xs
xsm
sm
md
lg

จีเอ็ม-เชฟโรเลต จากรถม้าสู่มหาอำนาจรถยนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ “จีเอ็ม” ผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายทั่วโลกมากเป็นอันดับ 1 มานานถึง 76 ปี และแม้ยอดขายล่าสุดในปี 2007 ที่ผ่านมา จะทำได้เกือบๆ 9.37 ล้านคัน ใกล้เคียงกับตัวเลขของโตโยต้าที่ประกาศว่ามีจำนวนถึง 9.37 ล้านคัน(รายละเอียดไม่มีค่ายใดเปิดเผย) จึงทำให้ผู้สันทัศกรณีต่างยกให้ศึกนี้เสมอกัน และต้องตามต่อไปว่าปีนี้ตำแหน่ง "เจ้ารถยนต์โลก" จะยังเป็นแชมป์เก่า หรือผู้ท้าชิง

สำหรับจีเอ็ม บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีแบรนด์ในเครือมากมาย อาทิ เชฟโรเลต แคดิลแล็ก บิวอิก แซทเทิร์น ปอนเที๊ยก ฮัมเมอร์ จีเอ็มซี ซาบ ซึ่งปัจจุบันผลิตรถออกมาวิ่งบนท้องถนนรวมกัน น่าจะมากกว่าพันล้านคันแล้ว
ขณะเดียวกันความภาคภูมิใจกับ อาคารเรเนอซอง เซ็นเตอร์ (Renaissance Center) ฐานบัญชาการสำคัญ ในดีทรอยท์ รัฐมิชิแกน รวมทั้งอีก 11 สถาบันการออกแบบรถยนต์ ศูนย์การผลิตรถยนต์มาตรฐานโลกอีกกว่า 30 แห่งทั่วโลกนั้น แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของ "จีเอ็ม" ซึ่งถึงปีนี้ก็นับเป็นเวลา 1 ศตวรรษพอดี

จีเอ็ม เริ่มต้นขึ้น โดยการนำของ วิลเลียม คราโป ดูแรนท์ (William Crapo Durant) เจ้าของบริษัทผลิตรถม้า ดูแรนท์ ดอร์ท แคร์ริเอจ (Durant-Dort Carriage Company) ผู้ที่เข้ามาถือครองบริษัทรถยนต์บิวอิก (Buick) พร้อมก่อตั้งบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors Company) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 1908 ซึ่ง บิวอิก ก็คือ แบรนด์แรกที่เข้ามาอยู่ในจีเอ็ม ก่อนที่ดูแรนท์จะเริ่มรวบรวมบริษัทรถยนต์อื่นๆ เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มของจีเอ็ม

โดยแบรนด์ที่ 2 ก็คือ โอลด์สโมบิล (Oldsmobile) ที่ขายหุ้นบริษัท โอลด์ส มอเตอร์ เวิร์ค (Olds Motor Works) ทั้งหมดให้กับจีเอ็ม เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 1908

การรวบรวมกิจการรถยนต์ของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ยังคงดำเนินต่อไป ในกลางปี 1909 จีเอ็มเริ่มขยายตัวมากขึ้นด้วยการเข้าซื้อหุ้นครึ่งหนึ่งของ บริษัท โอ๊คแลนด์ มอเตอร์ คาร์ (Oakland Motor Car) ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 23 ปี ในการซื้อหุ้นของโอ๊คแลนด์ มอเตอร์ คาร์ ได้ทั้งหมด ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “พอนติแอค” (Pontiac) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ปอนเตี๊ยก”

คาดิลแล็ค (Cadillac) เป็นสมาชิกรายที่สี่ของจีเอ็ม ในปี 1909 เช่นกัน เมื่อ เฮนรี เอ็ม เลแลนด์ (Henry M Leland) ขายกิจการ บริษัท คาดิลแล็ค ออโตโมบิล (Cadillac Automobile Company) แลกกับจำนวนเงิน 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งชื่อรถยนต์ Cadillac นี้มาจากการตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้กับ เลอซิเออร์ อองตัวน เดอ ลา มอธ คาดิลแล็ค (Le Sieur Antoine de la Mothe Cadillac) ผู้ก่อตั้งเมืองดีทรอยท์ ก่อนที่จะกลายมาเป็นเมืองแห่งการผลิตรถยนต์ที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดีในปัจจุบัน

นอกจากนี้ จีเอ็มยังเข้าซื้อกิจการของบริษัท แรพิด มอเตอร์ วีฮีเคิล (Rapid Motor Vehicle Company) จากเมืองพอนติแอค มลรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์ GMC ในปัจจุบัน และบริษัทรถบรรทุก รีไลแอนซ์ มอเตอร์ (Reliance Motor Truck Co.) จากเมืองโอวอสโซ (Owosso) โดยแรพิดเป็นรถบรรทุกรายแรกที่สามารถพิชิตเข้า Pikes Peak ได้ในปี 1909 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ วิลเลียม ดูแรนท์ ได้พบกับนักแข่งรถชื่อดังแห่งยุค เชื้อสายสวิส นาม หลุยส์ เชฟโรเลต (Louise Chevrolet) เพื่อร่วมกันสร้างรถยนต์ออกขายในราคาถูก

แม้บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ในปัจจุบันจะเป็นบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก แต่หนทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบมาตั้งแต่ต้นทาง ช่วงแรกเริ่มของการก่อตั้ง เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอมปานี อยู่ในสภาพที่ต้องเร่งรีบในการขยายกิจการ การรวบรวมแบรนด์ต่างๆ ของ วิลเลียม ดูแรนท์ ล้วนมาจากการกู้สินเชื่อจากธนาคาร เพื่อมาซื้อกิจการและหวังจะบริหารให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่ดูแรนท์คาดคิด เมื่อธนาคารต้องก้าวเข้ามารวบอำนาจในการบริหารบริษัทเพื่อไม่ให้จีเอ็มล้มละลาย ทำให้ วิลเลียม ดูแรนท์ ต้องวางมือจากการบริหารทั้งหมดในจีเอ็ม เพียงในปี 1910 เท่านั้น

ด้วยความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อและความหลงใหลในกิจการรถยนต์ของ วิลเลียม ดูแรนท์ จึงทำให้เขายังวนเวียนอยู่กับวงการรถยนต์ โดยหวังว่าวันหนึ่งเขาจะกลับไปนั่งแท่นบริหารงานในจีเอ็มได้อีกครั้ง และหลังจากนั้นเพียง 6 ปี วิลเลียม ดูแรนท์ ก็กลับขึ้นไปเป็นประธานบริษัทกุมบังเหียนจีเอ็มได้อีกครั้ง

วิลเลียม ดูแรนท์ โดยรถยนต์เชฟโรเลต ที่ตั้งให้เป็นเกียรติกับ หลุยส์ เชฟโรเลต ที่ทำให้เขาคืนสู่ตำแหน่งเดิมในจีเอ็มได้อีกครั้ง จากจุดเริ่มต้นในปลายปี 1911 ที่ วิลเลียม ดูแรนท์,หลุยส์ เชฟโรเลต, วิลเลียม ลิตเติล และเอ๊ดวิน แคมเบล ร่วมกันก่อตั้งบริษัทรถยนต์เชฟโรเลต ขึ้นในมิชิแกน โดยใช้ชื่อว่า Chevrolet Motor Company of Michigan

เชฟโรเลต เริ่มต้นผลิตรถรุ่นแรก คลาสสิก ซิก (Chevrolet Classic Six) ด้วยรูปแบบของรถยนต์ทัวริงซีดาน 4 ประตู 5 ที่นั่ง เครื่องยนต์ 6 สูบ 4.9 ลิตร ทำความเร็วได้ 104 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเริ่มออกสู่ตลาดในปี 1912

ดูแรนท์ยังมุ่งมั่นในการกลับไปทวงอำนาจในจีเอ็ม จึงก่อตั้งบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต แห่ง เดลาแวร์ Chevrolet Motor Company of Delaware ก่อนที่จะรวบกิจการของบริษัทหลัก เชฟโรเลตในมิชิแกนเข้าไว้ด้วยกันในปี 1915 และในปีนี้เอง ปิแอร์ เอส ดูปองต์ (Pierre S. du Pont) ได้รับเลือกให้เป็นประธาน (Chairman) ของจีเอ็ม ทำให้ วิลเลียม ดูแรนท์ ได้กลับเข้าสู่อำนาจในจีเอ็มอีกครั้ง

หลังจากตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มเติมครั้งใหญ่นับตั้งแต่เขาออกมาจากจีเอ็ม และได้รับเงินปันผลถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น และเพียงปีเดียวดูแรนท์ก็ทวงความยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ พร้อมประกาศว่า เชฟโรเลตได้ถือหุ้นของจีเอ็มมากถึง 54.5 % นั่นทำให้เขาได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งประธานสูงสุด (President) ของจีเอ็มแทน ชาร์ลส์ ดับเบิลยู แนช (Charles W. Nash) ซึ่งดำรงตำแหน่งในระหว่างปี 1912 – 1916

สำหรับรถยนต์เชฟโรเลตนั้น เริ่มใช้สัญลักษณ์โบว์ไท (Bowtie) เป็นครั้งแรกในปี 1913 ซึ่งมีตำนานเล่าขานถึงสัญลักษณ์โบว์ไทนี้ออกเป็น 2 เรื่อง ว่าที่มาของโบว์ไทนั้นถูกออกแบบจากลายวอลเปเปอร์ที่ วิลเลียม ดูแรนท์ ไปเห็นที่โรงแรมแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส

แต่อีกตำนานก็บอกว่า เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกดัดแปลงมาจากสัญลักษณ์กากบาทบนธงชาติสวิตเซอร์แลนด์ เพราะว่า หลุยส์ เชฟโรเลต เป็นนักแข่งรถชาวสวิส

และทั้งหมดนี้ก็คือ จุดเริ่มต้นของจีเอ็ม และจุดกำเนิดของแบรนด์ เชฟโรเลต รถยนต์ที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น