“สปายเกอร์” หนึ่งในรถยนต์ระดับหรูราคาแพงระยับจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยกว่า 2 ปี ภายใต้การบริหารงานโดยทายาทสาวของเจ้าสัว วิเชียร ลีนุตพงษ์ คือ วิชุดา ลีนุตพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสแอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ล่าสุดนำทัพสื่อมวลชนไทยเยี่ยมชมแหล่งกำเนิดของรถยนต์สปายเกอร์ เพื่อพิสูจน์ว่า “รถทำมือ (Hand Made)” แท้จริงเป็นอย่างไร
โรงงานสปายเกอร์ ตั้งอยู่ที่เมือง อูเทรคต์(Utrecht) ห่างจากกรุงอัมสเตอร์ดัมเพียงเล็กน้อย โดยมี 2 โรงงานตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน โดยโรงงานแรกเป็นส่วนของการวิจัย&พัฒนา, บริการหลังการขาย และการจัดการทีมแข่ง ขณะที่โรงงานแห่งที่ 2 เป็นส่วนของการผลิตรถสปายเกอร์สำหรับขาย มีพนักงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 200 คน ทำหน้าที่ผลิตรถทุกรุ่นของสปายเกอร์และมีกำลังการผลิต 40 คันต่อปี
การเข้าชมโรงงานสปายเกอร์มี “ปีเตอร์ ฟาน รอย” ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ประจำภาคพื้นยุโรป บริษัท สปายเกอร์ คาร์ จำกัดเป็นผู้ดูแลและตอบคำถามต่างๆของสื่อมวลชน สำหรับสัมผัสแรกที่เรารู้สึกจากการเดินเข้าชมโรงงานแห่งที่ 1 คือ ความสะอาดระดับโรงแรมของพื้นที่ การจัดวางอุปกรณ์เป็นระเบียบเรียบร้อย ปราศจากเศษผงหรือคราบน้ำมันให้เสียความรู้สึก
ห้องแรกเป็นฝ่าย Racing ซึ่งมีทีมงานสร้างรถแข่งสปายเกอร์กำลังประกอบรถเพื่อใช้เข้าร่วมการแข่งขันรายการ เลอ มังส์ 24 ในปีนี้หลังจากปีที่แล้วเข้าร่วมการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง (F1) แต่บริษัท สปายเกอร์ ประสบปัญหาด้านการเงินจึงทำให้ทีมไม่ประสบความสำเร็จเลยต้องถอนตัวไป
จากนั้นเข้าชมรถสำหรับทดสอบการชน โดยมีรถสปายเกอร์จอดอยู่หนึ่งคันเพื่อให้สถาบันมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ นำไปทดสอบการชนแบบชนจริงๆ ภาพล่าสุดที่เห็นคือ รถถูกฟื้นสภาพให้กลับมาดูดีเรียบร้อยแล้ว
ปีเตอร์ ฟาน รอย พาเดินไปชมแผนกบริการหลังการขายต่อซึ่งแผนกนี้สามารถรองรับการซ่อมมากถึง 6 คัน (เฉพาะในประเทศเนเธอแลนด์มีรถสปายเกอร์อยู่ 10 คัน) แถมมีรถต้นแบบของสปายเกอร์จอดอยู่คือรุ่นสปายเกอร์ ดี8 เปกิงทูปารีส (Spyker D8 Peking to Paris) และแว่วมาว่าจะนำเข้ามาแสดงและเปิดตัวจำหน่ายในเมืองไทยช่วงปลายปีนี้ด้วย
สำหรับโรงงานแห่งที่ 2 เป็นส่วนของการผลิตรถสปายเกอร์แบบโปรดักชั่นคาร์(ผลิตเพื่อขาย) ด้านความสะอาดไม่แตกต่างกันกับโรงงานแรก ที่สำคัญประโยคแรกเมื่อเข้ามาถึงโรงงานคือ “อย่าข้ามเส้นแดง” เพราะหลังเส้นแดงเป็นส่วนของการผลิตทั้งหมด และโดยปกติแล้วจะไม่มีใครหรือลูกค้าเข้ามาถึงบริเวณนี้แต่สำหรับเราถือเป็นกรณีพิเศษ ส่วนลูกค้าสามารถดูขั้นตอนของการผลิตได้ตลอด 24 ชม. ผ่านทางกล้องวงจรปิด ซึ่งถ่ายทอดผ่านทางอินเตอร์เน็ต
“ลูกค้าของเราทุกคนที่สั่งซื้อรถ จะได้รับรหัสและพาสเวิร์ด เพื่อเข้าไปดูทุกขั้นตอนและกระบวนการประกอบรถได้ตลอดเวลา และยังสามารถสั่งออพชั่นทุกอย่าง เช่น หนังชนิดนี้ไม่ชอบก็สั่งเปลี่ยนได้ทันที” ปีเตอร์กล่าวถึงจุดเด่นของสปายเกอร์ที่ยังไม่มีค่ายรถใดลอกเลียนแบบ
สำหรับการกระบวนการผลิตรถของสปายเกอร์นั้น รถหนึ่งคันจะประกอบรถด้วยช่างจำนวน 3 คนในการดูแลทุกชิ้นส่วนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงประกอบเสร็จ โดยใช้คนทำทุกขั้นตอนไม่มีการใช้หุ่นยนต์แต่อย่างใดบวกกับ ชิ้นส่วนต่างๆ จะถูกผลิตขึ้นภายใต้คำสั่งจากซัพพลายเออร์ที่ดีที่สุดในแต่ละแห่ง อาทิ โครงสร้างตัวถังอลูมิเนียมจะถูกส่งตรงมาจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนในเมืองโคเวนที ประเทศอังกฤษ, เครื่องยนต์ของออดี้ จากประเทศเยอรมัน และหลอดไฟซีนอนจากฟิลลิป เป็นต้น
ส่วนเวลาของการผลิตรถแต่ละคันจะต้องใช้เวลาถึง 400 ชั่วโมง หรือประมาณ 45 สัปดาห์ เนื่องจากกำลังการผลิตปัจจุบันสามารถทำได้ 40 คันต่อปี และในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 80 คันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ลูกค้าที่สั่งรถสปายเกอร์ต้องอดใจรอถึง 2 ปีกว่าจะได้เป็นเจ้าของ
“เราตั้งเป้าหมายในอนาคตว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตให้เกินกว่า 100 คันต่อปีให้ได้ แต่ต้องไม่กระทบต่อคุณภาพในการผลิต โดยจะยังคงใช้ช่าง 3 คนต่อรถ 1 คันเช่นเดิม ทั้งนี้จะใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยเข้าช่วยเพื่อร่นระยะเวลาในการประกอบให้น้อยลง” นายปีเตอร์กล่าว
เป็นที่น่าสังเกตุว่า ภายในโรงงานผลิตรถแห่งนี้เราพบชิ้นส่วนต่างๆ ที่ถูกส่งมากองไว้รอการประกอบนับได้ไม่น่าเกิน 20 คัน และมีช่างที่ทำการประกอบรถยนต์อยู่คันละ 3 คน จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมรถแต่คันใช้เวลานานถึง 400 ชั่วโมง เพราะแค่การติดตัวอักษรข้างตัวถังยังต้องเล็งและบรรจงประดุจกำลังสร้างสรรค์งานศิลปะ
ก่อนที่จะจบทริปทัวร์โรงงานสปายเกอร์ในวันนั้น เรามีโอกาสฟังบรรยาย เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของรถยนต์สปายเกอร์, ประวัติศาสตร์ความสำเร็จ และเรื่องราวความเป็นสปายเกอร์ ซึ่งเมื่อฟังจบ ตั้งใจไว้ว่าสักวันถ้ามีเงินเหลือสำหรับซื้อรถสัก 40-50 ล้านบาท สปายเกอร์จะเข้ามาอยู่ในโรงจอดรถของเราแน่นอน