xs
xsm
sm
md
lg

ฮอนด้า “พรีลูด” ยุคทองของสปอร์คูเป้(จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คราวนี้มาถึงคิวของ พระเอกที่สร้างชื่อเสียงความเป็นสปอร์ตในประเทศไทยให้กับค่ายฮอนด้า กับเจ้า “พรีลูด” ในเจนเนอเรชั่นที่ 4 หลังการพังทลายลงของกำแพงภาษีนำเข้าในยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ช่วงปี 1991-1992 และด้วยรูปทรงที่ยังคงมีมนต์เสน่ห์ทำให้ในปัจจุบัน พรีลูด ยังคงความนิยมในตลาดรถมือสองอยู่ไม่เสื่อมคลาย เรามาดูว่าเจ้าพรีลูดเจนฯ4 มีดีตรงไหน
ฮอนด้า พรีลูด เจนเนอเรชั่น 4 ปี 1992
เจนเนอเรชั่น 4 1992-1996

เปิดตัวครั้งแรกในปี 1991 ที่ญี่ปุ่น ภายใต้หลากหลายรหัสตัวถังตั้งแต่ BA8,BA9,BB1-BB4 แต่จะเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดโลกราวปี 1992 ด้วยรูปทรงภายนอกที่แปลกและล้ำสมัยในช่วงเวลานั้น พร้อมกับการปรับเปลี่ยนไฟหน้าจากแบบป๊อป-อัพ มาเป็นแบบโคมยาวในแนวนอนที่ดูดุดัน ส่วนด้านท้ายมีการปรับใหม่หมดเช่นกัน โดยมีการเพิ่มสปอยเลอร์ท้ายเข้ามาเสริม(ในรุ่นท๊อป)

สำหรับการออกแบบทางวิศวกรรมที่โดดเด่นอาทิ การกระจายน้ำหนักให้มีความสมดุลทั้งหน้า(58%)และหลัง(42%), ระบบเลี้ยว 4 ล้อ(4WS) ที่ต่อเนื่องมาจากเจนเนอเรชั่นที่แล้ว, แทรคชั่น คอนโทรล และการติดตั้งซันรูฟมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกคัน และมีซันรูฟแก้วเป็นออพชั่น

การตกแต่งภายใน ออกแบบฉีกจากรถรุ่นอื่นๆ ในอดีต ด้วยคอนโซลยาวซ่อนแผงหน้าปัดเอาไว้ โดยการแสดงผลต่างๆ จะเป็นแบบดีจิตอลทั้งหมด ยกเว้นเรือนไมล์ของบางรุ่นที่เป็นแบบธรรมดา และยังมีออพชั่นเพิ่มความสุนทรีย์เช่น ระบบเสียงรอบทิศทาง(DSP)ติดตั้งจากโรงงาน(ในรุ่นท๊อป), จอทีวี, เครื่องฟอกอากาศ และแอร์ดิจิตอล เป็นต้น
ภายในของฮอนด้า พรีลูด เจนเนอเรชั่นที่ 4
ส่วนเครื่องยนต์เพิ่มขนาดความจุจาก 2.1 ลิตรมาเป็น 2.2 ลิตร สำหรับรุ่นมาตรฐาน(SOHC F22A1) โดยให้กำลังสูงสุด 135 แรงม้าที่ 5200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 193 นิวตันเมตรที่ 4000 รอบ/นาที และรุ่นเครื่องยนต์ วีเทค (DOHC VTEC H22A1)ที่มากับพลังกำลัง 190 แรงม้าที่ 6800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสูด 217 นิวตันเมตรที่ 5500 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 สปีดและเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด

นอกจากนั้นเฉพาะในญี่ปุ่น ยังมีรุ่นเครื่องยนต์แบบไม่วีเทค (DOHC F22B) ออกทำตลาดด้วยกำลังขนาด 160 แรงม้า อีกหนึ่งทางเลือก โดยกำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ในแต่ละประเทศที่จำหน่ายจะไม่เท่ากันแต่จะใกล้เคียงกัน

ต่อมาในปี 1994 พรีลูด ได้ปรับปรุงโฉมเป็นรุ่น ไมเนอร์เชนจ์ โดยปรับเปลี่ยนออพชั่นต่างๆ และรายละเอียดปลีกย่อยเพียงเล็กน้อย อาทิ เรือนไมล์เป็นแบบดิจิตอล, ปรับเบาะนั่งด้านหลัง(Dog Seat)ไม่มีที่ท้าวแขน และ ไม่มีที่ปัดน้ำฝนกระจกหลัง เป็นต้น ส่วนเครื่องยนต์เพิ่มทางเลือกกับเครื่องขนาด 2.3 ลิตร (DOHC H23A1) ซึ่งมีกำลังสูงสุด 160 แรงม้าที่ 5800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 212 นิวตันเมตรที่ 5300 rpm

สำหรับเมืองไทยคาดว่ามีเข้ามาจำหน่ายทุกรุ่นที่ขายในญี่ปุ่น เนื่องจากช่วงนั้นเป็นยุคเกรย์ มาร์เก็ตบูม โดยมีผู้นำเข้าอิสระนำพรีลูดเข้ามาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ทุกรหัสตัวถังเช่น BA-8, BA-9 และ BB-1 เป็นต้น จนกระทั่ง ฮอนด้า ออโตโมบิล นำพรีลูดเข้ามาทำตลาดเอง การทำตลาดของผู้นำเข้าอิสระจึงซาลง
ฮอนด้า พรีลูด เจนเนอเรชั่น 5 ปี 2001 รุ่นสุดท้ายของสายการผลิต
เจนเนอเรชั่น 5 1997-2001

นี่คือเจนเนอเรชั่นสุดท้ายของสปอร์ตสายพันธ์นี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปทรงของรถใหม่หมดจดทั้งหน้าและท้าย โดยทีมวิศวกรหวนกับไปดึงเอากลิ่นไอของเจนเนอเรชั่นที่ 3 มาเป็นหลักในการออกแบบ 

ทั้งนี้รูปทรงแม้จะอิงเจนฯ 3 แต่รูปโฉมพยายามปรับให้เข้ากับยุคสมัยโดยใช้ไฟหน้าแบบสี่เหลี่ยมเต็มโคมทิ้งรูปทรงเดิมที่ประสบความสำเร็จของเจนฯ 4 ออกไปโดยสิ้นเชิง ด้านท้ายก็หวนกับไปอิงกับรูปทรงของเจนฯ 3 เช่นกัน

ด้านการตกแต่งภายในจะเน้นความเป็นสปอร์ต แต่ไม่ฉีกเหมือนกับเจนฯ 4 มีเบาะหนังขลิบด้วยด้ายสีแดงเพื่อสร้างอารมณ์สปอร์ตให้มากขึ้น ซันรูฟ เป็นมาตรฐานในทุกรุ่นยกเว้น Type S โดยมีรหัสตัวถังสำหรับทำตลาดตั้งแต่ BB5-BB9

สำหรับเครื่องยนต์ได้รับการปรับปรุงใหม่คงขนาดความจุ 2.2 ลิตรไว้เช่นเดิมแต่เพิ่มความแรงมากขึ้นและมากับหลากหลายทางเลือก ภายใต้รหัส F และ H โดยมีรุ่นหลักๆ เช่น F22B ให้กำลังสูงสุด 135 แรงม้า ขณะที่ ตัวแรงสุด H22A VTEC ให้กำลังสูงสุด 223 แรงม้า ที่ 7200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 221 นิวตันเมตรที่ 6500 รอบ/นาที

พร้อมทางเลือกสำหรับระบบส่งกำลัง แบบเกียร์ธรรมดา 5 สปีด โดยในรุ่น SiR S-spec จะมี LSD และในรุ่น Type S จะมีระบบที่ฮอนด้าเรียกว่า Active Torque Transfer System (ATTS) ใส่เพิ่มเข้ามาช่วยให้การควบคุมและขับขี่ดีขึ้น ถึงขนาดที่ในปี 1997 นิตยสารรถชื่อดังของอเมริกาให้รางวัลรถที่มีการควบคุมยอดเยี่ยม (the "best-handling car under $30,000.")

ส่วนแบบเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ทุกคันจะมาพร้อมกับระบบ SportShift ที่ให้ผู้ขับขี่สามารถปรับเปลี่ยนเกียร์ได้ดุจดั่งเกียร์ธรรมดา เช่นเดียวกับระบบ Tiptronic ของพอร์เช่ โดยในเวลานั้นมีรถเพียงไม่กี่รุ่น(และมีราคาแพงระยับ)ที่มีระบบเช่นว่านี้

และแม้ว่าฮอนด้า พรีลูดเจนฯ 5 จะได้รับการยกย่องและอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย แต่ทว่ายอดขายกับสวนทาง ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรทั้งนี้อาจจะมาจากหลายประเด็นทั้งคู่แข่งเยอะและการล่มสลายของตลาดรถสปอร์ตคูเป้ในญี่ปุ่น กอปรกับภาวะเศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงทำให้ฮอนด้า ยุติการทำตลาดภายใต้ชื่อพรีลูดไปจนถึงทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น