xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย‘อีโคคาร์’สู่อนาคตรถธงตัวใหม่ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จำนวน 7 ยี่ห้อ ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ “อีโคคาร์” นับว่าเป็นความสำเร็จเกินคาดของผู้ที่ผลักดันและเกี่ยวข้อง เพราะก่อนหน้านี้ต่างหวังแค่เพียงมี 3 ค่าย เข้าร่วมก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ฉะนั้นการที่อีโคคาร์สามารถแจ้งเกิดได้ และเตรียมนับถอยหลังอีกเพียง 2-3 ปี อีโคคาร์ก็จะกลายเป็นโปรดักซ์แชมเปียนคู่กับปิกอัพในไทย

เหตุนี้ตลอดการเดินทาง 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงน่าย้อนรอยกลับไปดูอีกครั้งว่า อีโคคาร์นับตั้งแต่เริ่มเกิดเป็นแนวคิด ได้ผ่านการผลักดัน ถูกสกัดขัดขวาง และมีอุปสรรคอีกจิปาถะอะไรบ้าง ก่อนที่จะมาแจ้งเกิดได้สำเร็จภายในปีหมูไฟ และยังเป็นการทำคลอดของรัฐบาลที่ได้ชื่อว่า “เกียร์ว่าง” แถมอยู่ภายใต้เงาท็อปบู๊ตอีก แต่ที่สุดกลับเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย!!

กำเนิดอีโคคาร์เป็นรถราคาต่ำ

โครงการ “อีโคคาร์” (Eco Car) เริ่มก่อเกิดเมื่อประมาณปลายปี 2546 และถูกนำมาผลักดันชัดเจนในเดือนมกราคม 2547 แต่นิยามหรือความหมายของอีโคคาร์เวลานั้น ไม่ใช่รถประหยัดพลังงานเช่นปัจจุบัน ที่มาจากคำว่า Ecology Car แต่มาจากคำว่า Economy car หรือรถราคาประหยัด อันมาจากแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น

โดยได้ยกมาจากโมเดลโครงการ “เอื้ออาทร” ที่ทำให้รัฐบาลทักษิณได้รับความนิยมจากประชาชน จนถูกนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการรถยนต์ประเภทใหม่ เพื่อเป็นโปรดักซ์แชมเปี้ยนคู่กับ “ปิกอัพ” ตามแผนยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย ที่วางเป้าหมายประเทศไทยจะต้องผลิตรถให้ได้ 1.8 ล้านคัน ในปี 2553

“กรอบคร่าวๆ ของอีโคคาร์เบื้องต้น จะเป็นรถที่มีราคาประหยัด 2.8-3.5 แสนบาท โดยคนไทยทั่วไปสามารถผ่อนได้เพียงเดือนละ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผู้ที่มีรายได้เพียงหมื่นบาทต่อเดือนก็สามารถผ่อนได้”
ชัดเจนถึงความหมายของอีโคคาร์ ซึ่งเปิดเผยโดย “วัชระ พรรณเชษฐ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่ดูแลยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย และเป็นประธานโครงการอีโคคาร์

โดยมี “วัลลภ เตียศิริ” ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ร่วมปลุกปั้นอีโคคาร์ตั้งแต่เริ่มต้น โดยผ่านคณะกรรมยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มี “พินิจ จารุสมบัติ” รัฐมนตรีว่าการะทรวงอุตสาหกรรมกุมทิศทางทั้งหมด

วิกฤตน้ำมันสู่ Ecology Car

เมื่อสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง เมื่อราคาน้ำมันแพงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จึงมีการมองหาพลังงานทดแทนเข้ามาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ในรายละเอียดตามกรอบคร่าวๆ ของอีโคคาร์ต่อมา ได้มีเรื่องของเรื่องของการประหยัดพลังงาน และมลพิษต่ำบวกเข้ามาด้วย
นั่นคืออีโคคาร์จะต้องมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ต่ำกว่า 20 กิโลเมตรต่อลิตร

และสามารถใช้พลังงานทดแทนอย่างเอทานอลได้ แต่เพื่อให้อิสระในการพัฒนาเทคโนโลยี จึงไม่มีการกำหนดขนาดของเครื่องยนต์ จากกรอบเหล่านี้ทำให้อีโคคาร์มีความหมายเป็น Ecology Car หรือรถประหยัดพลังงานไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม อีโคคาร์เป็นชื่อที่หลายประเทศใช้เรียกโครงการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานของตนเอง ดังนั้นเพื่อไม่ให้ชื่อโครงการซ้ำซ้อน ดร.วัชระได้ตั้งชื่ออีโคคาร์ใหม่ว่า “The Best Little Car”

พร้อมกันนี้ได้กำหนดกรอบที่ลงไปในรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ด้าน คือ เป็นรถที่มีความคล่องตัว มิติของตัวถังจึงไม่ใหญ่มากนัก และต้องลดการใช้พลังงาน รวมถึงมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นที่มาของ การกำหนดกรอบสเปกของอีโคคาร์ (ขอเรียกอีโคคาร์ตามที่คนทั่วไปเรียกกันแทนเดอะ เบสต์ ลิตเติล คาร์)

โดยอีโคคาร์จะต้องมีมิติตัวถัง ความกว้างไม่เกิน 1.6 เมตร และความยาวไม่เกิน 3.6 เมตร ต้องประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงไม่ต่ำกว่า 5.6 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร และผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ 4 ของยุโรป หรือEURO 4 ซึ่งเป็นมาตรฐานไอเสียระดับสูงสุดของยุโรปปัจจุบัน และสุดท้ายรถจะต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ECE ของยุโรป

ส่วนเรื่องของขนาดเครื่องยนต์ มีการถกเถียงกันพอสมควรว่า จะกำหนดขนาดเครื่องยนต์หรือไม่ แต่ที่สุดคณะกรรมการยุทศาสตร์ยานยนต์ไทยได้ข้อสรุปว่า การกำหนดขนาดเครื่องยนต์ ไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ใหม่ๆ เหตุนี้จึงได้ตัดประเด็นนี้ออกไป โดยบริษัทรถจะผลิตเครื่องยนต์เท่าไหร่ก็ได้ ขอให้มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง หรือตรงตามกรอบสเปกที่กำหนดเท่านั้นก็พอ

ฮอนด้าหนุน- โตโยต้าขวาง

ผลจากการประกาศสเปกอีโคคาร์ นับว่าได้รับการตอบรับอย่างมากจากหลายค่ายรถ ไม่ว่าจะเป็น ฮอนด้า, ซูซูกิ และเกีย โดยเฉพาะค่าย “ฮอนด้า” ที่ได้มีวางแผนที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถเล็ก ทั้งเพื่อทำตลาดในประเทศและส่งออก ตั้งแต่โครงการอีโคคาร์ยังไม่ได้เริ่มเป็นรูปร่างกันเลยทีเดียว

ขณะที่หลายค่ายแสดงความสนใจอีโคคาร์ แต่ “โตโยต้า” ค่ายรถยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของไทย กลับมีทีท่าไม่ตอบรับโครงการอีโคคาร์นัก โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกำหนดสเปกมิติตัวถัง หลังจากได้ชัยชนะเรื่องของการกำหนดเครื่องยนต์ไปแล้ว

“โตโยต้าพร้อมสนับสนุนโครงการอีโคคาร์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดมิติตัวถัง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการขัดขวางการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ใหม่ๆ เพราะวัตถุประสงค์ของอีโคคาร์ เป็นเรื่องของรถประหยัดพลังงาน ฉะนั้นการกำหนดอัตราสิ้นเปลืองย่อมควบคุมอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องที่จะมาขีดเส้นจำกัดขนาดตัวถังเช่นนี้”

การออกโรงขวางของค่ายยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ด้วยการอ้างเหตุผลเรื่องกรอบของสเปก ซึ่งจำกัดเทคโนโลยีการผลิตจนเกินไป ทำให้โครงการอีโคคาร์แทนที่จะเดินหน้าแจ้งเกิดได้อย่างราบรื่น กลับต้องใส่เกียร์ต่ำแถมบางทีแตะเบรกหัวทิ่มเอาซะดื้อๆ จนกระทั้งรัฐบาลทักษิณ1 ครบกำหนดวาระ 4 ปีไปในที่สุด โครงการอีโคคาร์ก็ยังไปไม่ถึงไหน

หลังการเลือกตั้งใหม่ในต้นปี 2548 ผ่านพ้นไป พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำพรรคไทยรักไทยเข้าสภา และได้เปลี่ยนเสนาบดีคุมกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่เป็น “วัฒนา เมืองสุข” พร้อมกับเปลี่ยนชื่อโครงการอีโคคาร์เป็น “ACEs CAR”

โดยอ้างเหตุผลว่า ต้องการบ่งบอกนิยามของรถ ที่มีความคล่องตัว สะอาด ปลอดภัย และราคาประหยัดคุ้มค่าราคา ซึ่งมาจากคำว่า Agile, Clean, Economical และ Safety ที่รวมกันเป็น ACEs CAR

นั่นคือความคืบหน้าภายใต้การบริหารของเสนาบดีคนใหม่ แต่เรื่องอื่นๆ กลับไม่มีอะไรชัดเจนนัก ยิ่งเมื่อทัพผู้บริหารของโตโยต้ายกขบวนเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ทำให้กรอบอีโคคาร์ หรือชื่อใหม่ ACEs CAR ได้เปลี่ยนแปลงเป็นในรูปของการประนีประนอมแทน

“ACEs CAR หรือรถยนต์เล็กประหยัดพลังงาน ได้มีการสรุปสเปกใหม่ให้มีความกว้าง 1.63 เมตร ยาว 3.6 เมตร มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 5 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร ขณะที่มาตรฐานมลพิษยังคงอยู่ที่ระดับ 4 และมาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกับยุโรป ซึ่งราคาน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5 – 4.0 แสนบาท”

นั่นคือคำกล่าวของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ซึ่งว่ากันว่าเป็นสเปกที่หาจุดที่คาดกันว่าลงตัวที่สุด นั่นคือขยายมิติตัวถังให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ยักษ์ใหญ่ได้มีโอกาสปรับตัวหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีในตลาดต่างประเทศ เข้าร่วมโครงการอีโคคาร์ได้

สรรพสามิตหวั่นรายได้วูบ

การปรับสเปกใหม่ขออีโคคาร์ใช่ว่าจะทำให้ทุกอย่างจบ เพราะยังมีกรมสรรพสามิตผู้มีบทบาทสำคัญอีกฝ่าย ที่จะทำให้โครงการอีโคคาร์แจ้งเกิดได้หรือไม่?

เพราะอีโคคาร์ถึงจะมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การส่งออก แต่สิ่งที่จะช่วยผลักดันให้มีปริมาณการผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุน (Economy of Scale) บรรดาผู้ประกอบการต่างจ้องไปตลาดในประเทศเป็นสำคัญ และการที่จะทำให้รถยนต์เล็กประหยัดพลังงานอย่างอีโคคาร์ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค จำเป็นต้องมีราคาที่จูงใจ หรือที่ประมาณ 3.5 –4.0 แสนบาท เพื่อให้แตกต่างจากรถซับคอมแพ็กต์ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า วีออส, ฮอนด้า ซิตี้ และแจ๊สในขณะนั้น

นั่นย่อมหมายความว่า อีโคคาร์จะต้องได้รับแต้มต่อ จากการลดภาษีสรรพสามิตให้เหลือเพียงประมาณ 10% เท่านั้น!! และเป็นอัตราที่ค่ายรถต่างเรียกร้องอย่างมาก
เรื่องนี้จึงกลายเป็นปมปัญหาสำคัญมาก เพราะกรมสรรพสามิตจะต้องคิดให้รอบคอบ แม้ที่ผ่านมาจะมีการส่งสัญญาณจาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รัฐมนตรีว่าการะทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานกำกับกรมสรรพสามิต แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีคนใหม่ก็ยังมีการเปิดไฟเขียวกันอยู่

เพียงแต่สิ่งที่กรมสรรพสามิตต้องคำนึง อยู่ที่รายได้จากการจัดเก็บภาษี ซึ่งหากให้แต้มต่อมากกว่ารถประเภทอื่นๆ เพื่อให้อีโคคาร์แจ้งเกิดได้ จำเป็นต้องลดภาษีลงมา แต่อาจจะต้องส่งผลกระทบต่อรถยนต์ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และมียอดจำหน่ายสูงอยู่แล้ว อย่างโตโยต้า วีออส, ฮอนด้า ซิตี้ และแจ๊ส ซึ่งปัจจุบันเสียภาษีอยู่ที่ 30%

ดังนั้นหากอีโคคาร์ส่งผลกระทบต่อรถเล็กเหล่านี้ แน่นอนรายได้จากการเก็บภาษีตรงนี้ก็ต้องลดลงไปด้วย นี่จึงเป็นปมปัญหาใหญ่ของกรมสรรพสามิตที่จะต้องคิดให้รอบคอบว่า คุ้มหรือไม่? กับการยอมแลกเพื่อให้เกิดอีโคคาร์!!

‘สุริยะ’ ปิดทางเกิดอีโคคคาร์
ขณะที่อีโคคาร์ยังคงวนเวียนไปไม่ถึงไหน รัฐบาลทักษิณ2 เพิ่งผ่านไปได้เพียงแค่ครึ่งปีแรกเท่านั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้ง และคราวนี้เป็นคนในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์แท้ๆ……
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” จากเครือข่ายของกลุ่ม “ไทยซัมมิท” ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของไทย และมีสายสัมพันธ์อันดีกับค่ายรถหลายยี่ห้อ โดยเฉพาะโตโยต้าที่ว่ากันว่า เป็นลูกค้ารายใหญ่ของกลุ่มไทยซัมมิท
แม้ช่วงแรกสุริยะจะตีกรรเชียงออกห่าง ไม่มีความเห็นชัดเจนเกี่ยวกับโครงการอีโคคาร์นัก แต่ที่สุดเมื่อถึงจุดที่จะต้องตัดสินใจ และส่วนใหญ่พอจะเดาคำตอบออกอยู่แล้ว แต่ทันทีที่มีคำแถลงชัดเจนก็ทำเอาช็อกไปเหมือนกัน
“จากการพิจารณาโครงการรถประหยัดพลังงาน หรือ ACEs CAR ของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว พบว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องผลักดันโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย จากนี้ไปอีก 4-5 ปีข้างหน้า ยังมีความเชื่อมั่นว่าจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักต่อเนื่อง ดังนั้นควรจะให้สำคัญกับผู้ประกอบการที่จะขยายการลงทุน รวมถึงสนับสนุนให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยมีความแข็งแกร่งสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้มากกว่า”
นั่นคือคำแถลงของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกับแสดงท่าที่ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการอีโคคาร์ หรือ ACEs CAR ชัดเจน

รัฐบาลเกียร์ว่างแจ้งเกิด

ตั้งแต่นั้นมาโครงการอีโคคาร์ก็ถูกเก็บเข้าไว้ในลิ้นชัก จนกระทั้งรัฐบาลทักษิณ 2 ต้องปิดฉากลงไป ทั้งที่บริหารประเทศมาได้เพียงปีเดียว จากเข้ายึดอำนาจของทหาร ภายใต้การนำของ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงานแทน นำโดย “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” นายกรัฐมนตรี และมี “นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์” เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม

โครงการอีโคคาร์จึงกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้ง (อ่านข่าว"อีโคคาร์"ดึงเงินลงทุนทะลุสี่หมื่นล้านประกอบ)
และมีบริษัทรถยนต์ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตโครงการอีโคคาร์ 7 ยี่ห้อ ได้แก่ ฮอนด้า ซูซูกิ และนิสสัน ซึ่งได้รับการอนุมัติส่งเสริมไปแล้ว และมีอีก 4 ยี่ห้อที่เพิ่งยื่นไปวันสุดท้ายของกำหนดปิดรับ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือ โตโยต้า โฟล์คสวาเกน ทาทา และมิตซูบิชิ

แม้จะยังไม่สรุปว่า บีโอไอจะอนุมัติการส่งเสริมครบทั้ง 7 ยี่ห้อหรือไม่? แต่สำหรับ “อีโคคาร์” ได้กลายเป็นรถยนต์ตัวธงของไทย ที่จะผงาดขึ้นมาคู่กับปิกอัพอย่างแน่นอน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านับจากนี้ไป!!
กำลังโหลดความคิดเห็น