xs
xsm
sm
md
lg

เยือนแผ่นดินมังกรเลาะขอบไลน์ผลิต "เฌอรี่"Ž

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เฌอรี่(Chery)" แบรนด์รถยนต์น้องใหม่จากแดนมังกร ที่สบโอกาสเข้ามาทำตลาดเมืองไทย ผ่านทางคู่พาร์ทเนอร์ ไทยยานยนต์ และ กลุ่มซีพี ด้วยการจัดตั้งบริษัท ไทย เฌอรี่ ยานยนต์ จำกัด นำรถยนต์เฌอรี่จากประเทศจีนเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายแรกคือ ยอดขาย 3,000 คันต่อปี ดังที่เคยเป็นข่าวตอนเปิดตัวอย่างคึกคักเมื่อช่วงมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา

แต่เพียงแค่เอ่ยว่า สินค้าจากจีน ภาพแรกในใจของผู้บริโภคทุกคนคงหนีไม่พ้นความสงสัยและคลางแคลงด้าน คุณภาพ กับประโยคคำถามคุ้นหูมากมายเช่น จะดีหรือ จะใช้ได้นานไหม เดี๊ยวเดียวก็พัง ยิ่งถ้าเป็นรถยนต์ด้วยแล้ว ข้อสงสัยจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จากความเป็นน้องใหม่ของอุตสาหกรรมนี้
ไลน์ประกอบชิ้นส่วนเครื่องยนต์
ดังนั้นเพื่อคลายข้อสงสัยดังกล่าว ไทย เฌอรี่ ยานยนต์ ร่วมมือกับ เฌอรี่ ประเทศจีน จัดทริปเชิญสื่อมวลชนจากประเทศไทยกว่า 10 ชีวิต เข้าเยี่ยมชม โรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ของเฌอรี่ ในประเทศจีน อย่างเป็นทางการ เพื่อดูต้นกำเนิดและชมเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ครบทุกขั้นตอน โดยเปิดเผยหมดเปลือกทั้งโรงงานและศูนย์วิจัยและพัฒนา

สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของ เฌอรี่ ตั้งอยู่ ณ เมืองหวูหู (Wuhu) มณฑลอันฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2540 ปัจจุบันมีโรงงานทั้งสิ้น 3 แห่ง บนเนื่อที่รวมกว่า 2 ล้านตารางเมตร มีกำลังการผลิตรถยนต์จำนวน 650,000 คันต่อปี กำลังการผลิตเครื่องยนต์ 650,000 เครื่องต่อปี และกำลังการผลิตเกียร์ จำนวน 400,000 ยูนิตต่อปี

โรงงานทั้งหมดของเฌอรี่ จะผลิตรถภายใต้แบรนด์รถยนต์ในเครือทั้งสิ้น 4 แบรนด์ ได้แก่ เฌอรี่, Riich, Rely และ Karry จำนวน 14 รุ่น และผลิตเครื่องยนต์เฌอรี่ แอคเทโก้ (Acteco) ครอบคลุมตั้งแต่ขนาดความจุ 0.8 ลิตร จนถึงสูงสุด 4.0 ลิตร ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องยนต์ของเฌอรี่เองที่จดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว
พนักงานสาวกำลังประกอบเครื่องยนต์
จุดเริ่มต้นของการเยี่ยมชมโรงงานในครั้งนี้ เราเริ่มจากการเข้าไปเยี่ยมชมไลน์การผลิตเครื่องยนต์ แอคเทโก้ ซึ่งใช้เครื่องจักรอันทันสมัยยี่ห้อ Heller ของเยอรมนี เรียกว่าทันทีที่เราเห็นเหมือนกับอยู่ในโรงงานประกอบรถของยุโรป เนื่องจากเครื่องจักรต่างๆ ในไลน์ผลิตมีตราประทับ Made in Germany อยู่แทบทุกชิ้น

นอกจากเครื่องจักรแล้วยังมีแขนหุ่นยนต์ช่วยในการประกอบเครื่องยนต์อีกจำนวนไม่น้อย ส่วนแรงงานคนจะมีประจำอยู่ในจุดที่จำเป็นเช่นการขันน็อตหรือเปิด-ปิดฝาต่างๆ โดยจะมีการใช้มือขันก่อนจะใช้บล็อกลมที่ถูกกำหนดค่าน้ำหนักการหมุนเกลียวเอาไว้ มาหมุนใส่น็อตเข้ากับเครื่องยนต์เพื่อให้น็อตถูกขันด้วยแรงบิดเท่ากันทุกตัว
เครื่องมือวัดกำลังอัดของเครื่องยนต์
ส่วนตัวชิ้นงานของเครื่องยนต์ต้องยอมรับว่า ด้านคุณภาพความสวยงามยังไม่เท่ากับผู้ผลิตชาติอื่นๆ ที่เราคุ้นเคย แต่ในด้านมาตรฐานของกำลัง มีการตรวจสอบด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยจากยุโรปซึ่งจะไม่โกหกเราอย่างแน่นอนหากเครื่องยนต์ตัวนั้นไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่ตั้งเอาไว้

ต่อมาได้เข้าไปเยี่ยมชมในส่วนของการประกอบตัวถัง เครื่องจักรส่วนใหญ่ที่เห็นต่างก็มาจากผู้ผลิตในกลุ่มยุโรปทั้งสิ้น รวมถึงแขนหุ่นยนต์ในไลน์ผลิตที่มองเห็นเพียงส่วนหนึ่งและนับมาได้กว่า 10 ตัว (มูลค่าแขนละกว่า 200,000 ยูโรหรือกว่า 10 ล้านบาท)

จากนั้นเข้าไปชมการพ่นสี ซึ่งต้องบอกว่าทันสมัยไม่แพ้โรงงานประกอบรถยนต์ของเมืองไทย(หรืออาจจะทันสมัยกว่าบางโรงงานอีกด้วย) เครื่องจักรผลิตจากเยอรมนียี่ห้อ Durr ตลอดทั้งไลน์ผลิตพร้อมระบบจุ่มตัวถังลงในสารเคมีป้องกันสนิม ควบคู่กับการใช้หัวพ่นสีแรงดันสูง มีคุณสมบัติช่วยป้องกันสนิมได้นานกว่า 12 ปี (มาตรฐานของจีนกำหนดไว้ 8 ปี)
ไลน์ประกอบตัวถัง
ด้านผลิตภัณฑ์เคมีสำหรับขบวนการเตรียมผิวตัวถังนำเข้ามาจาก Henkel ประเทศเยอมนี ส่วนสีที่ใช้พ่นและเคลือบขั้นตอนสุดท้ายนำเข้ามาจาก Nippon ประเทศญี่ปุ่น, PPG และ Dupont ประเทศสหรัฐอเมริกา และ BASF จากประเทศเยอรมนี ส่วนแวกซ์นำเข้ามาจาก Parker ประเทศญี่ปุ่น

ส่วนสุดท้ายก่อนที่จะเป็นรถยนต์สำเร็จทั้งคัน คือและการตรวจสอบคุณภาพรถในไลน์ผลิต เฌอรี่ใช้บุคลากรราว 3-4 คน ต่อหนึ่งจุดตรวจสอบ เพื่อตรวจสอบคุณภาพตามที่กำหนดก่อนรถจะออกจากไลน์ผลิต

ซึ่งในการตรวจสอบบอกตรงๆ ว่ายังคงเห็นถึงความเร่งรีบ (เนื่องจากไลน์ผลิต รถจะไหลมาตลอดเวลา) หากรถคันใดหมดเวลาตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขในจุดที่ต้องรับผิดชอบรถก็จะเคลื่อนที่ไปยังจุดตรวจสอบอื่นทันที ไม่มีการย้อนหรือทำเครื่องหมายแต่อย่างใด (บางทีอาจจะมีแต่ยังไม่เห็นในช่วงเวลานั้น)
ชิ้นส่วนตัวถังมากมายถูกประกอบตรงนี้
สุดท้ายทีมงานเฌอรี่พาเข้าไปดูศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์เฌอรี่ ซึ่งต้องบอกว่า น่าทึ่งไม่น้อยสำหรับแบรนด์รถยนต์น้องใหม่เพิ่งเกิด แต่มีศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ ที่มีรถต้นแบบจอดเรียงรายอยู่นับสิบคัน(แม้ดูแล้วรูปร่างเหมือนเอาชิ้นส่วนของรถหลายยี่ห้อมารวมกัน) และหนึ่งในนั้นมีรุ่น Faira เปิดประทุนที่นำมาโชว์ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ช่วงต้นปีนี้ที่เมืองไทยจอดรวมอยู่ด้วย

โดยรวมสิ่งที่พบเห็นจากการเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถยนต์ เฌอรี่ เรารู้สึกถึงความทันสมัยของเครื่องจักรจากผู้ผลิตฝั่งยุโรป เห็นคุณภาพในการผลิต ที่ต้องบอกว่าด้วยระยะเวลาก่อร่างสร้างตัวมาเพียง 12 ปี สามารถผลิตรถออกมาได้คุณภาพระดับนี้ และกลายเป็นแบรนด์รถยนต์อันดับ 1 ของจีน ต้องถือว่าเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง แล้วคนไทยจะไม่ลองให้โอกาสรถจีนเติบโตสักครั้งหรือ ไทย-จีนก็พี่น้องกัน
นอกจากใช้แรงงานคนแล้วยังมีแขนหุ่นยนต์ช่วยประกอบด้วย
จุดนี้มีหุ่นยนต์อยู่ถึง 4 แขน
แขนนี้มีมูลค่าอันละ 200,000 ยูโร หรือราว 10 ล้านบาท
เมื่อหุ่นยนต์ประกอบตัวถังเสร็จก็จะถูกลำเลียงมาด้วยเครื่องจักรทันสมัยแบบนี้
เข้าสู่กระบวนการเตรียมพื้นผิวและเก็บงานก่อนจุ่มสี
การเก็บงานจะใช้แรงงาน 3-4 คนต่อจุด
ออกจากไลน์เก็บงานพร้อมเข้าสู่กระบวนการต่อไป
ผลจากการเก็บงานเรียบร้อยแล้ว
หลังจากจุ่มสีเสร็จก็มาพ่้นสีต่อ
ประกอบชิ้นส่วนต่างๆ
ไลน์ตรวจสอบสุดท้ายก่อนเสร็จสิ้นกระบวนการ
แล้วก็ออกมาเป็นคันแบบนี้ เฌอรี่ คิวคิว หนึ่งในรุ่นที่เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยด้วยราคาเริ่มต้น 3.79 แสนบาท
รถที่ประกอบเสร็จเรียบร้อยจอดเรียงรายรอการขนส่ง
กำลังขับลำเรียงออกจากโรงงานเพื่อไปส่งให้ดีลเลอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น