xs
xsm
sm
md
lg

ร้องเรียนเพียบ!รถเมล์เก่า-ประมาท-ไร้วินัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - กรมการขนส่งทางบก เผยซากรถร่วม ขสมก.วิ่งเกลื่อนเมือง เกินครึ่งอายุใช้งานเกิน 11 ปี ขณะที่ยอดร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ เกือบ 400 รายในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

หลังการตรวจสอบของกรมการขนส่งทางบก พบว่ารถร่วมบริการขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ที่ใช้งานอยู่ในระบบ 3,154 คัน แบ่งเป็นรถร่วมโดยสารขนาดใหญ่จำนวน 2,136 คัน และรถมินิบัสจำนวน 1,018 คัน พบว่ามี มีรถคุณภาพตามอายุการใช้งาน คือระหว่าง 1-10 ปี เพียง 1,122 คัน ซึ่งทั้งหมดเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ ส่วนรถร่วมบริการที่เหลือจำนวน 2,032 คัน มีอายุการใช้งานระหว่าง 11-54 ปี

จากการตรวจสอบพบว่า อายุการใช้งานเฉลี่ยของรถมินิบัสอยู่ที่ 22 ปี มี 595 คัน ซึ่งคันที่มีอายุการใช้งานมากที่สุดคือ 47 ปี มี 1 คัน ขณะที่รถโดยสารขนาดใหญ่ เฉลี่ยอายุการใช้งานอยู่ที่ 6 ปี มี 306 คัน โดยคันที่มีอายุการใช้งานมากที่สุดคือ 54 ปี มี 1 คัน ส่วนอายุการใช้งานของรถร่วมบริการ ขสมก. ที่เกิน 10 ปี แบ่งได้ดังนี้ อายุการใช้งานระหว่าง 11-20 ปี มีจำนวน 400 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ 398 คัน รถมินิบัส 2 คัน อายุการใช้งานระหว่าง 21-30 ปี มี 1,120 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ 363 คัน รถมินิบัส 757 คัน อายุการใช้งาน 31-40 ปี มี 420 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ 170 คัน รถมินิบัส 250 คัน อายุการใช้งาน 41-54 ปี มี 92 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ 83 คัน รถมินิบัส 9 คัน

โดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ทางกรมไม่มีอำนาจดำเนินการใดๆ เพราะยังไม่มีกฎหมายกำหนดอายุการใช้งานของรถร่วมบริการ จึงได้แต่ตรวจสภาพรถ หากตรวจแล้วผ่าน ก็ยังสามารถใช้งานได้ ไม่เหมือนการให้บริการของรถตู้สาธารณะ จะมีกฎหมายกำหนดอายุการใช้งานชัดเจนว่าไม่เกิน 10 ปี ขณะที่รถแท็กซี่จะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 9 ปี หลังจากนั้นต้องปลดระวางเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร

ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบก ยังเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ ปรากฏว่า ในเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา มีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะทั้งสิ้น1,524 ราย หรือเฉลี่ยวันละกว่า 500 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรถโดยสาร ขสมก. และรถร่วมบริการ ขสมก. ได้รับการร้องเรียน จำนวน 396 ราย รถโดยสาร บขส. และ รถร่วมบริการ บขส. จำนวน 79 ราย รถมินิบัส จำนวน 75 ราย รถตู้โดยสาร จำนวน 38 ราย และรถโดยสาร สองแถว จำนวน 28 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ ขับรถประมาท ไม่จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่ป้าย และ เก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด

ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบก ได้เรียกตัวผู้ถูกร้องเรียนมาสอบสวนความผิด และลงโทษเปรียบเทียบปรับ พร้อมส่งผู้ตรวจการ ออกกวดขันจับกุมรถโดยสารสาธารณะตามจุดที่ได้รับการร้องเรียนเป็นประจำ เช่น บริเวณหน้าศูนย์การค้า หน้าสถานศึกษา บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือท่าอากาศยาน เป็นต้น โดยผู้ขับรถที่กระทำผิดซ้ำ ในข้อหาเดิม จะลงโทษสถานหนักและบันทึกประวัติเพื่อเข้มงวดในการต่ออายุใบอนุญาตขับรถต่อไป

สำหรับผู้โดยสารที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริการรถโดยสารสาธารณะ สามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 ซึ่งตั้งอยู่ที่ อาคาร 3 ชั้น 1 กรมการขนส่งทางบก จตุจักร หรือทางโทรศัพท์หมายเลข 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น