xs
xsm
sm
md
lg

แอล.พี.เอ็น. ขับเคลื่อนชุมชนเมืองใหม่ สู่เป้าหมายคนเมืองสุขยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



แอล.พี.เอ็น.จับมือกทม.และสสส. จัดงาน “สุขภาวะชุมชนอาคารชุด สร้างความสุขที่ยั่งยืน” ภายใต้โครงการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการ หวังสร้างความสุขที่ยั่งยืน

สมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด ในเครือ แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า แนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” หนึ่งในการดูแลงานบริการหลังการขายที่เป็นจุดแข็งของแบรนด์ “ลุมพินี” ซึ่งบริษัทต้องการต่อยอดชุมชนให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมมือกับสสส.เพื่อเรียนรู้ และเติมเต็มจากสิ่งที่คิด เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยภายในชุมชน นอกเหนือจากข้อแนะนำด้านสุขภาพแล้ว ยังมีการฝึกอบรมผู้จัดการชุมชนให้มีการพัฒนาเป็น “แกนนำสร้างสุข” (Sook Fa) โดยมีสถาบันแอล.พี.เอ็น.จัดทำหลักสูตรรวบรวมองค์ความรู้จากสสส.และกทม.ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ถ่ายทอดยังชุมชนลุมพินีนั้นๆ
จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง คือผู้จัดการชุมชนได้รับการยอมรับในทักษะการสร้างสุขภาวะที่ดีในชุมชน มีสภาพแวดล้อมที่ดี และการส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการตอบสนองมากขึ้น ไม่ใช่เพียงผู้ร่วมกิจกรรม แต่เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมเป็นตัวหลักทำให้เกิดพลังการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย เกิดการเปลี่ยนมุมมองในการอยู่ร่วมกัน ปัจจุบันมี 5 โครงการนำร่องที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือนี้ จนได้ “แกนนำสร้างสุข” (Sook Fa) ที่สามารถนำองค์ความรู้ถ่ายทอดยังชุมชนลุมพินีของตัวเอง จำนวน 40 คนแล้ว
ตัวอย่างการสร้างเสริมสุขภาพที่เกิดขึ้นในชุมชนอาคารชุด 5 พื้นที่ ซึ่งผู้อยู่อาศัยไม่ใช่แค่ผู้ร่วมกิจกรรมแต่เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม เช่น กิจกรรมการฉีดวัคซีน การกำจัดแมลง ทำให้มีชุดความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในตึกสูงมากขึ้น และสิ่งที่ได้จากคนในชุมชนอาคารชุดคือ ความขัดแย้งลดลง ผู้จัดการชุมชนได้รับการยอมรับ ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในมิติการตอบสนองเพิ่มขึ้น โดยโจทย์ท้าทายของการทำงานต่อไปคือ การคัดนิติบุคคลที่มาบริหารจัดการอาคารชุดที่มีทักษะการสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมที่จะเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้เรื่องสุขภาวะชุมชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดที่ยั่งยืน
สมศรี เตชะไกรศรี
“การอยู่ร่วมกันภายในชุมชน นอกจากจะต้องมีสุขภาวะที่ดีแล้ว สภาพแวดล้อมภายในชุมชนจะต้องดี ทั้งการบริหารจัดการชุมชน การออกแบบทั้งภายนอกและภายในอาคารให้พักอาศัยอย่างมีความสุข ด้วยการใช้วัสดุอุปกรณ์ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยลดโลกร้อน ประหยัดการใช้พลังงาน”
ขณะที่ นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า วิถีการดูแลสุขภาพของคนเมืองในตึกสูงกลายเป็นโจทย์ใหม่ของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยอาคารชุดในกทม. พบว่า มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบตอนเช้ากลับค่ำส่งผลต่อสภาวะความเครียด ขาดปฏิสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัย ละเลยกฎการอยู่ร่วมกัน มีลักษณะครอบครัวเดี่ยวที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและเสี่ยงต่อโรคตึกเป็นพิษ
โรคดังกล่าวมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองตา เนื่องจากระบบหมุนเวียนอากาศ ฝุ่นละอองและเชื้อโรคภายในตึก สิ่งที่ค้นพบสอดคล้องกับผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ในการสำรวจวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดของกทม. พบว่า สิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกัน95% มองว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎการอยู่รวมกันเป็นปัญหาหลักของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน ตามด้วยต้องการกำหนดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อความสุขสงบ 79% และความไม่รู้จักกัน ต้องการให้ผู้ดูแลคอนโดดูแลสุขทุกข์ของผู้อยู่อาศัย 67%
ด้าน มยุรี เถาลัดดา หัวหน้ากลุ่มงานสาธารณสุขชุมชน สำนักอนามัยกทม. กล่าวว่า หากมีผู้ป่วยโรคระบาดเกิดขึ้นกับชุมชนแนวตั้ง กทม.ก็ไม่รู้ข้อมูลและไม่สามารถเข้าไปจัดการได้หากอาคารไม่เปิดพื้นที่ ความร่วมมือในการทำงานร่วมกับสสส.และลุมพินีคอนโดทำให้ได้องค์ความรู้ในการจัดการชุมชนน่าอยู่ของคนในตึกสูง ซึ่งลักษณะชุมชนน่าอยู่ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยและการบริการของเจ้าหน้าที่ดูแลอาคารชุดที่ได้จากชุมชนต้นแบบผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด พบว่า ต้องมีการส่งเสริมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ การรักษามาตรฐานการให้บริการของเจ้าหน้าที่ และเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น โดยกทม.จะนำชุดความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนตึกสูงนำร่องส่งต่อไปยังเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ เพราะหากจัดการในเมืองที่ยากอย่างกทม.ได้แล้ว เมืองอื่นก็สามารถทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น