xs
xsm
sm
md
lg

ธพว.พยุงธุรกิจรายย่อยกว่า 8,100 ราย พลิกฟื้นกิจการรองรับเศรษฐกิจฟื้นตัวไตรมาส 4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธพว.เผยช่วย SME ได้แล้วกว่า 8,100 ราย เดินหน้ากำหนดนโยบายช่วยลูกค้ารายย่อยที่กลับมาเข้มแข็ง 6,999 ราย ส่งทีมให้คำปรึกษาและปรับเปลี่ยนเงื่อนไขชำระหนี้แล้วรวม 9,607 ล้านบาท รวมทั้งกลุ่มที่เคยติดขัดแต่ประคับประคองธุรกิจไปได้ 872 ราย และกลุ่มแท็กซี่ 309 ราย ช่วยรักษาการจ้างงานและกระตุ้นการหมุนเวียนในระบบต่อเนื่อง เชื่อส่งผลดีไตรมาส 4 ปลื้มคลังเพิ่มทุนอีก 1,000 ล้าน รุกพันธกิจพัฒนาผู้ประกอบการ

นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน ธพว. จึงกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยที่เคยประสบปัญหาและเริ่มกลับมาเข้มแข็ง ด้วยการส่งทีมเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาธุรกิจและช่วยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของกิจการ ซึ่งในปี 2559 ธพว. ได้ให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือไปแล้วจำนวน 6,999 ราย เป็นวงเงินรวม 9,207 ล้านบาท ทำให้ธุรกิจรายย่อยดังกล่าวมีความเข้มแข็งมากขึ้นสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ช่วยรักษาการจ้างงาน และกระตุ้นการหมุนเวียนในระบบต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 / 2559 นี้ ซึ่งเป็นช่วง High season จะส่งผลดีต่อกิจการของผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัดได้อย่างชัดเจน

นอกจากกลุ่มลูกค้าปกติแล้วธนาคารยังให้โอกาสไปถึงกลุ่มที่เคยติดขัดแต่ยังประคับประคองธุรกิจอยู่ต่อไป อาทิ ลูกหนี้ที่อยู่ในขั้นตอนกฏหมาย ธนาคารได้จัดโครงการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ร่วมกับกรมบังคับคดี ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 7 จังหวัด คือ สงขลา กรุงเทพ ขอนแก่น ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี และนครราชสีมา สามารถเจรจาสำเร็จ รวม 872 ราย คิดเป็นเงินต้น 276 ล้านบาท และมีแผนจะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้อีกหลายแห่ง ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อุบลราชธานี นครพนม และในเขตพื้นที่กรุงเทพอีกด้วย คาดว่าจะสามารถช่วยรักษากิจการให้อยู่รอดต่อไปอีกมากกว่า 2,000 ราย

รวมไปถึงการเข้าไปช่วยลูกค้าที่ยังทำธุรกิจอยู่และต้องการฟื้นฟูกิจการตามพรบ.ล้มละลายใหม่ โดย ธพว. เป็นธนาคารแรกที่ช่วยฟื้นฟูลูกหนี้สำเร็จ ซึ่งขณะนี้มีลูกหนี้ธนาคารที่เข้าฟื้นฟูกิจการรวม 4 ราย และศาลรับคำร้องแล้ว 2 ราย คือ บจก. บูรพา มิวซิเคิล และ บจก.สาธิดา การ์เม้นท์ และมีลูกหนี้ที่ธนาคารจะส่งเข้ารับการพิจารณาขอทุนพลิกฟื้นกิจการของ สสว. จำนวน 10 ราย โดยมีสิทธิกู้เงินเพื่อมาพลิกฟื้นกิจการของสสว.ที่มีวงเงินโครงการรวม 2,000 ล้านบาท ให้กู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ชำระคืนภายใน 7 ปี โดยไม่เสียดอกเบี้ย

ประธานกรรมการ ธพว. กล่าวอีกว่า นโยบายธพว.จะให้โอกาสอย่างที่สุดในการช่วยเหลือแม้แต่กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ในโครงการพัฒนาแท็กซี่ไทย ธนาคารก็เข้าไปดูแลโดยเปิดโอกาสให้ปรับโครงสร้างหนี้โดยชำระตามรายได้จริงที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถแก้ไขหนี้ช่วยผู้ประกอบการแท๊กซี่แล้วจำนวน 309 ราย คิดเป็นเงินต้น 129 ล้านบาท

“ผมมั่นใจแนวทางที่ ธพว. เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ลูกหนี้รายย่อยหลากหลายกลุ่มดังกล่าว เป็นการให้โอกาสเพื่อช่วยพยุงธุรกิจของพวกเขาให้ยังคงอยู่ เป็นการให้ยาช่วยรักษาไข้เบื้องต้น และเชื่อว่าไตรมาส 4 ปีนี้ที่เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวชัดเจน ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีให้ลูกหนี้กลุ่มต่างๆ เริ่มสร่างไข้ ธุรกิจพลิกฟื้นใหม่อีกครั้ง ”

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธพว.เป็นหน่วยร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME หรือที่เรียกว่า SME Rescuer Center โดยทุกสาขา ธพว. จะเป็นศูนย์ Rescuer เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME รายย่อย ทั้งปัญหาด้านการเงิน และปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาการตลาด การหาช่องทางการจัดจำหน่าย และการพัฒนาสินค้าให้มีโอกาสค้าขายได้เพิ่มขึ้นตามพันธกิจของ ธพว. เป็นต้น

สำหรับทุนจดทะเบียนของธนาคารฯ เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังได้อนุมัติและนำส่งเงินเพิ่มทุนให้ 1,000 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ทำให้ทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วของธนาคารจากเดิม 13,755 ล้านบาท เพิ่มเป็น 14,755 ล้านบาท การเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังให้ ธพว.ครั้งนี้ เนื่องจากทางธนาคารสามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่ทางกระทรวงการคลังกำหนด ทั้งในด้านการขยายตัวของสินเชื่อ การแก้ไขปัญหา NPLs ตลอดจนการบริหารจัดการองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาลและการพัฒนาผู้ประกอบการตามพันธกิจหลักของ ธพว.

ทั้งนี้ การเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังให้ ธพว. อีก 1,000 ล้านบาทดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันถึงความมั่นคงแข็งแรง และความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนองค์กรนี้ ให้เป็นกลไกหลักรองรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงขึ้นจากการปรับองค์กรตามแผนฟื้นฟู โดยมีผลประกอบการเป็นกำไรต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 และได้ปล่อยสินเชื่อใหม่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กจำนวนมาก  สำหรับเงินส่วนเพิ่มทุน 1,000 ล้านบาท ธพว. จะนำไปสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่กลุ่ม Start up ที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม S-curve ที่เป็นยุทธศาสตร์การผลักดันพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สู่เป้าหมายแผนงานของภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น