จากรายงาน Harvey Nash/KPMG CIO Survey ประจำปี 2560 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเผยว่า 2 ใน 3 ขององค์กรต่างๆ (64%) กำลังปรับกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีให้รองรับสถานการณ์โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และมีองค์กรมากถึง 89% ที่รักษาระดับการลงทุน หรือเร่งลงทุนด้านนวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานมากขึ้น และมีองค์กรเกินกว่าครึ่ง (52%) ที่ลงทุนพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีให้มีความรวดเร็วและยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวให้รองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงได้
การวางแผนธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวนเป็นเรื่องยากสำหรับหลายองค์กร การกำหนดกลยุทธ์ดิจิทัลได้แทรกซึมและช่วยต่อยอดธุรกิจทั่วโลกให้ก้าวสู่มิติใหม่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จำนวนธุรกิจที่นำกลยุทธ์ดิจิทัลมาปรับใช้ในองค์กร มีเพิ่มขึ้นถึง 52% ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี และในองค์กรเหล่านั้นที่มีจำนวนประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายดิจิทัล (CIO) เพิ่มขึ้นถึง 39% ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินกลยุทธ์ดิจิทัลที่มีความซับซ้อนเป็นไปได้อย่างราบรื่น องค์กรส่วนใหญ่ระบุว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architect) มีบทบาทสำคัญในการบูรณาการด้านธุรกิจและเทคโนโลยีให้ตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ขององค์กร ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรที่มีทักษะทางด้านนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นถึง 26% เมื่อเทียบกับปี 2559
ช่องโหว่จากความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1 ใน 3 ของผู้บริหารด้านไอที (32%) ระบุว่า องค์กรของพวกเขาถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 45% จากปี 2556 และเพียง 1 ใน 5 ของผู้บริหารด้านไอที (21%) กล่าวว่า องค์กรของพวกเขามีการเตรียมความพร้อมรับมือกับการโจมตีไซเบอร์ในระดับที่ดี ซึ่งความเชื่อมั่นดังกล่าวลดลงจาก 29% ในปี 2557 และแม้ว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่ได้ตกเป็นข่าวพาดหัวหลายครั้ง อาทิ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry และ Petya ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้จะได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่แท้จริงแล้วภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นที่สุดเกิดจากการโจมตีโดยคนวงใน จาก 40% เป็น 47% ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
อัลเบิร์ต เอลลิส กรรมการผู้จัดการ ฮาร์วีย์ แนช กรุ๊ป กล่าวว่า ความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีเป็นความท้าทายมาโดยตลอด และผลการสำรวจในปีนี้เผยว่า กระบวนการดังกล่าวยิ่งทวีความยากยิ่งขึ้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ชะลอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คือภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยากที่จะคาดเดาได้ในบางครั้ง อย่างไรก็ดี ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีหลายท่านได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการผลักดันให้องค์กรของพวกเขาปฏิรูปเป็นดิจิทัลอย่างรวดเร็วและมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน CIO มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดย CEO และคณะกรรมการบริษัทจะมอบหมายให้ CIO ช่วยผลักดันและจัดการกับความซับซ้อน ภัยคุกคาม ตลอดจนมองหาโอกาสที่มีอยู่ในโลกดิจิทัล
ลิซ่า เฮนเนแกน ประธาน ที่ปรึกษาด้านการจัดการ ฝ่ายเทคโนโลยี เคพีเอ็มจี กล่าวว่า องค์กรทั้งหลายได้ก้าวข้ามผ่านยุคการกำหนดกลยุทธ์ และการถกประเด็นเกี่ยวกับดิจิทัล มาสู่ยุคของการลงมือปฏิบัติจริง ปัจจุบัน เราเห็นการใช้งานดิจิตัลอย่างจริงจังและกว้างขวาง องค์กรที่เรายกให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลกำลังดำเนินการอย่างจริงจัง ในการนำเทคโนโลยีและระบบงานอัตโนมัติมาใช้ในธุรกิจ ซึ่งรวมถึงในสายงานสนับสนุนธุรกิจโดยสร้างแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนองค์กร
ศิราภรณ์ จูฬเศรษฐ์ภักดี กรรมการบริหาร ฝ่ายการสื่อสารโทรคมนาคม สื่อและเทคโนโลยี เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจทีมีการทำงานที่มุ่งเน้นกระบวนการ อาทิ สาธารณูปโภค ขนส่ง สื่อสารโทรคมนาคม และเภสัชภัณฑ์ เริ่มนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่และแรงงานดิจิทัลมาใช้ ทั้งยังได้นำหุ่นยนต์กระบวนการทำงานอัตโนมัติ ( Robotic Process Automation - RPA) และการใช้เทคโนโลยีด้านการคิดคำนวณเสมือนมนุษย์แบบอัตโนมัติ (Cognitive Automation) มาใช้ในธุรกิจ ทั้งนี้ เราจะเห็นบริษัทในภาคธุรกิจธนาคารและการเงิน ธุรกิจสื่อสาร โทรคมนาคม การกระจายภาพและเสียงและสื่อ ธุรกิจบริการทางวิชาชีพ และธุรกิจเทคโนโลยี มีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะลงทุนในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ปัจจุบันหลายองค์กรกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น และเริ่มต้นเส้นทางการปฏิรูปองค์กรให้เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
การปฏิรูปองค์กรเป็นดิจิทัล หรือ Digital transformation มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการปรับโฉมธุรกิจในทุกมิติ ทั้งนี้ ในการก้าวเข้าสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ องค์กรจะต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เพื่อหาทางรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการที่จะป้องกันและจัดการกับการโจมตีทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น องค์กรจำเป็นต้องคำนึงถึงการเพิ่มขีดความสามารถใน 3 ด้านไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ ประสิทธิภาพของบุคลากร ระบบ และเทคโนโลยี
Harvey Nash/KPMG CIO Survey ประจำปี 2560 เป็นการสำรวจผู้บริหารด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 19 โดยผลสำรวจเพิ่มเติมมีดังนี้
ความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลที่เปลี่ยนไป
— เกือบ 1 ใน 5 ของ CIO (18%) กล่าวว่า องค์กรของพวกเขามีกลยุทธ์ดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ
— CIO ในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มีแนวโน้มสูงกว่าถึง 2 เท่าที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ทั่วทั้งธุรกิจ (41% ต่อ 23%) และมีการลงทุนมากกว่าถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราการลงทุนขององค์กรที่ไม่ใช่ผู้นำด้านเทคโนโลยีการคิดคำนวณเสมือนมนุษย์แบบอัตโนมัติ (25% ต่อ 7%)
— ในภาพรวม พบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของ CIO ในองค์กรขนาดใหญ่ (61%) กำลังลงทุน หรือมีแผนการลงทุนด้านแรงงานดิจิทัล
CIO มีใจรักในงานที่พวกเขาทำ และมีแนวโน้มที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในระดับคณะกรรมการบริษัท
— CIO มีความพึงพอใจในหน้าที่การงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับ 3 ปี ที่ผ่านมา อยู่ที่ 39% เพิ่มขึ้นจาก 33% ในปี 2558
— เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ ที่มากกว่า 7 ใน 10 ของ CIO (71%) เชื่อว่า บทบาทของพวกเขามีการบริหารที่เป็นเชิงกลยุทธ์มากยิ่งขึ้น
— จำนวน 92% ของ CIO ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริษัทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
— อย่างไรก็ดี ตำแหน่ง CIO มีอายุการทำงานอยู่ที่ 5 ปี หรือน้อยกว่า (59%) แม้ว่า ผู้บริหารในตำแหน่งดังกล่าวหลายท่านมีความประสงค์ที่จะอยู่ทำงานต่อมากกว่านั้น
CIO หญิงได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น
— ในปีที่ผ่านมา CIO หญิงมีแนวโน้มที่จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น สูงกว่า CIO ชาย (42% และ 32% ตามลำดับ) ทั้งนี้ จำนวนผู้หญิงที่ทำงานในตำแหน่งผู้นำฝ่ายไอทียังมีจำนวนน้อย หรือคิดเป็น 9% ซึ่งเท่ากับปีที่ผ่านมา
การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ยังเป็นทักษะที่มีความต้องการมากที่สุด
— ขณะที่ ทักษะด้านเทคโนโลยีที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในปีนี้คือ ความสามารถด้านสถาปัตยกรรมองค์กร แต่การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและเชิงกว้างยังเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด คิดเป็น 42% ขึ้นมา 8% จากปีที่ผ่านมา
โปรเจคด้านไอทีที่มีความซับซ้อนมีความเสี่ยงด้านความล้มเหลวสูง
— 2 ใน 3 ของ CIO (61%) กล่าวว่า โปรเจคไอทีมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นจาก 5 ปีที่ผ่านมา และปัจจัยที่ส่งผลให้โปรเจคไอทีไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การไม่มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน (46%) การวางแผนการปฏิบัติงานที่ไม่ได้คำนึงถึงปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น (40%) และการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ไม่ชัดเจน (40%)
— มากกว่า 1 ใน 4 ของ CIO (27%) กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถในการบริหารจัดการโครงการ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โปรเจคล้มเหลว อย่างไรก็ดี ทักษะด้านการบริหารไม่ได้ติดอันดับในรายการทักษะของ CIO ที่ยังขาดแคลนในปี 2560 ซึ่งความต้องการนี้ลดลง 19% ภายใน 1 ปี