โตโยต้า สร้างตำนานการเดินทางที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการเดินทางตามแนวตะเข็บชายแดนประเทศไทย ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และวัฒนธรรมน่าสนใจหลากหลายรูปแบบ โดยมี โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ รุ่นสมาร์ท แค็บ เป็นพาหนะนำทุกชีวิตสู่ความสุข สนุก ชนิดลืมไม่ลง และที่สำคัญการเดินทางครั้งนี้จะทำให้คุณรักเมืองไทยมากขึ้น
สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบคาราวานครั้งนี้รวมระยะทางทั้งสิ้น 8,800 กม. กับระยะเวลาในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง 23 วัน รอบขวานทองของไทย โดยแบ่งการเดินทางออกเป็น 5 ทริป
ทริปที่ 1 เริ่มสตาร์ทจากกรุงเทพฯมหานคร ไปยังชายแดนฝั่งตะวันตก ณ สังขละบุรี กาญจนบุรี แล้วล่องแพขนานยนต์ข้ามทะเลสาบเขื่อนศรีนครินทร์สู่อุทยานแห่งชาติพุเตย สุพรรณบุรี ผ่านไปยังชายแดนแม่สอดจังหวัดตากแล้วใช้ถนนสายเลาะเรียบริมน้ำเมยสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จุดสูงสุดของประเทศไทย เดินทางลัดเลาะบนยอดเขาผ่านบ้านปางอุ๋ง สู่เมืองแม่ฮ่องสอนแล้วไปจบการเดินทางที่อำเภอปาย
ทริปที่ 2 เริ่มจากปาย ย้อนเข้าเชียงใหม่ไปห้วยน้ำดัง เมืองเวียงแหง ดอยอ่างขาง เข้าเชียงรายผ่านทางดอยแม่สลอง ไปยังดอยตุง ดอยช้างมูบ แวะวัดร่องขุ่น ไปดอยผาหม่น ภูชี้ฟ้า แล้วเข้าเมืองน่านเพื่อไปยังดอยภูคา อุทยานแห่งชาติศรีน่านตัดผ่านสู่ภาคอีสานผ่านบ้านร่มเกล้าพิษณุโลก เลาะเรียบริมน้ำโขง เข้าอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย จบการเดินทางที่จังหวัดอุดรธานี
ทริปที่ 3 เริ่มจากอุดรธานี เข้าหนองคายผ่านสถานที่น่าสนใจพร้อมแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งวัฒนธรรมสองฝั่งโขง และวัดโบราณหลายแห่ง ใช้เส้นทางเลาะริมน้ำโขงผ่านนครพนม ไปยังมุกดาหารพร้อมชื่นชมแอ่งอารยะธรรมอีสานใต้ไปตั้งแต่เขมราฐ ผาแต้ม ไปจนถึงปราสาทสะด๊กก๊อกธม จากนั้นจึงเป็นการชื่นชมธรรมชาติเริ่มจากอุทยานแห่งชาติปางสีดา ตัดเข้าชายทะเลฝั่งตะวันออกเลาะเรียบไปตามชายทะเลแล้ววกกลับมาสิ้นสุดการเดินทางที่กรุงเทพมหานคร
ทริปที่ 4 จากกรุงเทพ ฯ มุ่งลงใต้โดยใช้เส้นทางเลาะเรียบอ่าวไทย ผ่านสถานที่น่าสนใจจากประจวบคีรีขันธ์ผ่านลงสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช จบการเดินทางที่หาดใหญ่
ทริปที่ 5 เริ่มจากหาดใหญ่กลับขึ้นกรุงเทพ ฯโดยเน้นเส้นทางฝั่งอันดามัน ผ่านสตูล ตรัง ภูเก็ต ระนอง แล้วจบการเดินทาง ณ กรุงเทพมหานคร
28-01-52 เที่ยวปายเยือนชุมชนจีนบนดอยแม่สลอง
สำหรับ “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” ได้รับเชิญจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ในทริปที่ 2 โดยคณะสื่อมวลชนทริปนี้เดินทางมาเปลี่ยนมือกับชุดแรกในวันที่ 27 มกราคม และออกเดินทางในเช้าวันที่ 28 มกราคม ณ อำเภอปาย
แปดนาฬิกาตรง คือเวลาที่เรานัดหมายกันเพื่อออกเดินทาง แต่เพียงเคลื่อนขบวนไปได้เพียงเล็กน้อยยังไม่พ้นตัวตลาดปาย คณะคาราวานตื่นเต้นกันมาก เนื่องจากบนถนนมีหมอกหนาจัดมองทางข้างหน้าไม่ค่อยชัดเท่าไรนัก แต่ก็ไม่เป็นปัญหากลับส่งผลให้การเดินทางวันแรกคึกคักขึ้นมาทันที
วันแรกเป็นการเดินทางจาก อ.ปาย ไปยังดอยแม่สลอง รวมระยะทาง 320 กม. และอาจกล่าวได้ว่า เส้นทางเดินทางวันนี้เป็นเส้นทางที่โหดที่สุดของทริป เพราะ 80 % ของเส้นทางจะอยู่ตามป่าเขาเป็นส่วนใหญ่และเป็นทางออฟโรดโดยมุ่งหน้าเข้าสู่หมู่บ้านตาลเจ็ดต้น เข้าเส้นทางออฟโรดที่ต้องบอกว่าหากเป็นช่วงฤดูฝนแล้วต้องเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อจริง ๆ ถึงจะผ่านเส้นทางนี้ได้ ร่องรอยของความเป็นร่องลึกที่ผ่านการใช้งานมีตลอดเส้นทาง วงเลี้ยวแคบ ๆ เลาะผ่านต้นไม้สองข้างทางที่แทบจะเรียกว่าได้ว่าเป็นทางรันเวย์ที่รถไม่สามารถจะขับสวนกันได้ ชนิดที่เรียกว่าแม้แต่รถมอเตอร์ไซด์ยังต้องขับแอบข้างทางเพื่อให้รถใหญผ่านไปก่อน
กระนั้นก็ตามด้วยสมรรถนะของไฮลักซ์ วีโก้ สมาร์ทแค็บ ที่พร้อมตอบสนองต่อการขับขี่ได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นแรงบิดที่ให้กำลังฉุดกระชากได้ดี หรือแม้แต่ระบบช่วงล่าง TOP Platform ที่ให้สมรรถนะความแกร่งที่ผ่านการพัฒนาทางเทคโนโลยีระบบช่วงล่าง เพื่อการขับขี่ที่มั่นใจไปอีกขั้น โดยเฉพาะเมื่อต้องพบกับอุปสรคของเส้นทางที่มีทั้งร่อง เนิน และทางคดเคี้ยวที่แคบ ไฮลักซ์ วีโก้ สมาร์ทแค็บ ที่นอกเหนือจากจะบรรทุกสัมภาระแล้ว ในเรื่องของการผจญภัยกับเส้นทางวิบากก็ฉลุย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของมุมคร่อมและมุมที่ต้องปีนไต่และข้ามเนินสูงก็ขับขี่ได้ง่ายดาย
จุดหมายแรกของวันนี้ คือการเดินทางไปวัดพระธาตุแสนไห เขตอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ก่อนที่จะถึงเป้าหมาย ขอเล่าประวัติของ “เมืองแหง” ที่เรากำลังเดินทางไปให้ฟังสักนิด ครั้งอดีตกาลนั้นเมืองแห่งนี้มีความสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่าน ตามเส้นทางเดินทัพและการค้าระหว่างเมืองเชียงใหม่อดีตราชธานีของอาณาจักรล้านนา กับเมืองนายที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในรัฐฉานประเทศพม่า เมืองแหงเป็นเมืองกึ่งกลางเส้นทางตามสายน้ำแม่แตง มีพื้นที่กว้างใหญ่เหมาะแก่การสะสมเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพและเป็นสถานที่ที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมายในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
หากนักท่องเที่ยวมีโอกาสแวะมาเยือนเมืองเวียงแหงแล้วต้องมาที่วัดพระธาตุแสงไห ตั้งอยู่ที่บ้านมหาธาตุ ตำบลแสนไห อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ “พระบรมธาตุแสนไห” ที่เราไปเยือนมีเรื่องเล่าแต่โบราณว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เมืองนี้ แล้วพระทนต์บิ่น (เขี้ยว) พระองค์ท่านจึงได้มอบพระทนต์ที่บิ่นนั้นให้อุบาสกอุบาสิกาชาวกระเหรี่ยงเพื่อเป็นทาน ภายหลังชาวบ้านจึงสร้างพระเจดีย์ครอบพระทนต์ไว้ และสันนิษฐานว่าชื่อ “เวียงแหง” ก็ได้จากเหตุการณ์นี้เนื่องจากคำว่า แหง เป็นภาษาถิ่นหมายถึง แตกละแหง นั่นกึคือ กระทนต์ที่บิ่นหรือแตก ส่วนคำว่าเวียงหมายถึง “เมือง” จึงกลายมาเป็น เมืองแหง
จากวัดพระธาตุแสนไห คณะขบวนสมาร์ทคาราวานเดินทางต่อบนเส้นทางที่ยังอยู่บนภูเขา ลัดเลาะไปมาโค้งซ้ายไปขวา โค้งขวาไปซ้ายเพื่อไปมนัสการพระธาตุวัดฟ้าเวียงอินทร์ หรือ วัดสองแผ่นดิน ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2400 ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยใหญ่ มีอาคารเสนาสนะประกอบด้วย หอสวดมนต์ หอฉัน ศาลาจำศีล และกุฏิสงฆ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีเจดีย์เป็นปูชนียวัตถุ วัดนี้ตั้งอยู่ที่บ้านหลักแต่ง อยู่ตรงชายแดนไทย-พม่าพอดี
สมัยก่อนบริเวณบ้านหลักแต่งนี้ถือเป็นเขตอิทธิพลของขุนส่า อาณาเขตของวัดนี้จึงนับเป็นดินแดนเดียวกันแต่เมื่อขุนส่ามอบตัวแก่รัฐบาลทหารพม่า ดินแดนวัดจึงถูกแยกเป็นสองส่วนมีเจดีย์สีเหลืองทองอร่ามอยู่ในแดนไทยและจะมองเห็นหลังคาโบสถ์สีแดงทรงไทยใหญ่อยู่ในฝั่งพม่า ด้านหลังเป็นศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ชาวบ้านให้ความเคารพมาก และที่เชิงเขาด้านหลังเป็นสุสานนายพลโมเฮงอดีตผู้นำชาวไทยใหญ่ที่นี้ ในบริเวณเดียวกันยังเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารม้าที่ 12 หน่วยจงอางศึก ซึ่งทำหน้าป้องกันแนวชายแดนฝั่งนี้และคณะคาราวานได้มอบผ้าห่มกันหนาวให้กับเหล่าทหารหาญของเรา
หลังจากลิ้มรสอาหารจีนยูนนานที่หมู่บ้านเปียงหลวงแล้ว คาราวานเดินทางต่อตามถนนหมายเลข 1178 ผ่านบ้านอรุโณทัย ที่มีประชากรเป็นชาวจีนอพยพและมีความเป็นจีนค่อนข้างสูง ยังมีการใช้ภาษาจีนเป็นภาษาหลักในการสื่อสารในครอบครัวและหมู่บ้าน ช่วงบ่ายพวกเรายังลัดเลาะบนขุนเขาสูงชันไปยัง ดอยอ่างขาง โดยใช้เส้นทาง 1249 เข้าอำเภอฝางและ107 ผ่านอำเภอแม่อาย มุ่งสู่จังหวัดเชียงรายขึ้นดอยสูงที่ได้รับการกล่าวขายว่ามีไร่ชามากที่สุดในประเทศไทยที่ดอยแม่สลอง ปลายทางของคณะเราในวันแรก
ดอยแม่สลองเป็นชุมชนของอดีตทหารจีนกองพล 93 สังกัดพรรก๊กมินตั๋งของนายพลเจียงไคเช็ค ทำการรบอยู่ทางตอนใต้ของจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในจีนเมื่อพรรคคอมมิวนิวส์ตนำโดยเหมาเจ๋อตุง ยึดอำนาจสำเร็จ พรรคก๊กมินตั๋งจึงถอยร่นไปปักหลักที่เกาะไต้หวัน กองพล 93 กลายเป็นกองกำลังพลัดถิ่นถูกกดันอย่างหนักจนหนีเข้าในเขตไทย 2 กองทัพ คือกองพัน 3 เข้าอยู่ที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และกองทัพที่ 5 อยู่ที่บ้านแม่สลองนอกตั้งแต่ปี 2504
นอกจากนี้ดอยแม่สลองยังเป็นยอดดอยหนึ่งในเทือกเขาแดนลาว ตั้งอยู่ในเขต อ.แม่ฟ้าหลวง มีความสูงประมาณ 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล บนยอดดอยมีสถานที่ท่องเที่ยวให้ชมหลายแห่งด้วยกัน
ขบวนคาราวานเดินทางถึง แม่สลองรีสอร์ทในราวทุ่มกว่า ๆ ผมเหลือบมองเลขไมล์ที่เซ็ตไว้ตั้งแต่เริ่มการเดินทางที่อ.ปายในช่วงเช้า ทำให้ทราบว่าวันนี้เราเดินทางกันมา 320 กว่ากิโลเมตร
29-01-52 ชมแสงแรกบนดอยแม่สลองและภูชี้ฟ้า
บรรยาการศในยามเช้าบนดอยแม่สลองรีสอร์ทวันนี้ไม่หนาวอย่างที่คิดแค่เย็น ๆ แต่สิ่งที่ทำให้สมาชิกในขบวนคาราวานต่างออกมาเดินอยู่กันเต็มถนนก็คือทิวทัศน์เบื้องล่างคือแสงแรกของพระอาทิตย์ในวันนี้ คณะคาราวานออกเดินทางจากดอยแม่สลองกันแต่เช้าตามถนนหมายเลข 1089 ไปยังพระธาตุดอยตุง เมื่อรถเคลื่อนขบวนทุกคนได้เห็นทิวทัศน์ของไร่ชาจนทำให้หลายคนอดยกกล้องขึ้นมาบันทึกภาพไว้มิได้ ถัดจากไร่ชาลงมาจึงเป็นภาพของชุมชุนชาวจีนที่ยังคงสภาพอาคารบ้านเรือนไว้จนทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในชนบทของเมืองจีน
วันที่สองของการเดินทางแม้เส้นทางจะไม่ใช่ออฟโรดทีทุรกันดารอย่างวันแรก แต่สภาพเส้นทางก็ยังปืนป่ายอยู่บนภูเขา คือคดเคี้ยวและสูงชันขึ้น-ลง ตลอดทาง แต่ด้วยสมรรถนะอันสมบูรณ์แบบของ ไฮลักซ์ วีโก้ สมาร์ทแค็บ ขับเพียงแป๊ปเดียวเราก็เดินทางถึงพระธาตุดอยตุง
พระธาตุดอยตุง เป็นเจดีย์แห่งแรกของล้านนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1454 โดยพระมหากัสสะปะเถระ และพระเจ้าอุชุตราช กษัตริย์ผู้ครองนครโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคือ เมืองล่ม อแม่จัน) ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) บรรจุในพระเจดีย์สถิตยังดอยแห่งนี้ และได้ปัก “ตุง” ขนาดใหญ่ไว้บูชา ความยาว1,000 วา ปลายชายตุงปลิวสะบัดถึงที่ใดให้หมายเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ ดอยลูกนี้จึงมีชื่อว่า “ดอยตุง” ตราบเท่าทุกวันนี้ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 องค์พระธาตุทรุดโทรมมาก ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะขึ้นมาใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กสององค์บนฐานแปดเหลี่ยมตามศิลปะแบบล้านนา การบูรณะครั้งหลังสุดมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยกระทรวงมหาดไทยได้สร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบพระเจดีย์เดิมไว้
จากพระธาตุดอยตุงคณะเราเดินทางไปดอยช้างมูบและดอยแห่งนี้เป็นชื่อดอยที่สูงที่สุดของเทือกเขานางนอนในโครงการพัฒนาดอยตุง เดิมเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มีทิวทัศน์โดยรอบที่งดงามแต่ได้ถูกทำลายจากการทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่น เมื่อครั้งสมเด็จย่าเสด็จมาที่นี้เป็นเพียงภูเขาที่มีแต่หญ้าปกคลุม พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นความงดงามของพื้นที่นี้จึงมีพระประสงค์ที่จะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ดังเดิม
จุดสูงสุดของดอยช้างมูบยังเป็นที่ตั้งของฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารม้าที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 จ.เชียงราย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมีแนวเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้านและมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี คณะคาราวานจึงได้มอบผ้าห่มกันหนาวเพื่อเป็นกำลังใจแก่รั้วของชาติ
จากจุดนี้ขบวนคาราวานได้เดินทางไปยังด่านแม่สาย โดยใช้เส้นทางสาย UNSEEN ลัดเลาะไปตามแนวชายแดนโดยไม่ต้องผ่านลงไปใช้ถนนพหลโยธิน ซึ่งเส้นทางนี้ถือว่าชิดขอบแดนไทย-พม่า มากที่สุด ชนิดที่ว่ามีแค่รั้วไม้ไฝ่กั้นเขตแดนเท่านั้น คือสุดริมถนนฝั่งซ้ายมือก็เป็นเขตแดนพม่า ถือเป็นเส้นทางสายหนึ่งที่สนใจไม่น้อย และเชื่อว่ายังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรนัก แม้เส้นทางจะคดเคี้ยวและแคบแต่ก็เป็นเส้นทางลาดยางพับไปพับมาตามแนวเขาและมาทะลุที่ต้วเมืองแม่สายเลย เส้นที่ว่านี้ผ่านทางอ.เทิง ตำบล.ตับเต่า ตามเส้นทางหมายเลข 1155 ขึ้นสู่ดอยผาหม่นไปยังภูชี้ฟ้า
ด่านแม่สายยังคงคึกเช่นที่ผ่านมา ขบวนคาราวานใช้เวลาที่นี่พักใหญ่เพื่อให้เพื่อนๆ ช้อปปิ้งกัน หลังจากนั้นเดินทางไปรวมกับคาราวานลูกค้าโตโยต้าอีกกลุ่มหนึ่งที่รออยู่โชว์รูมโตโยต้า จ.เชียงราย จำนวน 10 คัน เพื่อเดินทางไปยังวัดร่องขุ่น ที่ศิลปินชื่อดัง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มุ่งมั่นสร้างสรรค์เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา
จุดหมายที่เราเดินทางต่อไปคือการมอบผ้าห่มให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ ณ สถานีเกษตรที่สูง ดอยผาหม่น ก่อนจะไปรับประทานอาหารเย็นท่ามกลางแสงดาวและสายลมหนาว ณ จุดชมวิวก่อนขึ้นสู่ภูชี้ฟ้าในเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น ผมเหลือบมองเลขไมล์อีกครั้งก่อนดับเครื่องยนต์ก่อนสิ้นสุดการเดินทางในวันที่สอง ตัวเลขบนหน้าปัดแสดงอยู่ที่ 289 กิโลเมตร
ประวัติของภูชี้ฟ้าน่าสนใจไม่น้อย ด้วยภูชี้ฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่นที่เป็นพรมแดนไทย-ลาว ด้านจ.เชียงราย-พะเยา สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,628 เมตร ลักษณะเป็นหน้าผาหินตั้งอยู่บนเส้นกั้นพรมแดนพอดี ในอดีตเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ด้วยสภาพภูมิประเทศที่สูงชันจึงเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญ ชาวลาวและไทยในพื้นที่เรียกผาหินที่ชี้เหยียดตรงขึ้นไปบนฟ้าว่า “ภูฟ้า” เมื่อปัญหาด้านความมั่นคงคลี่คลายมีการตัดถนนขนานชายแดนไทย-ลาว จากบ้านผาตั้งภูชี้ฟ้าไปถึงอ.เชียงคำ ภูชี้ฟ้าจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา
และแล้วเราก็ได้ชมแสงอาทิตย์สุดท้ายบนที่พักภูชี้ฟ้าก่อนจะเข้าห้องชาร์จแบตก่อนจะลุยต่อในวันที่สามของการเดินทาง สมาร์ท คาราวาน 8,800 กม. โดยไฮลักซ์ วีโก้ สมาร์ท แค็บ
โปรดติดตามตอนที่ 2