xs
xsm
sm
md
lg

“สิงห์” ผนึก 3 หน่วยงานภาครัฐ ผุด “World Food Valley Thailand” ปั้นไทยฮับเมืองนวัตกรรมอาหารโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมกับ 3 หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันอาหาร (สอห.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือพัฒนาโครงการ “World Food Valley Thailand” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยให้ก้าวไปสู่การผลิตและแปรรูปสินค้าด้วยนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจอาหารของประเทศแข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้มากขึ้น

นอกจากนี้ โครงการ “World Food Valley Thailand” ยังถือเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทย และเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมหรือไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหารขึ้นด้วย

สำหรับโครงการ “World Food Valley Thailand” บริษัทจะพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Estate) มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและแปรรูปอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาธุรกิจ การลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนสร้างเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถให้กับผู้ผลิตอาหารไทยยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารถือเป็นกลไกสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีสัดส่วนคิดเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และในแต่ละปีประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังตลาดโลกมูลค่ามหาศาล นับเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 14 ของโลกด้วย สำหรับในปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกอาหารและสร้างรายได้ให้กับประเทศมูลค่าสูงถึง 897,529 ล้านบาท แต่สินค้าส่วนใหญ่ยังไม่ได้แปรรูป หรือมีการผลิตโดยนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากนัก ซึ่งส่งผลต่อราคาขายให้อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก โดยเฉพาะหลายประเทศในยุโรป ได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้รุดหน้าไปมาก มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ที่สำคัญยังสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

“อุตสาหกรรมอาหารของไทยต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อกระแสโลกที่ขณะนี้กำลังเคลื่อนตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่ง สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ในฐานะเป็นผู้ผลิตและทำตลาดอาหารและเครื่องดื่มได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นภาคเอกชนลำดับแรกที่ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อดำเนินโครงการWorld Food Valley Thailandผลักดันให้เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารที่ครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย และบริษัทต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนด้วย โดยโครงการจะให้บริการพื้นที่อุตสาหกรรมและบริการงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น การกำกับดูแลการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบตลอดจนปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย บริการวิเคราะห์ทดสอบและการรับรองมาตรฐานของอาหารไทยสามารถเชื่อมโยงการบริการทางการเงิน เทคนิค พี่เลี้ยง ที่ปรึกษาด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการอาหารไทยมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการพัฒนา World Food Valley Thailand ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในรูปแบบประชารัฐ และมีการมุ่งเป้าสู่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารสู่ยุค 4.0 โดยคำนึงถึงอนาคตของประเทศ และพี่น้องประชาชนคนไทยในพื้นที่ สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและแผนอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ ของกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคตที่ควรจะต้องมีการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม และการนำผลงานเหล่านั้นไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ ก่อเกิดประสิทธิภาพต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวมให้มากขึ้น

นางอรรชกากล่าวต่อว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศสู่ยุค 4.0 ควรให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขันของผู้ประกอบการอาหารไทยให้เข้าสู่ยุค 4.0 หรือให้เป็นนักรบรุ่นใหม่ 2) การจัดระบบการพัฒนาปัจจัยเอื้อต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นครัวของโลก เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย อย่างเช่นการพัฒนา World Food Valley Thailand ที่มีองค์ประกอบในการให้บริการทั้งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่การให้บริการภาครัฐแบบ One Stop พื้นที่เพื่อการเชื่อมโยงการพัฒนานวัตกรรมและมาตรฐาน ตลอดจนพื้นที่เพื่อการพัฒนากำลังแรงงานภาคอุตสาหกรรม และ 3) การพัฒนาตลาดอุตสาหกรรมอาหารอนาคต และช่องทางการค้าในเวทีสากล เพื่อให้เอสเอ็มอีได้มีโอกาสเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารโลก

“นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนในระยะ 20 ปีข้างหน้าให้ชัดเจน ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ S Curve ในสาขาอาหารให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และการสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยในเวทีโลก โดยรวมน่าจะต้องมีจำนวนกว่า 20,000 ราย 2) การเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพให้มีอัตราการขยายตัวให้ได้ร้อยละ 2 ต่อปี โดยการพัฒนามาตรฐานสินค้าอาหารแปรรูปไทยทั้งรสชาติและมาตรฐานตามที่ตลาดต่างๆ ต้องการ และ 3) การสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถค้าขาย ส่งออกได้บนพื้นฐานของสินค้าที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มในตลาดเดิมและตลาดใหม่จนทำให้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ทั้งนี้ ควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการทำงานว่า “ประชารัฐร่วมใจประเทศไทยเป็นครัวของโลก” และมีการวัดผลของการทำงานจากส่วนแบ่งในตลาดโลก มุ่งสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารติดอันดับ TOP 5 ให้ได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า”

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการพัฒนา World Food Valley Thailand ว่าจากการที่สถาบันอาหารได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม(SPRING BOARD) ให้เป็นหน่วยงานสำนักงานอย่างเป็นทางการเพื่อประสานการพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหาร ภายใต้แนวนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการผลิตอาหารแปรรูปมุ่งสู่อุตสาหกรรมอาหาร 4.0 และการพัฒนาอาหารสู่ตลาดการค้าโลก พร้อมการส่งเสริมวิสาหกิจไทยในทุกระดับ และเห็นควรให้มีการพัฒนากลไกการกำกับดูแลการพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมกลางนํ้าให้เกิดความเชื่อมโยงกับต้นนํ้าและปลายนํ้า โดยการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

สถาบันอาหาร จึงได้ร่วมกับ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาโครงการ World Food Valley Thailand ขึ้นเพื่อพัฒนาพื้นที่ของบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ที่จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ประมาณ 1,300 ไร่ ให้เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยมีแนวทางความร่วมมือในครั้งนี้ ดังนี้ 1) ร่วมมือในการศึกษาพัฒนาความเป็นไปได้โครงการพัฒนา World Food Valley Thailand 2) ร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบการอาหารและบุคลากร รวมถึงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจ(Ecosystem) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3) ร่วมมือในการส่งเสริม ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของประเทศ 4) แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้โครงการ World Food Valley Thailand ประสบความสำเร็จโดยรวดเร็ว และ 5) ร่วมมือดำเนินกิจกรรม/โครงการอื่นๆ ตามที่ทั้ง 4 ฝ่ายเห็นสมควร

นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) กล่าวว่า ธนาคารฯ มีภารกิจในการให้บริการทางการเงินและบริการอื่นๆ ตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (เอสเอ็มอี) โดยผู้ประกอบการไม่น้อยที่มีการประกอบกิจการอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น ธนาคารฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการเข้ามาช่วยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการดังกล่าวให้มีศักยภาพมากขึ้น ด้วยการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ World Food Valley Thailand

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลลงครั้งนี้ธนาคารจะให้ความช่วยเหลือในด้านการบริการทางการเงินให้กับผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในโครงการ รวมทั้งให้การช่วยเหลือและสนับสนุนในปัจจัยแวดล้อมอื่นๆด้วย ที่จะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวนมากกว่า 2.9 ล้านราย และเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐไทย สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจในสัดส่วนกว่า 40% ทั้งนี้ สสว.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบูรณาการ และผลักดันการส่งเสริม SME ของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้ SME สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล (Smart SME) การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือพัฒนาโครงการ World Food Valley Thailand กับบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด สถาบันอาหาร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) เพื่อสร้างเมืองนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยแข็งแกร่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น