สัมมนาสงครามไซเบอร์ในยุค ศก.ดิจิตอล การพิจารณาเชิงยุทธศาสตร์ไทย มอง ไทยเสี่ยงสูงถูกโจมตีด้านไซเบอร์ “ประวิตร” ย้ำรับมือภัยคุกคามแบบใหม่ ปธ.กสทช. เผย ITU ระบุ ไทยเกณฑ์การรับมือต่ำกว่ามาตรฐาน มาเลเซียแซงหน้า หวัง กม. ผ่าน ตั้งองค์กรระดับชาติ นายกฯ เป็นประธาน เหล่าทัพร่วม คุมเข้มรับมือภัยคุกคาม
วันนี้ (3 ส.ค.) ที่ห้องพินิตประชานาถ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสเนื่องในวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560 หัวข้อ สงครามไซเบอร์ในยุคเศรษฐกิจดิจิตอลการพิจารณาเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหม หน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และ หน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าร่วม ทั้งนี้ ได้เชิญ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ นาย ริชาร์ด เอ. คลาก (Richard A.Clarke) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cyber Security และที่ปรึกษาของ ประธานาธิบดีสหรัฐฯมาหลายคน และเคยเข้าร่วมแก้ไขวิกฤติหลังจากเหตุสโนเดน มาบรรยายพิเศษด้วย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าในทางเทคโนโลยี สารสนเทศ และการเสื่อสาร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภัยคุกคามที่เรียกว่า สงครามไซเบอร์ ที่นับเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ให้ความสำคัญและตระหนักถึงภัยคุกคามต่างๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และ ความมั่นคง ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ และ ของโลก เชื่อว่า ข้อมูลจากวิทยากรที่มาให้ความรู้ระหว่างการสัมมนา ไปใช้ประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์สงครามไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา โลกให้ความสนใจเกี่ยวกับการระบาดของ มัลแวร์ Petya ที่โจมตีโครงสร้างพื้นฐานของประเทศยูเครน ในขณะที่ ประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ ก็ใช้มัลแวร์ในการโจมตีโครงสร้างประเทศฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน การดำเนินการในลักษณะนี้นับวันจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในรูปแบบสงครามที่ไม่มีการประกาศ ดังนั้น หลายประเทศจึงได้เตรียมหน่วยงานเตรียมรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นนี้ด้วยโดยเฉพาะด้านความมั่นคง เช่นสหรัฐฯ ได้มอบหมายให้ national security agency กระทรวงกลาโหม กระทรวงป้องกันมาตุภูมิ ร่วมกันรับผิดชอบ โดยปี 2009 มีการตั้ง cyber command เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้ อียู สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็มีหน่วยงานในลักษณะดังกล่าวเป็นหน่วยงานระดับชาติที่ตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่บริหารและจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โดยมีผู้นำสูงสุดของประเทศเป็นผู้บังคับบัญชา
พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตของภาคประชาชนได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากสถิติของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจโทรคมนาคมของ กสทช. ในปีที่แล้วพบว่ามีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือกว่า 113 ล้านหมายเลข การเติบโตที่รวดเร็วขนาดนี้ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยคุกคามด้านไซเบอร์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัว จากการที่เราดูจากการประเมินความเสี่ยงจากหน่วยงานต่างประเทศ เช่น เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ได้ประเมินความพร้อมในการรับมือกับไซเบอร์ จะเห็นว่า มาเลเซีย มีความพร้อมในการรับมือที่สูงมาก ทางด้าน สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ค่อนข้างสูง คืออยู่ในลำดับที่ 15 ของโลกจาก 165 ประเทศ ตามหลัง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ มาเลเซีย
ประธาน กสทช. กล่าวว่า การจัดลำดับความเสี่ยง จะดูที่มาตรการใน 5 ด้าน เช่น ในด้านกฎหมาย คณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ได้เสนอ พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ พ.ศ... อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ใน พ.ร.บ. ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กภช.) เสนอให้ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย ถ้ากฎหมายนี้ออกมา จะมีหน่วยงานที่สั่งการหน่วยงานราชการ และเอกชนให้กระทำ หรือ ยุติการกระทำต่างๆ เมื่อเกิดเหตุภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ส่วนการจัดโครงสร้างองค์กรก็ต้องรอดูกฎหมายที่จะออกมาก่อน ตนคิดว่าระดับปฏิบัติเราเองอาจจะต้องมีเช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ ในลักษณะของ Cyber command ในแง่ความมั่นคงอาจรวมกันระหว่าง 3 เหล่าทัพ สำหรับด้านเทคนิคกับการพัฒนาบุคคลากรนั้น เหล่าทัพก็เริ่มมีการสร้าง Cyber warrior หรือ นักรบไซเบอร์ กันบ้างแล้ว แต่หลักการแล้วการปฏิบัติการเชิงรุกง่ายมาก แต่ที่สำคัญคือด้านการป้องกัน ส่วนความร่วมมือก็ได้ดำเนินการมากับหลายประเทศ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ รัสเซีย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินทั้ง 5 ด้าน ITU ประเมินว่าเรายังอยู่ในประเทศที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ต้องปรับปรุง