สี่แยกบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 5 ปีก่อน ชายคนหนึ่งถูกสังหารด้วยอาวุธปืน เขาเสียชีวิต เป็นความตายที่แสนเศร้าโศกและน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะสิ่งที่ตามมาก่อรูปร่างเป็นความเคลื่อนไหวอันทรงพลังของกลุ่มคนที่ถูกทำให้เชื่อมาโดยตลอดว่าตนเองไร้พลัง
สิ่งหนึ่งที่จับต้อง จับตา และจับใจได้ ณ สถานที่ที่เรายืนอยู่ อันเป็นผลจากความเคลื่อนไหวตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงครั้งนี้คือ...
เช้าตรู่ ดวงอาทิตย์รูปร่างและสีสันเหมือนเค้กรสส้มสีฉูดฉาดยังลอยไม่สูงเหนือระดับเส้นขอบฟ้า ด้วยมุมตกกระทบที่พอดีแบบยามเช้า ท้องทะเลบ่อนอกจึงกะพริบตาเป็นสีส้มและลืมตาเป็นสีคราม ตังเกน้อยทยอยออกจากฝั่งไปเก็บกู้เครื่องมือทำมาหากินกลางทะเล ผู้เฒ่าคนหนึ่งค่อยๆ จัดการกับแมงดาทะเลชะตาขาดที่เข้ามาติดตาข่าย
หลายปีก่อนบ่อนอกและบ้านกรูดตกเป็นข่าวอยู่ทุกบ่อย เมื่อชุมชนที่นั่นลุกขึ้นมาคัดง้างกับโครงการโรงไฟฟ้าทีมีภาครัฐและทุนใหญ่หนุนหลัง โดยมี เจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก เป็นแกนนำ และนั่นเป็นเหตุให้เขาถูกผู้มีอิทธิพลในพื้นที่บงการให้ตาย
หลายคนลืมเขาไปแล้ว อีกหลายคนไม่ลืมและหยิบยกความตายของเขาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ 21 มิถูนายนที่ผ่านมา คือวันครบรอบการเสียชีวิต 5 ปีของเจริญ วัดอักษร คงไร้ความหมายถ้าความตายจะมีไว้เพื่อจัดงานรำลึก แต่ไม่ใช่ ภาคประชาชนจากเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้และอีกสองสามจังหวัดในภาคอื่นต่างมารวมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ...เรื่องอะไร?
สิ่งที่เจริญ วัดอักษร และชาวบ้านบ่อนอก-บ้านกรูดเคยต่อสู้กำลังกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อแผ่นดินด้ามขวานกำลังเผชิญหน้ากับอภิมหาโครงการอย่าง แผนพัฒนาชายฝั่งภาคตะวันตกและภาคใต้ หรือ Western Seaboard และ Southern Seaboard ก็เหมือนที่เคยเป็น มันคือโครงการที่ภาครัฐต้องการแต่ไม่เคยถามชาวบ้าน และเชื่อเถอะว่ามันจะเปลี่ยนโฉมหน้าภาคใต้ไปโดยสิ้นเชิง
ความทรงจำ ความทุกข์ ความอยุติธรรม
ในช่วงเช้าของวันที่ 21 มิถุนายน ชาวบ้านจากหลากหลายพื้นที่ทยอยเดินทางมาถึง สอบถามคนใกล้ๆ ว่าชาวบ้านเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหนกันบ้าง ก็ได้คำตอบว่ามาจาก-นครศรีธรรมราชที่ถูกหวยด้วยโรงงานปิโตรเคมี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงถลุงเหล็ก, สงขลา ผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าจะนะ และยังมีโครงการท่าเรือน้ำลึกกับสะพานเศรษฐกิจที่กำลังเตรียมการ, สตูลกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราและสะพานเศรษฐกิจ, ชุมพรกับโครงการโรงไฟฟ้า เขื่อน และท่าเรือ, สุราษฎร์ธานีกับโรงถลุงเหล็กและการคาดคะเนว่าอาจะเป็นที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์, ภูเก็ตกับท่าเรือมารีน่า, พังงากับท่าเรือมารีน่า, สระบุรีกับโรงไฟฟ้า และที่เพิ่งเป็นข่าวโด่งดังอย่างมาบตาพุดที่ได้รับความตายจากนิคมอุตสาหกรรมาบตาพุด (โปรดดูภาพประกอบว่ากำลังมีโครงการขนาดใหญ่อีกเท่าไหร่ที่จะลงสู่ภาคใต้)
เมื่อพิธีกรรมทางศาสนาผ่านไป ชาวบ้านจึงตั้งริ้วขบวนเดินเท้าไปยังอนุสาวรีย์ ทรtนง ณ ธรณี เพื่อร่วมแสดงเจตนารมณ์ของภาคประชาชน ด้วยการอ่านคำประกาศเจตนารมณ์อันดุดันที่จะปกป้องชุมชน ทรัพยากรในท้องถิ่น และจะคัดง้างกับทุนใหญ่และนโยบายรัฐที่จะทุ่มทิ้งลงมายังแผ่นดินด้ามขวานตามอำเภอใจ
ดังที่กล่าวไว้แต่ต้น หากวันครบรอบการจากไปของใครสักคนมีไว้เพียงเพื่อการจัดงานและแสดงความเศร้าโศกเสียใจ ความตายของเจริญคงเป็นความเบาหวิวเหลือทนความตาย ดังนั้น หลังจากการประกาศเจตนารมณ์ ชาวบ้านจึงกลับไปรวมตัวกันที่วัดสี่แยกบ่อนอกเพื่อร่วมวงพูดคุย
โดยในช่วงเช้าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความทุกข์ยากของชาวบ้านมาบตาพุด ฉากชีวิตแห่งการพัฒนา (?) ที่เล่าผ่านคำให้การของลุง น้อย ใจตั้ง วัย 70 กว่า การสูญเสียน้องเขยและน้อยสาวให้แก่มะเร็ง การสูญเสียที่ดินทำกินที่ถูกเวนคืนให้แก่อุตสาหกรรมจาก 22 ไร่ เหลือเพียง 2 งาน กับกระท่อมให้พออยู่กินหลับนอน แต่จนทุกวันนี้ลุงน้อยก็ยังไม่ได้ค่าเวนคืนเนื่องจากถูกโกง
“เราได้ปลามาแต่กินไม่ได้ ปลามันเหม็น มีนักวิชาการมาบอกว่ากุ้ง หอย ปู ปลาที่มาบตาพุดไม่มีพิษ กินได้ ผมบอกว่ากินให้ดูได้มั้ย ไม่มีใครกล้ากิน”
มาบตาพุดเป็นอุทาหรณ์อันแจ่มชัดของการพัฒนาที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของการมีส่วนร่วม ธรรมาภิบาล ความยั่งยืนของทรัพยากร สังคม วัฒนธรรม และชุมชน มีตัวอย่างมากมายบนแผ่นดินมาบตาพุดที่ยืนยันว่าความยุติธรรมทางสังคม เลื่อนลอยและจับต้องไม่ได้ ยกตัวอย่างเมื่อครั้งเกิดเรื่องใหม่ๆ ช่วงปี 2540 ที่นักเรียนใน โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ต้องล้มป่วยจากกลิ่นที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจัดให้มีการประชุมเพื่อหาทางแก้ไขและได้ข้อสรุปว่า ย้ายโรงเรียนง่ายกว่าย้ายโรงงาน นั่นเป็นเหตุให้โรงเรียนซึ่งอยู่มาก่อนต้องย้ายหนีโรงงานอุตสาหกรรม
หรือปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาของคนมาบตาพุด ซึ่งมีสาเหตุที่ง่ายต่อการทำความใจ แต่ยากต่อการทำใจ เมื่ออ่างเก็บน้ำทั้ง 4 อ่างของระยองถูกยกให้แก่บริษัทจัดการน้ำแห่งหนึ่งดูแล ลองดูตัวเลขต่อไปนี้ น้ำประปาที่ขายให้ชาวบ้านราคาคิวละ 2 บาท น้ำประปาที่ขายให้โรงงานอุตสาหกรรมราคาคิวละ 9-20 บาท ใช่, มันเป็นเรื่องหลักการทางเศรษฐศาสตร์ทั่วๆ ไป
วิถีปักษ์ใต้ที่ควรจะเป็น
นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้วและอยู่ในขั้นตอนของการเยียวยาความบอบช้ำของแผ่นดินและทะเล
พื้นที่ภาคตะวันออกที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจถูกถลุงจนทรุดโทรมและใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวเต็มที ภาครัฐและอุตสาหกรรมจึงต่างจดจ้องพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ตาเป็นมัน ผ่านแว่นของแผนพัฒนาชายฝั่งภาคตะวันตกและภาคใต้ โดยในภาคตะวันตกนั้นจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนภาคใต้คือทั้ง 14 จังหวัด
รัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนว่าเห็นด้วยกับเซาเทิร์นซีบอร์ด และรู้ด้วยว่าเรื่องเช่นนี้จะทำกระโตกกระตากไม่ได้ การรุกเงียบจึงเกิดขึ้นด้วยการค่อยๆ ส่งโครงการลงไปทีละสองสามโครงการในหลายจังหวัดของภาคใต้ เปรียบเหมือนจิ๊กซอว์แต่ละตัวที่จะประกอบเป็นรูปภาพสมบูรณ์ในภายหลัง และหลีกเลี่ยงการประเมินผลกระทบในภาพใหญ่
โดยเบื้องต้นเป็นโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานเป็นส่วนใหญ่ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะและคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า
โครงการโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 2 แห่งที่ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และจะนะ ในจังหวัดสงขลามีกำลังผลิตไฟฟ้าได้แห่งละ 800 เมกะวัตต์
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร กำลังการผลิต 2,800 เมกะวัตต์
และโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ในช่วงการวางแผนอีก 4,000 เมกะวัตต์
รวมแล้วถ้าทุกโครงการเสร็จสมบูรณ์จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้สูงถึง 8,000 กว่าเมกะวัตต์ ขณะที่การประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์ และภายในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 เมกะวัตต์ ลองตั้งข้อสังเกตจากสมการพลังงานง่ายๆ นี้จะพบว่า ความต้องการเพิ่มขึ้นเพียง 2,000 เมกะวัตต์ แต่กลับมาแผนจะผลิตพลังงานสูงถึง 8,000 เมกะวัตต์ แล้ว 6,000 เมกะวัตต์ที่เกินความต้องการจะไปไหน?
ถูกต้อง, มันคือพลังงานที่จะถูกป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมที่จะรุกคืบตามเข้าไป
เหล่านี้คือการกระจายทรัพยากรที่ไม่เคยเท่าเทียมตลอดระยะเวลาการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา หมักหมมเป็นสิ่งที่เรียกว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง และลุกลามเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้
“ปัจจุบันภาคใต้ผลิตสินค้าเกษตรมากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ มีรายได้จากการท่องเที่ยวแสนกว่าล้าน มีการลงทุนทางด้านการศึกษาสูงกว่าภาคอื่นๆ ตรงจุดเหล่านี้รัฐบาลไม่สนใจ แต่สนใจจะลงทุนเหล็ก ปิโตรเคมี แต่สิ่งที่ภาคใต้ไม่ได้ทำคือการนำสินค้าเกษตรมาแปรรูป ปัจจุบันยางเราขายเป็นยางแผ่น น้ำมันปาล์มขายเป็นน้ำมันปาล์มดิบ ปลาใส่น้ำแข็งแล้วส่งให้โรงงาน ภาคใต้มีการแปรรูปสินค้าเกษตรเพียงร้อยละ 10-20 ของที่ผลิตได้เท่านั้น สิ่งนี้คือจุดแข็ง ไม่ใช่เหล็ก ไม่ใช่ปิโตรเคมี
“มีตัวเลขสำคัญจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ผมอยากให้ดูคือ เกษตรกรที่มีที่ดินทำกินในภาคใต้ 100 คน เป็นคนยากจนเพียงแค่ 3 คน แม้แต่คนงานการเกษตรที่ไม่มีที่ดินทำกิน 100 คนมีคนจนแค่ 11 คน ส่วนคนงานทั่วไปและคนงานในโรงงาน 100 คนมีคนจน 14 และ 15 คน แปลว่าเกษตรกรในภาคใต้ไม่จน คนที่อยู่ในภาคโรงงานกลับมีสัดส่วนคนจนมากกว่า แล้วเราจะแปรภาคใต้ให้เป็นอุตสาหกรรมทำไม เพราะนั่นเท่ากับเรากำลังแปลงคนที่ไม่จนให้กลายเป็นคนจนมากขึ้น เกษตรกรภาคใต้ไม่เหมือนกับภาคอื่น ในภาคอื่นตัวเลขจะกลับกัน คนที่อยู่ในภาคโรงงานจะจนน้อยกว่าคนที่ทำการเกษตร จึงเกิดการนำความคิดนี้มาใช้ในภาคใต้ ทั้งที่คนในภาคใต้ถ้ามีสวน มีเรือ ไม่มีจน” ดร.เดชรัตน์อธิบาย
การพัฒนาแบบสูตรสำเร็จที่ถูกโยนลงมาจากข้างบน เหล็ก ปิโตรเคมี จึงไม่ใช่คำตอบของการพัฒนาภาคใต้ดังที่ภาครัฐและอุตสาหกรรมเข้าใจ แต่ถ้าภาคใต้สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรได้อีกร้อยละ 25 จากที่มีอยู่เดิมจะทำให้รายได้ของภาคใต้เพิ่มขึ้นถึง 78,000 ล้านบาท ถ้าลดต้นทุนการเกษตรลงได้ร้อยละ 10 จะเพิ่มรายได้สุทธิได้ไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท และถ้าเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้อีกร้อยละ 25 รายได้จะเพิ่มขึ้น 35,000 ล้านบาท
……..
โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดคืออภิมหาโปรเจกต์ที่ไม่สามารถบอกเล่าได้ภายในเนื้อที่น้อยนิดของหน้าหนังสือพิมพ์ ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งอันเปิดโปงให้เห็นความบิดเบี้ยวที่ดำรงอยู่ในทิศทางการพัฒนาประเทศ
หลังจากนี้ สังคมคงจะได้เห็นการตื่นตัวของเจริญอีกนับพัน นับหมื่น ในแผ่นดินปักษ์ใต้ ได้เห็นการตื่นรู้ของภาคประชาชนที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และนี่คงเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่จะทำให้ภาครัฐได้หันกลับมาทบทวนกระแสการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
**********
“เราได้เรียนรู้ธาตุแท้ของกระบวนการยุติธรรมไทย”
แม้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ศาลอาญาชั้นต้นจะได้พิพากษาให้ประหารชีวิต ธนู หินแก้ว ในข้อหาจ้างวาน และคดีกำลังเข้าสู่ชั้นอุทธรณ์ แต่สำหรับ กรอุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญและชาวบ้านบ่อนอกแล้ว ความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาแสวงหา แต่มันคือการเรียนรู้ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยนั้นเป็นอย่างไร
“ต้องถือว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้ามาก ใช้เวลา 5 นับตั้งแต่เจริญตายกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ถูกตัดสินประหารชีวิต 1 คนในข้อหาจ้างวาน ฟอกผิดไป 2 คน ก่อนหน้านั้นผู้ต้องสงสัยก็ตายในคุกไป 2 คน วันนี้ชาวบ้านรู้สึกสงสัยคือในเมื่อถูกตัดสินให้ประหารชีวิต ทำไมจึงปล่อยให้มีการประกันตัว มันเป็นมาตรฐานไหน เพราะจากการที่เราติดตามมา ถ้าเป็นโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตส่วนใหญ่แทบไม่เคยเห็นว่าจะให้มีการประกันตัว ไม่ว่าจะเป็นคดีของพล.อ.ชลอ เกิดเทศ หรือคดีผู้พันตึ๋ง
“ชาวบ้านเราถือว่านี่ไม่ใช่คดีส่วนตัวระหว่างเจริญกับผู้ต้องหา แต่มันเป็นความขัดแย้งระหว่าทุนใหญ่กับชาวบ้าน ระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน เราก็ไปคัดค้านการประกันตัว แต่ปรากฏว่าหลังจากที่เรากลับกันมาก็มีการประกันไปอย่างรวดเร็ว
“หลังจากทราบข่าว ชาวบ้านก็มานั่งคุยกันว่าเราคงจะจบภารกิจการติดตามคดีของเจริญ เพราะเราคิดว่าวันนี้เราได้เรียนรู้ธาตุแท้ของกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นที่พึ่งหวังได้หรือไม่ ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้เป็นโจทก์ร่วมอยู่แล้วด้วย เพราะเราพอจะประเมินได้ตั้งแต่ติดตามคดีในช่วงต้นๆ จนขึ้นสู่ศาล เราพบความผิดปกติมากมาย หลักฐานบางอย่างก็ไม่ถูกนำไปประกอบในคดี เช่น การติดต่อทางโทรศัพท์ระหว่างมือปืนกับคนจ้างวาน หรือข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในสำนวน อย่างคนที่เอาหลักฐานไปทำลายก็ถูกตัดตอนออกไปจากสำนวน
“การแสวงหาความเป็นธรรมไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา แต่เราคิดว่าต้องการเรียนรู้จากมันมากกว่าว่าถึงที่สุดแล้วจะเป็นยังไง การที่เราไม่เข้าไปเป็นโจทก์ร่วม เพราะเราเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วคงไม่ได้รับความเป็นธรรมแน่นอน เราจึงจะไม่เป็นตราประทับให้แก่ใคร เปล่าประโยชน์ที่เราจะเข้าไป นี่จึงเป็นการเรียนรู้ของเรา ชาวบ้านหลายคนก็ตกผลึกกับเรื่องนี้”
***********
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ-พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร