จากกรณีเจ้าของธุรกิจสัญญาณกันขโมย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับนายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เรื่องซื้อรถบีเอ็มดับเบิลยู เอ็กซ์ 3 (BMW X3) ราคา 3.8 ล้านบาท จาก ยูโรป้า มอเตอร์ ผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการของบีเอ็มดับเบิลยู แต่หลังนำไปใช้แล้วพบปัญหามากมาย (อ่านข่าว นักธุรกิจสาวโวย ซื้อรถ BMW ปัญหาเพียบ ขู่ทุบประจานหน้าโชว์รูมใหญ่)
ล่าสุด บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ออกชี้แจงข้อมูลว่า ตามข้อกล่าวหาของนางสาว พิณพรรณ วีรวิทย์ ที่กล่าวอ้างและเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีรถ BMW X3 ชำรุดบกพร่อง และขอให้บีเอ็มดับเบิลยูรับซื้อคืน โดยใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับโชคอัพของรถแข็งกระด้าง วัสดุหุ้มผิวของอุปกรณ์ภายในบริเวณช่องกุญแจหลุดลอก และฟีเจอร์ Cruise Control ระบบตั้งความเร็วไม่ปลดล็อค เมื่อมีการแตะเบรคนั้น บริษัทขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
- ลูกค้าซื้อรถในงานบางกอก มอเตอร์โชว์เมื่อปี 2007 และจนถึงช่วงเวลานี้ รถผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 21,000 กิโลเมตร (ขณะที่ลูกค้าเริ่มการร้องเรียน รถผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 7,000 กิโลเมตร)
- บีเอ็มดับเบิลยูได้แสดงความรับผิดชอบและมอบบริการหลังการขายอย่างเต็มที่ให้กับลูกค้าโดยได้ตรวจสอบโชคอัพของรถและทดสอบการทำงานของฟีเจอร์ Cruise Control ปรากฏว่า โชคอัพของรถเป็นไปตามลักษณะของรถ Sport Activity Vehicle หรือ รถขับเคลื่อนสี่ล้อเอนกประสงค์ในตลาดทั่วไป เช่นเดียวกับ ฟีเจอร์ Cruise Control ที่ทำงานเป็นปกติ คือ เมื่อมีการเหยียบเบรคเพื่อปลดล็อค รถจะลดความเร็วลงตามลำดับ ขึ้นอยู่กับอัตราความเร็วที่ตั้งไว้ของ Cruise Control
- ในส่วนสีหลุดลอกนั้น บีเอ็มดับเบิลยูตรวจพบว่า เป็นสารเคลือบแบบสูดน้ำ เพื่อความคงทนของวัสดุและเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาสภาพแวดล้อมของยุโรป
- กรณีลูกค้านำรถเข้าไปซ่อมทั้ง 12 รายการนั้น ไม่มีค่าใช้จ่าย และเป็นไปตามเงื่อนไขของ BMW Service Inclusive ซึ่งเป็นแพคเกจการให้บริการและบำรุงรักษาตลอดระยะเวลา 5 ปี หรือ หนึ่งแสนกิโลเมตร (อย่างใดอย่างหนึ่งมาถึงก่อน) ผ่านทางผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการของบีเอ็มดับเบิลยู
- ระหว่างที่ลูกค้านำรถไปตรวจสอบและส่งซ่อม บีเอ็มดับเบิลยูมีรถทดแทนให้ใช้เป็นกรณีพิเศษ
- บีเอ็มดับเบิลยูให้ความร่วมมือตามกระบวนการของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในกรณีที่ลูกค้าได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ สคบ. ในกรณีดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สคบ. ได้มีคำสั่งให้นำรถไปตรวจสอบโดยหน่วยงานกลางที่สคบ. เป็นผู้กำหนด ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูรับที่จะเป็นผู้จ่ายใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ ทั้งสองฝ่ายรอวันนัดเพื่อนำรถเข้าตรวจสอบ ผลการตรวจสอบจะถูกนำเสนอไปให้คณะกรรมการของสคบ. ในลำดับต่อไป
- ลูกค้าเรียกร้องที่จะให้บีเอ็มดับเบิลยูคืนค่าผ่อนจ่ายรถที่ลูกค้าจ่ายมาแล้ว 9 งวด รวมทั้ง คืนเงินดาวน์ และเรียกร้องค่าเสียหายอีกเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท รวมทั้งยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่สามารถรับข้อเสนอได้
ล่าสุดแหล่งข่าวจากบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ทุกอย่างเป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อโดยถึงวันนี้บริษัทยินดีซื้อรถคันดังกล่าวคืนตามราคารับซื้อกลาง ณ วันที่ 8 เมษายน 2551 อ้างตามมาตรฐาน Red Book ด้วยจำนวนเงิน 2.313 ล้านบาท(ขณะที่วงเงินปิดสัญญาอยู่ที่ 2.6 ล้านบาท) พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยให้จำนวนหนึ่ง เท่ากับว่าลูกค้าต้องจ่ายค่าปิดสัญญาอีกประมาณ 3 แสนบาท