แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จับมือ สสส.กทม. ขับเคลื่อนชุมชนสุขภาพดีตั้งแต่ต้นน้ำ
"อโรคยา ปรมาลาภา การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" ไม่ว่าวัยไหนต่างต้องการมีสุขภาพที่ดี มากกว่ามีเงินทองมากองท่วมหัว เพราะหากเจ็บป่วยร้ายแรงขึ้นมา จะมีเงินเป็นร้อยล้านก็ไม่สามารถช่วยได้ แต่ถ้าดูแลสุขภาพกันตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำของชีวิตก็จะสดใส ไม่ต้องพึ่งพายาใดๆ มารักษาโรค ทั้งยังเป็นที่พึ่งที่ดีให้กับคนรอบข้าง และครอบครัวได้อีกด้วย
บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกันขับเคลื่อนชุมชนสุขภาพดีตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนลุมพินีเห็นความสำคัญ เพราะปัจจุบันพฤติกรรมคนเมืองบนตึกสูงมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบส่งผลต่อสภาวะความเครียด และยังขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัยด้วยกัน และเมื่อบทบาทของสังคมเมืองเข้ามาครอบงำ แล้วจะอยู่กันอย่างไร!!??? นั่นเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในงานเสวนา “สุขภาวะชุมชนอาคารชุด สร้างความสุขที่ยั่งยืน” ที่จัดขึ้นร่วมกันภายใต้โครงการศึกษารูปแบบบริหารจัดการชุมชนต้นแบบเพื่อสุขภาวะของการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในอาคารชุด โดยแนวทางในการจัดเสวนาต้องการบอกถึงความสำเร็จของผลิตผลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือ นั่นคือ “แกนนำสร้างสุข” ที่เรียกว่า “Sook Fa”
นางสาวสมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด ในเครือ แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป กล่าวถึงความร่วมมมือว่า “เกิดจากแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” หนึ่งในการดูแลงานบริการหลังการขาย ซึ่งเป็นจุดแข็งของแบรนด์ “ลุมพินี” จนได้มาเจอกับ สสส. ทำให้ได้เรียนรู้และเติมเต็มจากสิ่งที่คิดเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชน นอกเหนือจากข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้กรณีมีโรคระบาดเกิดขึ้น หรือข้อแนะนำด้านสุขภาพแล้ว ยังมีการฝึกอบรมผู้จัดการชุมชนให้มีการพัฒนาเป็น “แกนนำสร้างสุข” (Sook Fa) โดยมีสถาบัน แอล.พี.เอ็น. จัดทำหลักสูตรรวบรวมองค์ความรู้จาก สสส. และ กทม. ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ถ่ายทอดยังชุมชนลุมพินีนั้นๆ
จากความร่วมมือ ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง คือผู้จัดการชุมชนได้รับการยอมรับในทักษะการสร้างสุขภาวะที่ดีในชุมชน และการส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการตอบสนองมากขึ้น ไม่ใช่เพียงผู้ร่วมกิจกรรม แต่เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมเป็นตัวหลักทำให้เกิดพลังการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย เกิดการเปลี่ยนมุมมองในการอยู่ร่วมกัน บางคนเป็นหมอ พอรู้ว่ามีผู้ป่วยในชุมชนก็อาสาเข้ามาช่วย หรือปกติจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กันเอง ก็เปลี่ยนเป็นรวมตัวกันสร้างประโยชน์ให้ผู้ที่ขาดแคลน ในปัจจุบันมี 5 โครงการนำร่องที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือนี้ จนได้ “แกนนำสร้างสุข” (Sook Fa) ที่สามารถนำองค์ความรู้ถ่ายทอดยังชุมชนลุมพินีของตัวเอง จำนวน 40 คนแล้ว”
ด้าน นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวสรุปถึงความร่วมมือนี้ว่า “LPN เป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ให้ความสำคัญ ด้วยแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” ซึ่งมาถูกทางแล้ว เนื่องจากสังคมเมืองมีผลต่อการใช้ชีวิต คอนโดมิเนียมเข้ามามีบทบาทต่อความเป็นอยู่มากขึ้น ดังนั้น การหาโมเดลการบริหารจัดการชุมชน และแนวทางสร้างสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม โดยพบว่าวิธีที่ได้ผล คือการหาแกนนำในพื้นที่มาขับเคลื่อน เรียกว่า แกนนำ Sook Fa ซึ่งอาจเป็นผู้นำกิจกรรมชุมชนอยู่แล้ว โดยพัฒนาให้มีความรู้เรื่องสุขภาพที่ดีทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา ทักษะกระบวนการมีส่วนร่วม ทักษะการฟังเพื่อจัดการความขัดแย้ง เรียนรู้การออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและฝึกออกแบบกิจกรรมจริงในพื้นที่ 5 ชุมชนนำร่อง กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะของผู้อยู่อาศัย”
สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ... หากโมเดลความร่วมมือนี้สัมฤทธิ์ผล เชื่อว่าผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมหลายรายต้องตบเท้าเข้ามาร่วมโครงการดีๆ นี้อย่างแน่นอน