xs
xsm
sm
md
lg

บี้เฟซบุ๊กแจงเตือนบึ้ม ระบบพลาดหรือตั้งใจ ฝากขังแฮกเกอร์วัยโจ๋

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-ตำรวจส่งหนังสือถึง "มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก" ตรวจสอบเฟซบุ๊กแจ้งเตือนบึ้มกรุง คืนวันที่ 27ธ.ค. เป็นเพราะระบบผิดพลาดหรือมีคนเจตนาสร้างความแตกตื่น ชี้เป็นการสร้างความเสียหายด้านความมั่นคงของประเทศ ยันกรณีจับหนุ่มวัย 19 เจาะระบบเว็บไซต์ส่วนราชการไม่ใช่จับแพะ แย้มทหารเตรียมส่งตัวผู้ร่วมขบวนการเพิ่ม เผยศาลอนุญาตฝากขัง ส่งตัวเข้าเรือนจำทันที

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีเมื่อคืนวันที่ 27ธ.ค.ที่ผ่านมา ระบบเฟซบุ๊กแจ้งเตือนเกิดเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ในกรณีนี้ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากไม่เป็นเรื่องจริง ขณะนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงและตำรวจ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบแล้วว่าการแจ้งเตือนดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดของระบบเฟซบุ๊ก หรือเกิดจากการกระทำที่มีเจตนาของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้แก่สังคมและ ประชาชน

ทั้งนี้ หากพบว่ามีผู้กระทำ ต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยเกิดความเสียหายแก่ความมั่นคงของประเทศ และก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่พี่น้องประชาชน มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

"ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มแฮกเกอร์ด้วยหรือไม่ และกำลังทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊ก ถ้าตรวจแล้วพบว่าเกิดจากระบบมีปัญหา ต้องดูรายละเอียดว่าผู้ที่ดูแลระบบได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่หรือมีความจงใจหรือไม่ เรื่องนี้มีมาตรการดำเนินการอยู่แล้ว ขณะเดียวกันหากเฟซบุ๊กไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของบริษัท เจ้าหน้าที่ก็มีแนวทางในการดำเนินการอยู่แล้ว"พ.ต.อ.กฤษณะกล่าว

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการติดตามจับกุมกลุ่มแฮกเกอร์ที่ทำการเจาะข้อมูลเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่ทหารเตรียมส่งตัวผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มเติม แต่ขอไม่เปิดเผยว่ามีจำนวนกี่ราย ซึ่งจะมีการทยอยส่งมอบตัวให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการและให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ขยายผลถึงผู้ร่วมขบวนการที่เหลือ และหากพบพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงใครก็จะดำเนินคดีอย่างแน่นอน

สำหรับกรณีที่โลกโซเชียลมีการวิพากษ์วิจารย์เกี่ยวกับการจับกุมนายณัฐดนัย คงดี อายุ 19 ปี ผู้ต้องหาเจาะข้อมูลเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ และเป็นสมาชิกเพจต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ว่าอาจจับกุมผิดคนหรือเป็นแพะนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันว่านายณัฐดนัยไม่ใช่แพะอย่างแน่นอน เจ้าหน้าที่ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย อีกทั้งผู้ต้องหาก็ให้การรับสารภาพ ดังนั้นขอย้ำว่าคดีนี้จับไม่มีการจับแพะแน่นอน

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ร.ต.อ.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน บก.ปอท. นำตัวนายณัฐดนัย มาขออำนาจศาลฝากขังเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ 28 ธ.ค.2559-8 ม.ค.2560 โดยระบุว่า พนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่เสร็จ และขอคัดค้านการประกันตัว ซึ่งศาลอ่านคำร้องและถามจำเลยแล้ว จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตามคำร้อง

ภายหลังญาติได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน ย่าน อ.เมือง จ.ระยอง เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งานเศษ ราคาประเมิน 432,225 บาทขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี แล้ว มีลักษณะเป็นขบวนการก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันและเกรงว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนี ทั้งจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายณัฐดนัย ไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป

ด้านพล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพกรณีที่ยังคงมีแฮกเกอร์ล้วงข้อมูลกองทัพว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องชี้แจงแล้วว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับนี้ ออกมาเพื่ออะไร และมีประโยชน์อย่างไร อยากอ้างหนังสือที่อ่านเมื่อเร็วๆ นี้ คือเรื่อง Thank you for being late หรือ ชื่อภาษาไทยว่า ขอบคุณที่มาช้าไปหน่อย เขียนโดย โทมัส ฟรีดแมน ซึ่งผู้เขียนคนนี้ชอบเขียนเรื่องในอนาคต เนื้อหาระบุว่า เทคโนโลยีพัฒนาค่อนข้างช้า รถยนต์พัฒนาเป็นร้อยปี กฎจราจรเรื่องความเร็วก็พัฒนาควบคู่ไม่ให้ละเมิดและสร้างอันตรายแก่กัน ทำให้ประชาชนในสังคมด้วยกันไม่เดือนร้อน เช่นเดียวกับเครื่องบิน ที่มีกฎการดูแลป้องกันอาชญกรรม ผู้ไม่หวังดี มีการควบคุมดูแลโดยวิทยุการบิน เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ มากไปกว่านั้น และไปเร็วมาก ในช่วง 4-5 ปี ก็มีเรื่องใหม่ๆ มา กฎ กติกา ก็ต้องไล่ตามให้ทัน

“กฎ กติกา เหล่านี้ ก็เพื่อปกป้องคนดี คนบริสุทธิ์ และคนไม่เกี่ยวข้อง จากพวกอาชญากรรมที่แสวงหาประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ต้องหาวิธีการคุ้มครอง ทั่วโลกก็ทำกัน ถ้าไม่ทำ ผู้ไม่หวังดี อาชญากร ก็จะไปขยายผล หรือขโมยข้อมูล หากกลไกในการลงโทษและป้องกันตามไม่ทัน ก็จะเกิดอันตรายกับคนบริสุทธิ์ ส่วนที่เกี่ยวข้องก็ชี้แจงแล้วว่า กฎ ระเบียบ เหล่านี้ แก้ไขได้ เพิ่มเติมได้ แต่ก็อยากย้ำว่า หากเรารู้เจตนากฎหมายเหล่านี้ ก็จะเข้าใจว่าปกป้องคนบริสุทธิ์ คนดี จริงๆ" พล.อ.สุรพงษ์ กล่าว

พล.อ.สุรพงษ์กล่าวถึงนักรบไซเบอร์ในกองทัพว่า กองทัพของทุกประเทศทั่วโลกมีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ และมีนักรบไซเบอร์ทั้งนั้น ในสหรัฐฯ เมื่อช่วง10 ปีที่ผ่านมา มีการตั้งหน่วยบัญชาการไซเบอร์ มีนายทหารระดับพลเอก เป็นหน่วยงานใหญ่ มีนักรบไซเบอร์เป็นหมื่นๆ คน กองทัพของเราเพิ่งเริ่มต้น มีการเตรียมความพร้อมไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี เทคโนโลยีของเราก็ยังไปไม่เร็วมากนัก ปริมาณงานพวกนี้ไม่ค่อยมาก แต่ก็มีการพัฒนาควบคู่กันไป ทั้งนี้ การรบด้วยไซเบอร์ ก็เป็นอาวุธอีกประเภทหนึ่ง ในอดีตเรารบด้วยปืนใหญ่และรถถัง ต่อไปก็รบด้วยไซเบอร์ ซึ่งเป็นการรบระหว่างกองทัพ แต่ต้องแยกแยะว่าส่วนนี้เป็นเรื่องของความมั่นคง ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องของโซเชี่ยลมีเดีย จึงมีความแตกต่างกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น