xs
xsm
sm
md
lg

พนักงานเก่า ทำงานดี ลาออกไปแล้ว แต่กำลังจะกลับมา แล้วขอเงินเดือนเพิ่มขึ้น ควรทำอย่างไรดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
Q : พนักงานเก่า เป็นคนทำงานดีมาก แต่ลาออกไปได้ 8 เดือนแล้ว เพราะไม่ถูกกับหัวหน้างานโดยตรง และได้งานที่ใหม่ ตอนนี้หัวหน้าคนนั้น ลาออกไป พนักงานคนนี้ เลยอยากกลับมา แต่ปัญหาคือ ขอเงินเดือนเพิ่มขึ้น 50% เพราะไปทำงานที่ใหม่ ได้เงินเดือนมากขึ้น ควรรับกลับมาไหมครับ รู้สึกลังเล ใจหนึ่งก็อยากให้กลับมา เนื่องจากเป็นคนทำงานดี แต่อีกใจ ก็เกรงว่า พนักงานคนอื่นๆ ในบริษัท จะรับไม่ได้

A : ถ้าเป็นผม จะไม่รับกลับมา อย่างน้อยก็สักระยะหนึ่ง (1-2 ปี) เพราะแม้เงินเดือน เป็นความลับเฉพาะตัว แต่ในทางปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องที่ปิดกันยาก ที่สำคัญอาจสร้าง ให้เกิดความเข้าใจผิดๆ กับพนักงานคนอื่นว่า “หากอยากได้เงินมากขึ้น ให้ลาออกไป แล้วกลับเข้ามาใหม่” ซึ่งหลายๆ องค์กร ประสบปัญหาทำนองนี้

หากอยากได้พนักงานคนนี้ กลับมาช่วยงานจริงๆ อาจรองพิจารณา ทางเลือกอื่นก่อน เช่น จ้างมาทำงานเป็นโครงการ (Project) โดยกำหนดระยะเวลา และความคาดหวัง ให้ชัดเจน ด้วยวิธีนี้ อาจสามารถจ่ายเงิน ให้พนักงานได้สูงขึ้น โดยไม่กระทบ กับพนักงานอื่นๆ ในองค์กร หรือ เอาท์ซอร์ส (Outsource) งานบางอย่างให้ทำ โดยไม่ต้องเข้าบริษัท สักระยะหนึ่ง จนได้จังหวะ และเวลาที่เหมาะสม จึงรับกลับเข้ามาใหม่ เป็นต้น

แต่หากต้องการรับกลับเข้ามา เป็นพนักงานประจำจริงๆ ให้เพิ่มงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่ชัดเจน แต่อย่าเพิ่งปรับ หรือเลื่อนตำแหน่งในทันที เพราะไม่อยากให้ พนักงานคนอื่นๆ รู้สึกว่าออกไปเพียงแค่ 8 เดือน กลับมาได้ตำแหน่งใหญ่ขึ้น ที่บริษัทผม เคยมีพนักงานคนหนึ่งลาออกไปแล้ว เรารับกลับเข้ามาใหม่ ก็ใช้วิธีการนี้เช่นกัน ถึงแม้จะแก้ปัญหา เกี่ยวกับข้อสงสัยของพนักงานคนอื่นๆ ไม่ได้ 100% แต่หากเกิดคำถามขึ้น ก็พอจะถูไถไปได้ ว่าพนักงานคนนี้ มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ ควรเป็นอุทาหรณ์ ให้องค์กรได้เห็นว่า การรักษาพนักงานเก่า ที่มีผลงานดี และความประพฤติเหมาะสม มีต้นทุนถูกกว่า การปล่อยให้จากไป แล้วรับกลับเข้ามาใหม่

พนักงานเก่งๆ ดีๆ อย่าเอาไปไว้กับ หัวหน้างานที่ไม่ได้เรื่อง ความเสียหายแบบนี้ มีให้เห็นกันบ่อยๆ จนมีคำพูดว่า “พนักงาน เข้าทำงานเพราะองค์กร แต่ลาออก เพราะหัวหน้า” ดังนั้นแนวทางหนึ่ง ในการลดปัญหาพนักงานลาออกมากๆ (Staff Turnover) คือ การพัฒนาทักษะการบริหารจัดการ ให้กับหัวหน้างานทุกระดับ เพราะหัวหน้าส่วนใหญ่ ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเนื่องจากมีความสามารถ ในงานที่ทำ แต่ทักษะเรื่องการบริหารจัดการคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเป็นหัวหน้า กลับไม่ค่อย ได้รับความสนใจเท่าไรนัก

ฝากไว้ เป็นข้อคิดครับ

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น