xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของ IR ในการสื่อสารประเด็นด้าน ESG

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ไพศาล เจียรอุทัยธำรง ฝ่ายพัฒนาบรรษัทภิบาล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในปัจจุบัน โลกการลงทุนมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แนวทางในการลงทุนจึงมีการพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่เปลี่ยนไปด้วย โดยการลงทุนแนวใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การลงทุนที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (Environmental Social and Governance: ESG) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่ว่า บริษัทจะไม่สามารถรักษาผลการดำเนินงานของบริษัทให้ยั่งยืนได้ หากไม่คำนึงถึงประเด็นด้าน ESG ในการดำเนินธุรกิจ

แนวโน้มการลงทุนที่คำนึงถึง ESG ทั่วโลก มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2015 มีเงินลงทุนภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการลงทุนทั่วโลกถึงกว่า 60 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจาก www.cfainstitute.org) ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวก็เริ่มจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่มีบริษัทจัดการกองทุนรวมจัดตั้งกองทุนที่นำประเด็นด้าน ESG มาเป็นเกณฑ์สำคัญในการคัดกรองหุ้นเพื่อลงทุน

เมื่อผู้ลงทุนเริ่มสนใจและให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG มากขึ้น นักลงทุนสัมพันธ์จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจประเด็นด้าน ESG ของบริษัทและสื่อสารข้อมูลที่สำคัญดังกล่าวให้แก่ผู้ลงทุนได้รับรู้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดงานสัมมนา ESG for IR ขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา SD Focus ฉบับนี้จึงขอรวบรวมประเด็นสำคัญและนำมาถ่ายทอดในบทความนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่องานนักลงทุนสัมพันธ์ต่อไป

ในส่วนของการนำประเด็นด้าน ESG มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจลงทุนนั้น คุณนิพจน์ ไกรลาศโอฬาร ผู้จัดการกองทุน บลจ.ทิสโก้ ได้ให้มุมมองไว้ว่า ผู้ลงทุนจะมองประเด็นด้าน ESG เป็นความเสี่ยงของบริษัทที่ต้องจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของบริษัท ดังนั้น เมื่อบริษัทดำเนินการลดความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวลงแล้วก็ควรมีการสื่อสารให้ผู้ลงทุนได้รับทราบโดยทั่วกัน

นอกจากนี้ คุณนิพจน์ ยังได้กล่าวถึงประเด็นด้าน ESG ที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ

1. การดูแลผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท

2. การให้สินบนและคอร์รัปชั่น และ

3 .ประเด็นการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายในและความขัดแย้งของผลประโยชน์ นักลงทุนสัมพันธ์จึงควรเตรียมข้อมูลของบริษัทในประเด็นดังกล่าวให้พร้อมสำหรับสื่อสารและตอบคำถามกับผู้ลงทุน

สำหรับการทำหน้าที่ของนักลงทุนสัมพันธ์นั้น คุณชัชชัย สิริวิชช์ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ. ไทยออยล์ ได้ให้ความเห็นว่า นักลงทุนสัมพันธ์ต้องสามารถสื่อสารแนวคิดเรื่อง ESG เชื่อมโยงไปกับการสร้างมูลค่าให้กับกิจการ ซึ่งก่อนที่จะสามารถเชื่อมโยงได้ นักลงทุนสัมพันธ์จำเป็นต้องเข้าใจถึงการทำงานด้าน ESG ของบริษัทว่ามีกรอบและกระบวนการใดบ้าง รวมถึงประเด็นสำคัญที่ถือเป็นความเสี่ยงหลักขององค์กร

หลังจากที่นักลงทุนสัมพันธ์มีความเข้าใจแล้วก็ควรสามารถสื่อสารให้ได้ว่าการดำเนินงานด้าน ESG ช่วยให้บริษัทของเรายั่งยืนได้อย่างไรใน 3 ระดับ ดังต่อไปนี้

1. การบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ เช่น การไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน

2. การดำเนินงานด้าน ESG ช่วยให้บริษัทมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นหรือช่วยลดต้นทุนได้หรือไม่

3. บริษัทได้มีการคิดค้นนวัตกรรมด้าน ESG เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรหรือไม่

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันขอบเขตในการสื่อสารของนักลงทุนสัมพันธ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผลประกอบการ และทิศทางกลยุทธ์ของบริษัทอีกต่อไปแล้ว นักลงทุนสัมพันธ์จึงควรเร่งทำความเข้าใจในหลักการและประเด็นด้าน ESG ของบริษัทเพื่อที่ท่านจะได้สื่อสารข้อมูลได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน และทำให้ผู้ลงทุนได้เข้าใจและเกิดความเชื่อมั่นว่า บริษัทสามารถรักษาผลประกอบการให้ยั่งยืนในระยะยาวได้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น