xs
xsm
sm
md
lg

ขาย-ไม่ขาย “แลนเซอร์ ใหม่” อีก 2 เดือนชี้ชะตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - บิ๊กบอสค่ายมิตซูบิชิ “มิจิโร่ อิมาอิ” เผยทิศทางในตลาดประเทศไทย ต้องลำดับความสำคัญการลงทุน ชัดเจนขอมุ่งลุยอีโคคาร์ ขณะที่เก๋งคอมแพ็กต์ตัวธง “แลนเซอร์ โฉมใหม่” อีก 2 เดือนชี้ชะตาว่าจะมีขายในไทยเป็นโมเดลปกติหรือไม่ เพราะถ้าทำต้องประกอบในประเทศเท่านั้น แต่ติดเรื่องเงินลงทุนสูง ต้องรอบริษัทแม่ไฟเขียว ส่วนแลนเซอร์รุ่นทำตลาดในปัจจุบัน เตรียมปั้นยอดด้วยการติดตั้งระบบใช้ก๊าซธรรมชาติซีเอ็นจี หรือเอ็นจีวี กับเครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร โดยที่ราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง และรับประกันเช่นเดิม ด้านรถอเนกประสงค์แบบพีพีวีที่จะมาแทนรุ่น “จี-แวกอน” ยืนยันไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มาแน่นอน พร้อมกับรูปโฉมและชื่อใหม่ แฟนๆ เตรียมควักกระเป๋าตังก์ถอยได้เลย
มิจิโร่ อิมาอิ
แม้จะอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง ราคาน้ำมันพุ่งกระฉูด แต่สำหรับตลาดรถยนต์เมืองไทยในภาพรวมยังถือว่าไม่เลวร้ายนัก เมื่อย่างเข้าสู่เดือนแรกของไตรมาส 2 มีตัวเลขยอดขายรวม 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.2551) ทำได้ 215,265 คัน เพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรถยนต์นั่ง และรถเพื่อการพาณิชย์ ยังคงขยายตัวถ้วนหน้า

ทั้งนี้ค่าย “มิตซูบิชิ” ก็ไม่ยอมตกกระแส เมื่อยอดขายสะสม 4 เดือน เติบโตตามตลาดเช่นกัน ด้วยจำนวนยอดขาย 10,133 คัน เพิ่มขึ้น 14.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งถือว่าน่าพอใจเพราะนอกจากเอสยูวีรุ่นใหญ่ “ปาเจโร่” ที่นำเข้ามาสร้างอิมเมจ และเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มแล้ว โปรดักต์ใหม่สดๆ ซิงๆ ยังไม่มีให้เห็นเลย และแน่นอนว่าทุกคำถามคงต้องมุ่งตรงไปที่…

“แลนเซอร์ ใหม่” จะเข้ามาทำตลาดเมื่อไหร่? ความคืบหน้าของ “อีโคคาร์” เป็นอย่างไร? รวมถึงกลยุทธ์ที่ค่ายตราเพชรเตรียมใช้สู้ศึกในครึ่งปีหลัง… ความสงสัยเหล่านี้ “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ขอถามตรง เพื่อให้ “มิจิโร่ อิมาอิ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ตอบจริงดังนี้…

“สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่นิ่ง แต่ตลาดรถยนต์ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะรถยนต์นั่งที่ได้อานิสงค์จากราคาภาษีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 โดย 4 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-เม.ย.2551) รถยนต์นั่ง หรือเก๋งเติบโตถึง 32.4% ขณะที่ปิกอัพ 1 ตัน ขยายตัวเพียง 6.4% เท่านั้น”
มิตซูบิชิ ไทรทัน
พิษน้ำมันขอยอดขายเท่ากับปีที่แล้ว

อิมาอิเปิดฉากอธิบายสภาพตลาดก่อน และกล่าวถึงภาพรวมของมิตซูบิชิว่า… “สำหรับยอดขายรถยนต์ของมิตซูบิชิ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 10,133 คัน เพิ่มขึ้น 14.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ครองส่วนแบ่งการตลาด 4.9% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นยอดขายปิกอัพรุ่นไทรทันถึง 9,010 คัน”

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดรถยนต์และตัวมิตซูบิชิเอง จะเติบโตเป็นตัวเลขถึงสองหลัก แต่อิมาอิยังประเมินตัวเลขตลอดทั้งปีค่อนข้างระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยเห็นว่าแม้ที่ผ่านมาตลาดรถยนต์จะเติบโต แต่คาดว่าถึงสิ้นปียอดขายรวมอาจเพิ่มขึ้นเพียง 2%-5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (6.3 แสนคัน) สาเหตุมาจากผลกระทบราคาน้ำมันแพง อาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูง ยังเป็นปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วง

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้มิตซูบิชิตั้งเป้ายอดขายทั้งปี(ไม่รวมรถบรรทุก) ไว้ 27,000 คัน ใกล้เคียงปีที่แล้ว โดยแผนงานที่มิตซูบิชิจะต้องทำต่อเนื่อง และถืองานหลักคือการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการและการขาย แต่จะยังไม่มีแผนเพิ่มดีลเลอร์ และโชว์รูมในปีนี้ ขณะเดียวกันยังเน้นกิจกรรมการตลาดแบบเข้าถึงตัวลูกค้าในแต่ละพื้นที่ให้บ่อยขึ้น เพราะถ้ามีการติดต่อกับลูกค้าเยอะ ย่อมมีโอกาสขายเยอะ
มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ใหม่
2 เดือนชี้ชะตา ‘แลนเซอร์’ โฉมใหม่

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะแนะนำสู่ตลาด นอกจากเอสยูวีหรูรุ่นปาเจโรที่เปิดตัวไปแล้ว อิมาอิบอกว่าในไตรมาสสุดท้ายมิตซูบิชิจะเปิดตัวรถพีพีวีรุ่นใหม่ ที่ใช้พื้นฐานจากปิกอัพไทรทัน ซึ่งเป็นรถที่สวยมาก ทั้งภายนอกภายในหรูหราสง่างามเฉกเช่นเดียวกับเอสยูวี ไม่มีกลิ่นไอของปิกอัพอยู่เลย และยืนยันว่าไม่ใช้ชื่อ “จี-แวกอน” แน่นอน

เมื่อถามถึงแผนเกี่ยวกับเก๋งคอมแพ็กต์รุ่นหลักอย่าง มิตซูบิ แลนเซอร์ โฉมใหม่ ที่เปิดตัวทำตลาดไปในหลายประเทศแล้ว ขณะที่ตลาดในไทยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้แต่อย่างใด อิมาอิอธิบายในเรื่องนี้ว่า…

ในประเทศไทยการทำตลาดแลนเซอร์ โฉมใหม่ หากสามารถแข่งขันได้จะต้องประกอบภายในประเทศ หรือซีเคดี (CKD) เท่านั้น แต่การขึ้นไลน์ผลิตรถโมเดลใหม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ขณะเดียวกันสถานการณ์ของบริษัทแม่ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น (MMC) ยังไม่เข้าที่เข้าทางนัก ดังนั้นการลงทุนจึงต้องตัดสินใจให้ดี

“ประเด็นต้องมองว่าลงทุนไปแล้วขายได้ไหม ถ้าขายได้คุ้มทุนก็จบ และถ้าประมาณคร่าวๆ ยอดขายในประเทศควรอยู่ระดับ 500-600 คันต่อเดือน หรือประมาณ 5,000-6,000 ต่อปี ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทยถือว่าหินพอสมควร เพราะคู่แข่งรายใหญ่อย่าง โตโยต้า อัลติส หรือฮอนด้า ซีวิค นั้นมีความแข็งแกร่งมาก ซึ่งเราทำแล้วต้องมั่นใจว่าแข่งขันได้ ทั้งนี้ภายใน 2 เดือนคงจะได้ข้อสรุปว่า จะทำตลาดแลนเซอร์ โฉมใหม่ ในไทยหรือไม่ และถ้ามีการทำตลาดจริงก็คงไม่ใช่ในปีนี้แน่นอน”

เตรียมลุยเครื่องยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวี

อย่างไรก็ตาม มิตซูบิชิมีแผนผลักดันยอดขาย แลนเซอร์ ในไทยตลอดเวลา ทั้งการปรับเปลี่ยนหน้าตา การปรับเครื่องยนต์ให้รองรับน้ำมันแก็สโซฮอล์ E20

“ล่าสุดเราได้เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค ด้วยการติดตั้งระบบใช้ก๊าซธรรมชาติซีเอ็นจี หรือเอ็นจีวีในไทย สำหรับเก๋งคอมแพกต์ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ในราคาเท่ากับรุ่นปกติที่ขายอยู่ขณะนี้ พร้อมยังให้การรับประกันจากบริษัท ซึ่งปัจจุบันได้ทำอยู่เงียบๆ ในรูปแบบ ‘ดีลเลอร์ออปชัน’ ไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่หลังจากได้การรับรองจากบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนกันยายนนี้จะเริ่มประชาสัมพันธ์ทำตลาดอย่างจริงจัง โดยบริษัทคาดหวังยอดขายประมาณ 100-200 คันต่อเดือน”

สำหรับความคืบหน้าในการร่วมทำโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์ ของมิตซูบิชิ อิมาอิบอกว่าหลังจากยื่นขอร่วมโครงการไปแล้ว ขณะนี้ก็ได้รับแต่ข่าวคราวจากทางหน้าหนังสือพิมพ์ที่รายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม สุวิทย์ คุณกิตติ ได้บอกว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ผ่านการอนุมัติโครงการของ 3 บริษัท คือ มิตซูบิชิ, โตโยต้า และทาทา ตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้มิตซูบิชิยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการเลย อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับการยืนยันชัดเจนจากบีโอไอ คาดว่าจะต้องมานั่งทบทวนแผนอีโคคาร์ใหม่ทั้งหมด

“เหตุที่ต้องกลับมาทำการศึกษาใหม่ เพราะเรื่องที่ยื่นไปกินเวลาเกิน 6 เดือนแล้ว ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาสภาพตลาดเปลี่ยน สถานการณ์บริษัทแม่ (MMC) เปลี่ยน ข้อมูลจากแผนกวิจัยและพัฒนาก็เปลี่ยน ดังนั้นทำให้เราต้องกลับมานั่งทบทวนอีกครั้ง และคาดว่าอีก 3-4 ปี รถอีโคคาร์ของมิตซูบิชิถึงจะทำตลาดได้”

หลังจากรับทราบแผนงานต่างๆ ในไทยแล้ว เมื่อถามถึงการส่งออกรถยนต์จากไทย ซึ่งถือว่ามิตซูบิชิเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกรายใหญ่ อิมาอิกล่าวว่ายอดส่งออกของมิตซูบิชิเติบโตขึ้นทุกปี โดยปีนี้คาดว่าจะส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) 150,000 คัน ชิ้นส่วน (CKD) อีก 30,000 ชุด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 12% ซึ่งการส่งออกเกือบทั้งหมดเป็นปิกอัพไทรทัน(L200) ที่เหลือเป็น แลนเซอร์ และสแปซแวกอน ที่ยังมีการส่งออกบ้างในกลุ่มอาเซียน

“ความสำเร็จด้านการส่งออกเป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานแหลมฉบัง เป็น 2 แสนคัน ที่สำคัญปิกอัพไทรทันยังได้การตอบรับเป็นอย่างดีใน 140 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันตลาดในรัสเซีย และยุโรปตะวันออก ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น”

แนะรัฐเรื่องแผนพลังงานต้องชัดเจน

เมื่อถามความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของรัฐบาล รวมถึงเรื่องพลังงานทางเลือก อิมาอิเห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์มาตลอด ซึ่งมิตซูบิชิเองก็พร้อมสนับสนุนนโยบายต่างๆ อย่างเต็มที่ แต่ที่อยากฝากไว้คงเป็นเรื่อง ขยายการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี ทั้งรูปแบบทวิภาคี และพหุภาคี ซึ่งจะเอื้อประโยชน์กับการนำเข้ารถยนต์ เพราะปัจจุบันภาษีนำเข้ายังสูงมาก ทำให้ลูกค้าไทยพลาดโอกาสได้รถ CBU น่าสนในหลายรุ่น

ส่วนนโยบายพลังงานทดแทนที่รัฐบาลผลักดันออกมาหลากหลายทั้ง แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล หรือก๊าซธรรมชาติซีเอ็นจีนั้น มิตซูบิชิมีความเห็นด้วย เพราะจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เพื่อป้องกันความสับสน

“อยากจะฝากให้รัฐบาลมองนโยบายพลังงานเป็นแผนระยะยาว และแนวทางที่ชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลงไปมา ส่วนเรื่องการผลักดันแก็สโซฮอล์ อี85 ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ส่วนตัวแล้วสนับสนุน แต่อยากให้รัฐบาลตระหนักถึงระยะเวลาและเงินที่ต้องใช้ ลงทุน เนื่องจากรถยนต์ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เพื่อรองรับน้ำมันดังกล่าว”

นั่นคือการตอบจริงของบิ๊กบอสค่ายตราเพชร “มิตซูบิชิ” ในไทย แม้จะไม่ถึงกับเปิดเผยรายละเอียดหมดทุกซอกทุกมุม แต่คงพอจะทำให้เข้าใจทิศทางและแนวทางของมิตซูบิชิ ที่จะก้าวเดินต่อไปได้ในระดับหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น