข่งรายอื่นๆ

ส่วนการคิกดาวน์ที่ความเร็วราว 90 กม./ชม. การตอบสนองดีขึ้นและเมื่อความเร็วทะลุถึง 120 กม./ชม. ช่วงความเร็วมากกว่านี้จะขึ้นเร็วมาก หรือที่เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า “ไหลปลาย” โดยเราทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม./ชม. และยังสามารถจะไปเร็วกว่านั้นได้อีกเพียงแต่ถนนและสภาพการจราจรไม่เอื้ออำนวย การเกาะถนนบอกคำเดียวสั้นๆว่า “เยี่ยม” ที่ความเร็ว140-160 กม./ชม. ยังคงอุ่นใจได้เต็ม100% รถไม่มีอาการลอยลมให้รู้สึกแต่อย่างใด

จังหวะเปลี่ยนเลนแซงคล่องแคล่ว ขับสนุก การเข้าโค้ง สวิฟท์ จิกและเกาะไลน์ในโค้งไม่เป็นรองใคร การบังคับควบคุมพวงมาลัยอาจจะไม่คมเท่าคู่แข่งรายอื่น แต่คุณผู้หญิงสามารถใช้งานได้อย่างสบายและเบามือ

ณ ความเร็วคงที่ 90 กม./ชม.สังเกตุเห็นรอบเครื่อง 2200 รอบ อัตราการบริโภคน้ำมันตามการแสดงผลของหน้าจอแบบรีลไทม์ระบุตัวเลข 18.5 กม./ลิตร เสียงลมปะทะเริ่มดังรบกวนที่ย่านความเร็ว 130 กม./ชม.ขึ้นไป ขณะที่การป้องกันเสียงจากรบกวนภายนอก(เช่นเสียงรถบรรทุกวิ่ง)ได้ยินชัดเกินไปหน่อยเหมือนจะเป็นรองคู่แข่งอยู่พอสมควร

ขากลับเซ็ตตัวเลขค่าเฉลี่ยการบริโภคน้ำมันใหม่กับระยะทางวิ่งราว 30 กม.จากสนามบินกลับมาถึงโชว์รูมซูซูกิ ขับแบบปกติ 80-90 กม./ชม. ถนนว่างก็ราว 120 กม./ชม.ระยะทางราว 26 กม. ใช้เวลาเพียง 10 นาทีเห็นจอแสดงตัวเลข 14.1 กม./ลิตร แต่กับระยะทางที่เหลือ 4 กม. ใช้เวลาไปเกือบ 30 นาที รถติดเต็มรูปแบบ เมื่อจอดถึงโชว์รูมมองหน้าจอระบุตัวเลข 12.0 กม./ลิตร

สรุป อยู่กับเจ้าสวิฟท์เป็นระยะทางทั้งสิ้นกว่า 60 กม. เพียงพอจะบอกว่า ใครที่เบื่อเจ้าตลาด ใครที่อยากได้รถเล็กแต่ให้ความรู้สึกกว้าง แถมขับสนุก บนพื้นฐานราคาสมเหตุสมผล ลองหันมามอง “ซูซูกิ สวิฟท์” คุณอาจจะเจอคำตอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น