Q : ผมทำงานอยู่ในบริษัทต่างชาติ มาประมาณ 8 ปี ตอนเริ่มทำงานแรกๆ มีแต่คนรุ่นเดียวกัน ไม่มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน แต่หลังๆมา มีเด็กรุ่นใหม่ เข้ามาทำงานที่บริษัทมากขึ้น ทำให้ทั้งบริหารลูกน้องตัวเอง ที่เด็กกว่าผมหลายปี และเข้ากับเพื่อนร่วมงาน ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ มีข้อแนะนำบ้างมั้ยครับ
A : 'ช่องว่างระหว่างวัยในองค์กร’ เป็นปัญหาน่าปวดหัว ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเด็กรุ่นใหม่ค่อยๆ ทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ปัจจุบันหลายองค์กร มีพนักงานที่เป็นเด็ก Gen Y จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ของพนักงานทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ
ประเด็นเรื่องช่องว่าระหว่างวัยนี้ กลายมาเป็นปัญหา เพราะต่างฝ่ายต่างขาดความเข้าใจต่อกัน คนแต่ละรุ่น ยึดตนเองเป็นที่ตั้ง โดยไม่สนใจวิธีคิด และมุมมองของคนรุ่นอื่น ที่แตกต่างออกไป จึงเกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน
เนื่องจากคำถามนี้ ถูกถามจาก “ผู้ใหญ่” ที่ต้องทำงานร่วมกับ “เด็กรุ่นใหม่” จึงขอแนะนำในมุมที่ว่า ผู้ใหญ่ควรปรับตัวอย่างไร เพื่อทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (แต่ในทางปฏิบัติ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหากัน)
1. หยุดพูดคำว่า “ถ้าเป็นพี่...” หรือ “สมัยพี่...” เช่น “ถ้าเป็นพี่ พี่จะอดทน และตั้งใจทำงานมากกว่านี้” หรือ “สมัยพี่ ถ้าคนเปลี่ยนงานบ่อยๆ นี่ บริษัทเขาไม่รับเลยนะ” เป็นต้น เพราะคำว่า “ถ้าเป็นพี่” หรือ “สมัยพี่” เป็นการเอาตนเองเป็นที่ตั้ง มองปัญหาแบบ เข้าข้างตัวเองมากเกินไป ที่สำคัญการใช้คำพูดแบบนี้ จะทำให้เด็กรู้สึกต่อต้านอยู่ในที เพราะคิดว่า “พวกเราไม่ใช่พี่” !
2. หัดสนใจเรื่องที่ไม่สนใจ - คนส่วนใหญ่ มักสนใจเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจ และไม่สนใจเรื่องที่ไม่สนใจ เช่น คนแต่ละรุ่น ก็จะฟังเพลงเฉพาะรุ่นของตน ไม่สนใจฟังเพลงรุ่นอื่น หรือ แต่ละคนมีประเภทหนังสือ หรือนิตยสารที่ตนเองสนใจ ดังนั้นจึงไม่สนใจ อ่านหนังสือ หรือนิตยสารประเภทอื่นเลย เป็นต้น การฝึกฝนให้ตนเอง สนใจเรื่องอื่นๆ ที่เดิมทีไม่เคยสนใจบ้าง เช่น ดูรายการโทรทัศน์ที่ปกติไม่ค่อยดู อ่านหนังสือ ที่ปกติไม่ค่อยอ่าน ฟังเพลงที่ปกติไม่ค่อยฟัง เป็นต้น จะช่วยให้มีโลกทัศน์ และมุมมองที่กว้างขึ้น ทำให้เข้าใจคนอื่น ที่แตกต่างจากเราได้ดีขึ้น
3. เข้าใจแต่ไม่ต้องเห็นด้วย - การทำงานกับคนที่มีวัยวุฒิ และพื้นฐานการเลี้ยงดู ที่แตกต่าง จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัย ‘ความเข้าใจ’ เป็นต้วตั้ง ตัวอย่างเช่น ต้องเข้าใจว่าเด็กๆ เหล่านี้เติบโต และถูกเลี้ยงดูมา ไม่เหมือนกับเรา ดังนั้นความอดทน จึงไม่เท่ากัน หรือเด็กๆ พวกนี้เติบโตมาพร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้นอินเตอร์เน็ท จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นต้น การเข้าใจจะช่วยทำให้ พวกเขารู้สึกเปิดใจ และพร้อมจะรับฟัง แต่การเข้าใจไม่ได้แปลว่า ต้องเห็นด้วยเสมอไป ดังนั้นเราสามารถแสดงความเข้าใจ แต่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเชื่อหรือทำได้ และเมื่อเปิดใจ การรับฟังก็จะมากขึ้น
4. หาโอกาสพูดคุยกันบ่อยๆ เรียนรู้จากเด็กๆ บ้าง - สมัยก่อนหลายๆ องค์กรมี ‘พี่เลี้ยง’ สำหรับพนักงานที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ เพื่อให้ช่วยสอน ช่วยบอกแนวทางการทำงาน และวิธีการวางตัวในองค์กร แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป องค์กรต่างๆ เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มากขึ้น จึงจัดให้มีโครงการ ‘พี่เลี้ยงกลับด้าน’ คือให้เด็กรุ่นใหม่ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้พี่ๆ ที่อาวุโสกว่า โดยเด็กที่เป็นพี่เลี้ยงเหล่านี้มี หน้าที่สอนพี่ๆ ที่อาวุโสกว่าในเรื่องต่างๆ ที่ไม่ค่อยรู้ เช่น ศัพท์หรือคำพูดวัยรุ่น แอพพลิเคชั่นที่ฮิตกันในหมู่ Gen Y รวมถึงความรู้เกี่ยวกับ การใช้งานเครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เด็กรุ่นหลังมักคล่องกว่าคนรุ่นก่อน
5. การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ตัวเรา - หลายคนรู้สึกว่า “ทำไมต้องเป็นฝ่ายเรา ที่เปลี่ยนอยู่ฝั่งเดี่ยว อีกฝ่ายไม่เห็นเปลี่ยน” หากต่างฝ่ายต่างคิดเช่นนี้ ผลลัพธ์คือ จะไม่มีใครเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะต่างคนต่างหวังว่า อีกฝ่ายควรเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงก่อน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจะได้ผลหากเริ่มต้นที่ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อตนเองเปลี่ยนแล้ว การไปชักจูงให้คนอื่นเปลี่ยนด้วย ย่อมทำได้ง่ายขึ้น
หากทำตามนี้ เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยจะค่อยๆ ดีขึ้น จนในที่สุดช่องว่างที่เคยมี ก็จะหมดไป
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th