xs
xsm
sm
md
lg

ค่ายรถเปลี่ยนแม่ทัพรับวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุตสาหกรรมยานยนต์ในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด ที่ต้องเผชิญกับภาวะกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศหดหาย ซึ่งหลายค่ายต่างเตรียมแผนรับมือกันไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ไม่ว่าจะลดกำลังการผลิตและพนักงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด รวมถึงทบทวนแผนธุรกิจ-การตลาด พร้อมถือโอกาสปรับหลังบ้านให้การบริหารกระชับ สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรไปในตัว

ขณะเดียวกันหลายค่ายยังปรับทัพด้วยการเปลี่ยนประธานใหม่ ที่ระยะหลังๆบริษัทแม่มักมองตามความเหมาะสม และสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือก็คือค่อนข้างยืดหยุ่นและไม่ยึดติดกับเทอม(วาระการดำรงตำแหน่ง)เหมือนอดีตที่ผ่านมา

นิสสัน...ฝรั่ง(เศส)ไป-ญี่ปุ่นมา

เทียรี่ เวียดิว เข้ามารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 กับความหวังที่จะเข้ามาฟื้นภาพลักษณ์แบรนด์ เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด พร้อมดูแลโครงการปิกอัพ(ฟรอนเทียร์ นาวารา) ที่เป็นความหวังใหม่ของทั้งในประเทศและส่งออก
เทียรี่ เวียดิว และ โทรุ ฮาเซกาวา
ตลอดเวลา 2 ปีกว่า นิสสันในยุคนายใหญ่จากฝรั่งเศส มีผลงานโดดเด่นทั้ง แผนโปรดักต์ฟรอนเทียร์ นาวารา การปรับโครงสร้างราคารถยนต์หลายรุ่นให้แข่งขันได้ รวมถึงปรับโครงสร้างองค์กร และการรื้อแผนธุรกิจของนิสสันในไทย แต่หลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความรับผิดชอบจะถูกส่งไม่ต่อไปยัง “โทรุ ฮาเซกาวา”

สำหรับโทรุ ฮาเซกาวา จะเข้ามาดูแลตลาดในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน (อินโดนิเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) ซึ่งในอดีตเคยผ่านสมรภูมิทั้ง อินโดนีเซีย รวมถึงนั่งแท่นผู้จัดการทั่วไป แผนกวางแผนตลาดต่างประเทศ นอกเหนืออเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น และก่อนเข้ารับตำแหน่งในไทย ก็เคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ นิสสัน มิดเดิลอีสต์(ตะวันออกกลาง)

ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด “โทรุ ฮาเซกาวา” ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 4 ปี ส่วนแบ่งการตลาดของนิสสันในไทยจะโตแบบก้าวกระโดด นั่นคือจากเดิมที่กินอยู่ 4-5% จะต้องเพิ่มเป็น 10% ให้ได้


เพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าว “เอ็มดีใหม่” จึงเตรียมปรับภาพลักษณ์และการบริหารงานครั้งใหญ่ โดยวันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป จะเริ่มปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งหลักๆจะพยายามดึงพนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และวันที่ 21 เมษายนนี้ จะเปลี่ยนชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการจาก สยามนิสสัน ออโตโมบิล เป็นบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้สอดคลองกับชื่อบริษัทอื่นๆในประเทศ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเดียวกันทั่วโลก

นอกจากนี้นายฮาเซกาวา ยังมั่นใจกับโปรดักต์ใหม่อย่างเทียน่าที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ และความหวังสูงสุดอย่าง “อีโคคาร์” ที่เตรียมทำตลาดแน่นนอนในปีหน้า ว่าจะมาเสริมช่วยกับ “นาวารา” ส่งยอดขายให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

โมริคาซุ ชกกิ และ ฮิโรชิ นาคางาวะ
ปธ.ใหม่อีซูซุหวังแชมป์ปิกอัพ

วาระที่สามในการทำงานที่ ตรีเพชรอีซูซูเซลส์ ของ“โมริคาซุ ชกกิ” กับตำแหน่งประธาน นับว่าสั้นนัก เมื่อมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น (บริษัทแม่ของ ตรีเพชรฯ) ตัดสินใจให้“ฮิโรชิ นาคางาวะ” เข้ามารับตำแหน่งแทนโดยมีผลตั้งแต่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

ชกกิ ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซูเซลส์ จำกัด เมื่อเดือนธันวาคม 2550 และตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความเป็นผู้นำ ความหลักแหลมในการบริหาร ควบคู่ไปกับความอึดที่เป็นเอกลักษณ์ของพนักงานค่ายนี้ โดยเฉพาะสภาพตลาดปิกอัพในประเทศที่ซบเซา ตลาดส่งออกเริ่มจะมีปัญหา แต่ชกกิ ยังประคองสถานการณ์ และวางแผนงานต่างๆได้อย่างดีเยี่ยม

ทั้งนี้นายชกกิ ถูกโปรโมทขึ้นไปเป็นรองประธานอาวุโส รับผิดชอบกลุ่มธุรกิจอีซูซุ ที่บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการขยายธุรกิจรถอีซูซุทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น


แม้มือดีอย่างชกกิ จะถูกดึงตัวกลับไปเร็วเกินคาด แต่กระนั้น มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ยังส่งมือเก๋าอย่าง “ฮิโรชิ นาคางาวะ” ที่เชี่ยวชาญด้านการขาย ทั้งยังเคยทำงานกับ ตรีเพชรฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง ระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2533 - พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ในตำแหน่งรองผู้จัดการทั่วไป รับผิดชอบงานของกลุ่มขาย

นายนาคางาวะ เพิ่งเปิดตัวกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการในงานบางกอกฯมอเตอร์โชว์ 2009 เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมให้สัมภาษณ์สั้นๆถึงแนวทางการบริหารช่วงเศรษฐกิจซบเซาว่า

"ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตจะมีโอกาสในวิกฤตของอีซูซุเสมอ ยกตัวอย่าง ในปี 2540 ที่ตลาดรถยนต์หดตัวลงอย่างมาก แต่อีซูซุสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาด จาก 30% เป็น 40%"

“เรามองโลกในแง่ดีเสมอ เมื่อเกิดวิกฤตก็ต้องมีกำลังใจที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายต่างๆได้ ส่วนยอดขายปีนี้เราตั้งเป้าไว้ 121,000 คัน แบ่งเป็นปิกอัพ 114,300 คัน และถ้าถามว่าปีนี้จะทำยอดขายเป็นอันดับหนึ่งหรือไม่ ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้สูง แต่นั่นก็ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด เพราะเราจะเน้นเรื่องความพอใจของลูกค้าเป็นหลัก”นายนาคางาวะ กล่าว
เคนจิ โอตะกะ และ อาซึชิ ฟูจิโมโตะ
ฮอนด้า-มิตซูฯคุ้นไทย-อาเซียน

อีกสองค่ายญี่ปุ่น ฮอนด้า และ มิตซูบิชิ ที่เปลี่ยนประธานใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาและ 1 พฤษภาคมนี้ตามลำดับ โดยค่ายแรกได้ “อาซึชิ ฟูจิโมโตะ” มาแทน “เคนจิ โอตะกะ” ที่เพิ่งปิดปีทอง(2551)ด้วยยอดขายเกือบ 100,000 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดเกิน 14%

นั่นถือเป็นงานหินของนายฟูจิโมโตะ ที่ต้องมาสานต่อความสำเร็จให้ ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเคยประสบความสำเร็จกับตลาดมาเลเซียในปี 2551 ด้วยการเสกยอดขายให้เติบโตถึง 114% เมื่อเทียบกับปี 2550 และเพิ่มกำลังการผลิตจาก 25,000 คันเป็น 35,000 คัน พร้อมขยายเครือข่ายผู้จำหน่ายเป็น 57 แห่งทั่วประเทศ
มิจิโร่ อิมาอิ และ โนบุยูกิ มูราฮาชิ
ด้านมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้นายใหม่ชื่อ “โนบุยูกิ มูราฮาชิ” โดยจะเข้ามาแทน “มิจิโร่ อิมาอิ”กรรมการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบัน ที่จะถูกโยกไปรับผิดชอบธุรกิจด้านต่างประเทศของบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น

สำหรับนายมูราฮาชิ วัย 56 ปี นับว่าคุ้นเคยกับเมืองไทยเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังเคยทำงานที่ ตรีเพชรอีซูซูเซลส์ มาถึง 2 วาระ

ทั้งนี้นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ ร่วมงานกับมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2518 จากนั้นถูกส่งมาทำงานที่ ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ เมื่อปี 2520 ต่อมาปี 2527 มาอยู่ฝ่ายรถยนต์ A มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และ ปี 2528 ย้ายมาทำงานที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ออสเตรเลีย

ในเดือนธันวาคม 2534 นายมูราฮาชิ กลับดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายผู้จำหน่าย การขายและการตลาด บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด อีกครั้ง ก่อนได้รับความไว้วางใจให้ไปบริหารงานบริษัทในกลุ่มมิตซูบิชิหลายแห่ง อาทิ อเมริกาเหนือ อังกฤษ ฝรั่งเศส

โวล์ฟกัง ฮุบเพ็นบาวเออร์ และ ศาสตราจารย์ ดร. อเล็กซานเดอร์ เพาฟเลอร์
เบนซ์ส่ง“โปรเฟสเซอร์”ดูตลาด

ผู้นำตลาดรถหรู “เมอร์เซเดส-เบนซ์” แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร. อเล็กซานเดอร์ เพาฟเลอร์ เป็นประธานบริหาร แทนที่ “โวล์ฟกัง ฮุบเพ็นบาวเออร์” ที่จะไปรับตำแหน่งประธานบริหารเดมเลอร์ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีผลตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

งานแรกที่โดดเด่นเข้าตาของ ศาสตราจารย์ เพาฟเลอร์ คือการดึง อี-คลาส คูเป้ รุ่นพวงมาลัยขวา(E 350 AVANTGARDE Sport Coupé AMG ราคา 7.99 ล้านบาท)มาเปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทยในงานบางกอกฯมอเตอร์โชว์ 2009 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้เขายังมุ่งมั่นในการรักษาการเป็นผู้นำในตลาดรถหรู พร้อมรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่ครองอยู่ถึง 60% ไว้ให้ได้…“ผมเชื่อว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะเติบโตต่อไปอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า รวมถึงระดับความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ ผลิตภัณฑ์และการบริการของเรานั้น อยู่ในระดับสูง” ศ.ดร.เพาฟเลอร์กล่าวและว่า

“วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น คงจะไม่สามารถผ่านไปได้ง่ายๆ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบอีก 1-2 ปี ฉะนั้นกุญแจสำคัญที่จะนำพาเราฝ่าไปได้ คือ ความคิดสร้างสรรค์ พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากร และดีลเลอร์ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย”

สำหรับ ศ. ดร. เพาฟเลอร์ มีประสบการณ์ยาวนานในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ และความสามารถด้านบริหารการเงินมากว่า 25 ปี โดยก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งในไทย ศ. ดร. เพาฟเลอร์เคยดำรงตำแหน่ง ประธานบริหาร ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประจำประเทศกรีซ มาก่อน

…..ทั้งหมดคือการปรับแม่ทัพของค่ายรถยนต์ เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละคนล้วนมีประสบการณ์และความสามารถมาโชกโชนก่อนเข้ามารับตำแหน่งในไทย แต่สุดท้ายแล้วใครจะอยู่นาน อยู่รอดในตลาดปราบเซียนแห่งนี้ ไม่เกินปีก็น่าจะเห็นแวว!

กำลังโหลดความคิดเห็น