xs
xsm
sm
md
lg

“อ่างขาง”เสน่ห์พราว หนาวโรแมนติก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทิวทัศน์พื้นที่ดอยอ่างขาง ณ จุดชมวิว
“ลำปางหนาวมาก”

ฮิตไปเลยประโยคนี้ ของโน้ส อุดม แต้พานิช ในเดี่ยว 7

ยิ่งหนาวนี้อากาศแปรผันจากสภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน อากาศหนาวยะเยือก บางพื้นที่ถึงขนาดมีน้ำค้างแข็ง(แม่คะนิ้ง)เกิดขึ้นเป็นประจำในยามเช้า

หนาวๆอย่างนี้ บรรดาขาเที่ยวต่างมุ่งเป้าขึ้นเขา ขึ้นภู กันเป็นส่วนใหญ่

“ตะลอนเที่ยว” มีหรือจะตกขบวน งานนี้เราขึ้นเหนือไปหาหนาวกันที่ “ดอยอ่างขาง” จ.เชียงใหม่ ดินแดนมหัศจรรย์ใต้พระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย
ชุ่มฉ่ำกับสายน้ำตกและมวลหมู่ดอกไม้ในอาคารไม้ดอกเมืองหนาว
“ดอยอ่างขาง” ชื่อนี้โด่งดังฮอตฮิดติดตลาดด้านการท่องเที่ยวมาช้านาน ฉายา“สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” คือเครื่องการันตีในความงามและเสน่ห์ของดอยอ่างขาง ที่นักเดินทางหลายคนใฝ่ฝันหา ซึ่งจะว่าไปแล้วอ่างขางนับเป็นดอยที่มหัศจรรย์ไม่น้อย เนื่องจากเดิมทีดอยแห่งนี้เป็นดังพื้นที่อันตรายที่ดารดาษไปด้วยไร่ฝิ่น ไร่เลื่อนลอย

กระทั่งในต้นปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต้นเชียงใหม่ทอดพระเนตรเห็นเขาหัวโล้น ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของชาวเขาที่แม้จะปลูกฝิ่นเลี้ยงชีพแต่ว่ากลับมีฐานะยากจน พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2 แสนบาท เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 200 ไร่ ให้นักวิชาการเกษตรใช้เป็นสถานที่วิจัยการปลูกพืชและไม้ผลเมืองหนาว เพื่อช่วยให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น แล้วพระราชทานชื่อว่า “สวนสองแสน”

สีสันดอกไม้งาม
นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้ตั้ง “โครงการหลวง” ขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” โดยเลือกดอยอ่างขาง อ.ฝาง จัดตั้ง“สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”ขึ้น นับเป็นพื้นที่โครงการหลวงแห่งแรกของเมืองไทย(ปัจจุบันมีโครงการหลวงทั้งหมด 36 แห่ง)

จากนั้นโครงการหลวงดอยอ่างขางก็พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเขาหัวโล้นกลายเป็นแปลงพืชผักผลไม้เมืองหนาวอันอุดมสมบูรณ์สวยงาม ไร่ฝิ่นหายไป ชาวเขามีงานทำ มีรายได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากนั้นไม่นานเรื่องของ“การท่องเที่ยว”ก็ตามมา
สวนแปดสิบ สวนสวยไฮไลท์สำคัญบนดอยอ่างขาง
เที่ยวในโครงการหลวง

ในช่วงหน้าหนาวอย่างนี้ อ่างขางหนาวมาก(ไม่ใช่ข้อความ SMS) แต่ก็สวยงามและโรแมนติกมากเช่นกัน โดยเฉพาะที่ “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” พื้นที่โครงการหลวง ซึ่งการเที่ยวชมสิ่งน่าสนใจในนี้ “ตะลอนเที่ยว”ขอเที่ยวไล่ไปตั้งแต่ทางเข้าปากทางเข้าสถานีฯ

เริ่มจากอาคารไม้ดอกเมืองหนาว ที่ภายนอกดูเป็นโรงเรือนธรรมดาๆ แต่ภายในกลับน่าเพริศแพร้วไปด้วยการตกแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงาม ลงตัว มีน้ำตกจำลองเล็กๆใสไหลเย็นให้ความชุ่มชื้นชุ่มฉ่ำท่ามกลางดงดอกไม้หลากสีสารพัดพันธุ์ ที่จัดตกแต่งอย่างลงตัวเข้ากัน

ใกล้ๆกันนั้นเป็นที่ตั้งของโรงเรือนแปลงกุหลาบ หลากสีสัน ทั้งแดง ชมพู ขาว เหลือง ที่ออกดอกชูช่อสวยงาม กุหลาบบางดอกบานใหญ่ขนาดเท่าฝ่ามือเลยทีเดียว
กะหล่ำประดับดอกโตในสวนแปดสิบ
ถัดจาก 2 อาคารนี้ไป ถนนเบื้องหน้าแยกเป็น 2 สาย ใครไปทางซ้ายก็จะได้พบกับแปลงไม้ผลเมืองหนาว อย่าง สาลี่ บ๊วย กีวี พลัม พีช ส่วนทางขวามีสวนบอนไซสวยๆงามๆและโดมไม้แล้งให้เที่ยวชมกัน

จากนั้นทาง 2 สายต่างจะไปบรรจบกันบริเวณสโมสรอ่างขางที่มีสวนหลากรูปแบบให้ชม อาทิ อาทิ สวนรับเสด็จ ที่มีการจัดตกแต่งไม้ดอกไม้ใบอย่างกลมกลืนไปตามไหล่เขา สวนหอม ที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้หอมนานาชนิด สวนกุหลาบอังกฤษ ที่รวบรวมกุหลาบสายพันธุ์อังกฤษไว้มากมาย

ส่วนด้านหน้ามี สวนคำดอย และ“สวนแปดสิบ” สวนไฮไลท์อันโดดเด่นที่อบอวลไปด้วยดอกไม้เล็กใหญ่สวยๆงามๆมากมาย
ดอกไม้งามในสวนแปดสิบ
ด้านหน้าของสวนแปดสิบมีกะหล่ำประดับดอกยักษ์สีม่วง และขาว ปลูกเรียงรายเป็นกลุ่มล้อไปกับทางเดินชมสวนที่แซมด้วยดอกไม้เล็กๆหลากหลายสี ถัดไปก็จะเป็นดอกไม้ที่ขึ้นเป็นช่อเป็นพุ่มให้สีแดง เหลือง ชมพู และอีกสารพัดสีขึ้นดารดาษทั่วไป

จากจุดนี้หากมองขึ้นไปก็จะเห็นที่ประทับของพระราชินีที่เรือนไม้แบบสวิสตั้งโดดเด่นโดยมีดอกไม้สวยงามและต้นเปาโลเนียเป็นฉากหน้า ส่วนถ้าเรามองย้อนหลังกลับมาก็จะเห็นดงดอกไม้ขึ้นอยู่มากมายโดยมีฉากหลังเป็นหุบเขาที่กว้างไกล ซึ่งไม่ว่ามองขึ้นหรือมองลงก็สวยงามทั้งนั้น
แสงแรกแห่งวัน ณ จุดชมวิวขอบด้ง
และหากใครไปเยือนที่สวนแปดสิบในวันหยุดก็จะได้พบกับชาวไทยภูเขานำของที่ระลึกทำมือมาวางขาย ใครที่ชอบช้อปสินค้าพื้นเมืองหรือใครอยากกระจายรายได้ก็เลือกจับจ่ายกันได้ โดยสินค้าที่ชาวไทยภูเขานำมาขายนั้นราคาไม่แพง ส่วนใครจะต่อรองราคาให้ลดลงมาได้เท่าไหร่ก็ขึ้นถือเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้

เที่ยวนอกโครงการหลวง

เสน่ห์ดอยอ่างขางไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่โครงการหลวงเท่านั้น แต่นอกพื้นที่บริเวณใกล้เคียงก็แหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจให้เที่ยวชมกันอยู่หลายจุดด้วยกัน ซึ่งใครอยากจิบชาในกระบวนการทำแบบโบราณ เลือกซื้อสินค้าการเกษตร ของที่ระลึกฝีมือชาวบ้านท่ามกลางสีสันของวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชนเผ่ามูเซอดำและมูเซอแดงก็ให้ไปที่ “หมู่บ้านขอบด้ง” ส่วนยามเช้าหากใครขยันตื่น บ้านขอบด้งมีจุดชมวิวขอบด้งเป็นหนึ่งในสถานที่รับตะวันอันน่าสนใจ
ปั่นจักรยานโต้ลมหนาว
นอกจากนี้ก็ยังมี บ้านคุ้ม ที่ตั้งอยู่หน้าสถานีฯ หมู่บ้านนี้มีสินค้าพื้นเมืองและร้านอาหารรวมไปถึงที่พักอยู่หลายเจ้าทีเดียว โดยบ้านคุ้มจะคึกคักตั้งแต่ประมาณ 7 โมงเช้าไปจนถึงประมาณ 3 ทุ่ม

ใครที่ชอบผจญภัยก็อาจจะเดินป่าขึ้นไปยังจุดสูงสุดดอยอ่างขาง ที่มีความสูง 1,958 เมตรจากระดับน้ำทะเล พร้อมๆกับชมความงามของกุหลาบพันปีที่ขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมาก ส่วนใครชอบดูนกบนดอยอ่างขางก็มีจุดอยู่นกอยู่หลายจุด ใครชอบขี่จักรยานก็มีเส้นทางจักรยานให้เลือกขี่ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติที่สวยงาม ส่วนใครอยากสัมผัสอารมณ์แปลกใหม่ก็ลองไปขี่ล่อชมธรรมชาติในยามเย็นก็ดูเก๋ไม่หยอก
แปลงผักสีสันสวยงาม
อีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจในระดับต้นๆของคนที่มาเที่ยวดอยอ่างขางก็คือ “บ้านนอแล” ที่ในช่วงวันหยุดจะมีเด็กๆชาวปะหล่อง หญิง-ชาย-หญิง จากโรงเรียนบ้านขอบด้งมาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศน์น้อย คอยแนะนำเรื่องราวและสิ่งน่าสนใจในบริเวณนี้ รวมถึงเรื่องราวความน่าสนใจของชาวปะหล่องที่เดินทางจากพม่าเข้ามาอาศัยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารในเมืองไทย ซึ่งจากที่น้องไกด์น้อยคนหนึ่งเล่ามาพอสรุปได้ว่า เดิมชาวปะหล่องปู่ย่าตายายของพวกเขาอาศัยอยู่ในดอยลาย พม่า แต่ว่าพอมีการรบกันระหว่างพม่ากับไทยใหญ่ ชาวปะหล่องก็อพยพมาเรื่อยๆจนมาอยู่ในเมืองไทยที่บ้านนอแลราวปี 2527
ผู้หญิงชาวปะหล่องกำลังเก็บผักในโครงการ
ชาวปะหล่องมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า พวกเขาเป็นลูกหลานนางฟ้าที่มีด้วยกัน 7 องค์ แล้ววันหนึ่งนางฟ้าทั้ง 7 ก็ลงมาเล่นน้ำบนโลกมนุษย์ แต่ว่ามีนายพราน(บางคนว่านายพรานนี้คือชาวมูเซอ)มาเห็นจึงใช้แร้วจับตัวนางฟ้าได้องค์หนึ่งชื่อ “ร้อยเงิน”(ข้อมูลทั่วไปมักระบุว่าชื่อ“หรอยเงิน”) ทำให้นางฟ้าองค์นี้กลับขึ้นสวรรค์ไม่ได้กลายเป็นต้นกำเนิดของชนเผ่าปะหล่องขึ้นมา

ผู้หญิงปะหล่องจะสวมใส่ “หน่องว่อง” ที่เปรียบดังสัญลักษณ์แทนแร้วที่นายพรานใช้จับตัวนางฟ้าร้อยเงิน ซึ่งปะหล่องจะใส่ไว้เพื่อระลึกถึงนาง สมัยก่อนหน่องว่องทำด้วยเงินแท้ แต่ในยุคหลังมาจะทำด้วยหวายย้อมสีถักเป็นวงคล้องรอบเอวไว้ใต้เข็มขัด ชาวปะหล่องถือว่าหน่องว่องเป็นสิ่งมงคลเมื่อคล้องไว้ชีวิตจะมีความสุข ตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์
รองเท้านารีในอาคารเพาะเลี้ยง
และนั่นก็คือตำนานคร่าวๆของชาวปะหล่องที่เราได้รับรู้จากไกด์น้อย ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในเสน่ห์เสริมส่งบนดอยอ่างขาง ดอยที่สุดโรแมนติก สวย หนาว พราวเสน่ห์ อันเกิดจากพระปณิธานและพระบารมีแห่งในหลวงที่มีต่อไพร่ฟ้าประชาชนชาวไทย

ทุกครั้งที่ “ตะลอนเที่ยว”มาเที่ยวดอยอ่างขาง แม้อากาศจะหนาวเหน็บแต่เรากลับรู้สึกอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก และยิ่งหวนคิดไปถึงพระราชกรณียกิจต่างๆของในหลวง ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกหัวระแหงในผืนแผ่นดินไทยเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทย ก็ยิ่งเกิดความรู้สึกอบอุ่นมากขึ้น

...เป็นความอบอุ่นใจจากภายในที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยภายใต้พระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย...

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน...

ซื้อแครอทสดๆมั้ยคร้าบ
*****************************************

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นโครงการหลวงแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ใน ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นตลอดปี เนื่องจากมีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร มียอดสูงสุด 1,928 เมตร เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาว สำหรับส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาปลูกทดแทนฝิ่น

การเดินทางสู่ดอยอ่างขาง สามารถไปได้ 2 เส้นทาง

1. จากถนนเชียงใหม่-ฝาง ผ่านสามแยกเชียงดาว บ้านอรุโณทัย และบ้านผาแดง เป็นระยะทาง 161 กม.

2. จากถนนเชียงใหม่-ฝาง ผ่านสามแยกทางขึ้นดอยอ่างขาง บ้านปางควาย ระยะทาง 162 กม. ระยะทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ ถึงสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ระยะทาง 162 กม.

หากไปโดยรถประจำทางจากอาเขต(สถานีเดินรถเชียงใหม่) นั่งรถบัสเชียงใหม่-ฝาง (60 บาท) ลงที่ปากทางแม่งอน จากนั้นต่อรถ 2 แถว(50 บาท)จากแม่งอนขึ้นสู่สถานีฯอ่างขาง ส่วนใครที่จะเหมารถ 2 แถว ราคาตกประมาณคันละ 300 บาท

ส่วนใครที่ต้องการค้างแรมบนดอยอ่างขาง สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง 0-5345-0107 ควรสำรองห้องพักก่อนประมาณ 15-30 วัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่คนเยอะเป็นพิเศษ

กำลังโหลดความคิดเห็น