xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตสุขภาพ “ชาวคอนโด” เสี่ยงโรคตึกเป็นพิษ-เครียด-ขาดปฏิสัมพันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คนเมืองอาศัยในคอนโดเสี่ยง “โรคตึกเป็นพิษ" เผยมีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว คัดจมูก ไอจาม ผดผื่นคัน ระคายเคืองตา เหตุระบบหมุนเวียนอากาศ ฝุ่นละอองภายในตึก พ่วงพฤติกรรมชีวิตเร่งรีบ ทำให้เครียด ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัย สสส. จับมือ กทม.-แอล.พี.เอ็น. พัฒนา “ชุมชนแนวตั้ง” ตอบโจทย์วิถีสุขภาพคนเมือง

วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จัดงาน “สุขภาวะชุมชนอาคารชุด สร้างความสุขที่ยั่งยืน” ภายใต้โครงการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการชุมชนต้นแบบเพื่อสุขภาวะของการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในอาคารชุด

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า วิถีการดูแลสุขภาพของคนเมืองในตึกสูงกลายเป็นโจทย์ใหม่ของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยอาคารชุดใน กทม. พบว่า มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบตอนเช้ากลับค่ำส่งผลต่อสภาวะความเครียด ขาดปฏิสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัย ละเลยกฎการอยู่ร่วมกัน มีลักษณะครอบครัวเดี่ยวที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและเสี่ยงต่อโรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome : SBS) ซึ่งมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองตา เนื่องจากระบบหมุนเวียนอากาศ ฝุ่นละอองและเชื้อโรคภายในตึก สิ่งที่ค้นพบสอดคล้องกับผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ในการสำรวจวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดของ กทม. พบว่า สิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกัน 95% มองว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎการอยู่รวมกันเป็นปัญหาหลักของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน ตามด้วยต้องการกำหนดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อความสุขสงบ 79% และความไม่รู้จักกัน ต้องการให้ผู้ดูแลคอนโดดูแลสุขทุกข์ของผู้อยู่อาศัย 67%

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า สสส. จึงร่วมกับ กทม. และบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อหาโมเดลการบริหารจัดการชุมชนอาคารชุด และแนวทางสร้างสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยและใช้ชีวิตในอาคารชุด ทดลองนำร่องในพื้นที่ตึกสูง 5 ชุมชน พบว่าวิธีที่ได้ผลคือการหาแกนนำในพื้นที่มาขับเคลื่อน เรียกว่า แกนนำ “Sook Fa” ซึ่งอาจเป็นผู้นำกิจกรรมชุมชนอยู่แล้ว เช่น ผู้จัดการโครงการหรือนิติบุคคล โดยพัฒนาให้มีความรู้เรื่องสุขภาพที่ดีทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา ทักษะการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ทักษะการฟังเพื่อจัดการความขัดแย้ง เรียนรู้การออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและฝึกออกแบบกิจกรรมจริงในพื้นที่ 5 ชุมชนนำร่อง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะของผู้อยู่อาศัย 

น.ส.สมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัทลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ เมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตัวอย่างการสร้างเสริมสุขภาพที่เกิดขึ้นในชุมชนอาคารชุด 5 พื้นที่ ซึ่งผู้อยู่อาศัยไม่ใช่แค่ผู้ร่วมกิจกรรมแต่เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม เช่น กิจกรรมการฉีดวัคซีน การกำจัดแมลง ทำให้มีชุดความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในตึกสูงมากขึ้น และสิ่งที่ได้จากคนในชุมชนอาคารชุดคือ ความขัดแย้งลดลง ผู้จัดการชุมชนได้รับการยอมรับ ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในมิติการตอบสนองเพิ่มขึ้น โดยโจทย์ท้าทายของการทำงานต่อไป คือ การคัดนิติบุคคลที่มาบริหารจัดการอาคารชุดที่มีทักษะการสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมที่จะเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้เรื่องสุขภาวะชุมชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดที่ยั่งยืน 

นางมยุรี เถาลัดดา หัวหน้ากลุ่มงานสาธารณสุขชุมชน สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า หากมีผู้ป่วยโรคระบาดเกิดขึ้นกับชุมชนแนวตั้ง กทม.ก็ไม่รู้ข้อมูลและไม่สามารถเข้าไปจัดการได้หากอาคารไม่เปิดพื้นที่ ความร่วมมือในการทำงานร่วมกับสสส.และลุมพินีคอนโดทำให้ได้องค์ความรู้ในการจัดการชุมชนน่าอยู่ของคนในตึกสูง ซึ่งลักษณะชุมชนน่าอยู่ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย และการบริการของเจ้าหน้าที่ดูแลอาคารชุดที่ได้จากชุมชนต้นแบบผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด พบว่า ต้องมีการส่งเสริมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ การรักษามาตรฐานการให้บริการของเจ้าหน้าที่ และเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น โดย กทม. จะนำชุดความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนตึกสูงนำร่องส่งต่อไปยังเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ เพราะหากจัดการในเมืองที่ยากอย่าง กทม. ได้แล้วเมืองอื่นก็สามารถทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น