แม้แกรนด์ เชโรกีใหม่ของค่ายจี๊ป บริษัทในเครือไครสเลอร์ ได้ถูกเปิดตัวออกมาก่อนที่ทางไครสเลอร์ แอลแอลซี บริษัทแม่จะขอยื่นเข้าสู่สภาวะล้มละลาย แต่จากการที่ตัวรถมีคิวเริ่มทำตลาดในปลายปี 2010 ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า สุดท้ายแล้ว แกรนด์ เชโรกีใหม่จะมีโอกาสออกมาโลดแล่นบนถนนหรือไม่ เพราะจากการที่ไครสเลอร์ล้มละลายนั้น มีการระบุว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องสู่บรรดาโปรเจ็กต์การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ของบริษัทในเครือ และอาจจะมีหลายรุ่นไม่ได้มีโอกาสวางขายตามโชว์รูมอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม นั่นก็ยังเป็นเรื่องของการคาดหมาย ยังไม่ใช่ความจริงที่ประกาศออกมาโดยทางไครสเลอร์ และทำให้โอกาสอยู่รอดของแกรนด์ เชโรกีก็ยังพอมีอยู่ เพราะนี่คือเอสยูวีที่สร้างชื่อให้กับจี๊ปจากลูกค้าทั่วโลกมานานกว่า 15 ปี นับจากรุ่นแรกในรหัส ZJ ที่เปิดตัวในปี 1993 และก็เคยได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดเมืองไทย ก่อนที่ชื่อของ GC จะหายไปในรุ่นที่ 3 รหัส WK
สำหรับรุ่นใหม่นี้เป็นเจนเนอเรชันที่ 4 และยังไม่มีการเปิดเผยรหัสตัวถังออกมา แต่มีการเผยว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ก่อนยุคที่ไครสเลอร์จะถูกแยกตัวออกจากเดมเลอร์ เอจีเมื่อปี 2007 ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เอสยูวีรุ่นนี้รวมถึงเพื่อนร่วมสายพันธุ์อย่างดอดจ์ ดูแรนโกจะมีความเกี่ยวข้องกันในเชิงรายละเอียดทางวิศวกรรมกับเอสยูวีและรถยนต์อเนกประสงค์ในตระกูลเอ็ม-คลาส จีแอล-คลาส และอาร์-คลาสของเมอร์เซเดส-เบนซ์
ตัวรถมากับตัวถังแบบ 5 ประตูที่มีความยาว 4,821 มิลลิเมตร กว้าง 2,154 มิลลิเมตร สูง 1,763 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,916 มิลลิเมตร พร้อมการออกแบบที่พลิกโฉมรูปลักษณ์จากรุ่นที่แล้วอย่างหมดจด แต่คงรายละเอียดหลักที่เป็นเอกลักษณ์ของจี๊ปอย่าง 7-Slot Grille หรือกระจังหน้าแบบ 7 ช่องเอาไว้ ขณะที่เส้นสายบนตัวถังมีการเน้นโป่งเพื่อเพิ่มสัมผัสของความบึกบึนผ่านทางสายตา
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทางเลือกของเครื่องยนต์ในช่วงแรกจะค่อนข้างน้อย เพราะว่าสเปกที่ขายในเมืองลุงแซมมีแค่เบนซิน 2 รุ่นเท่านั้น โดยเป็นขุมพลังใหม่ในรหัส Pentastar แบบวี6 ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็น FFV หรือ Flex Fuel Vehicle สามารถใช้ได้ทั้งน้ำมันเบนซินและ E85 มีความจุ 3,600 ซีซี พร้อมระบบวาล์วแปรผัน VVT มีกำลังสูงสุด 280 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 35.9 กก.-ม. ที่ 4,800 รอบต่อนาที และอีกรุ่นเป็น Hemi วี8 5,700 ซีซี 360 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 52.9 กก.-ม. ที่ 4,250 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
ในตอนแรกจี๊ปบอกว่าจะมีขายทั้งเวอร์ชันพวงมาลัยซ้ายและขวา รวมถึงยังมีทางเลือกของเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับตลาดยุโรป และตลาดโลก แต่ก็ไม่รู้ว่าหลังเกิดเหตุการณ์วิกฤตกับบริษัท ทางเลือกเหล่านี้จะยังมีอยู่หรือไม่
นอกจากนั้น จี๊ปยังมีทางเลือกของชุดห้องเกียร์ส่งกำลังของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อซึ่งมีให้เลือกใช้งาน 3 รุ่น คือ Quadra Trac I, Quadra Trac II และ Quadra Drive II ที่มีอัตราทดของเฟืองแตกต่างกันเพื่อให้สอดคล้องกับความเหมาะสมกับการใช้งานหลากหลายรูปแบบตั้งแต่งานเบาๆ อย่างขับเข้าทุ่งไปจนถึงการลุยทางออฟโรดแบบโหดๆ ส่วนระบบช่วงล่างแบบถุงลมเพื่อความนุ่มนวลและสามารถปรับระดับความสูงได้จากในห้องโดยสาร ซึ่งเรียกว่า Quadra-Lift เป็นออพชั่นที่ลูกค้าต้องจ่ายเงินเพิ่ม
แฟนจี๊ปทั่วโลกคงต้องภาวนาอย่าให้โปรเจ็กต์นี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการประกาศล้มละลายของบริษัทแม่ และถ้าทุกอย่างไม่มีอะไรผิดพลาด จี๊ปจะส่งแกรนด์ เชโรกีใหม่ทำตลาดในช่วงปลายปี 2010 และจะมีไลน์ผลิตอยู่ที่โรงงานในเมืองเจฟเฟอร์สัน นอร์ธ มลรัฐมิชิแกนที่ไครสเลอร์ทุ่มเงินถึง 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 63,000 ล้านบาทในการปรับปรุงไลน์ผลิตให้มีความทันสมัยและยืดหยุ่นสำหรับรองรับกับการผลิตรถยนต์หลายรูปแบบที่ใช้พื้นตัวถังเดียวกัน