Q : มีเพื่อนร่วมงาน ที่เป็นโรคติดจินตนาการ โกหกทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องงาน เรื่องส่วนตัว ชีวิตวัยเด็กก็โกหก เพื่อนทุกคนก็รู้ว่าเรื่องที่เขาเล่า ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี อยากจะช่วยให้เขาหาย ทำยังไงดีครับ
A : บางทีเขาไม่อยากหาย และไม่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นได้ ... ถามเขา หรือยัง ?
ทฤษฎี เกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ เชื่อว่า ความเชื่อ (Belief) ก่อให้เกิดความคิด (Thinking) ความคิดก่อให้เกิดความรู้สึก (Feeling) และความรู้สึก ก่อให้เกิดการกระทำ (Action) ในทางกลับกันทุกๆ การกระทำเกิดมาจากความคิด ความเชื่อ และความรู้สึกของเขา
พูดให้เข้าใจง่ายๆ ทุกๆ พฤติกรรมของมนุษย์ มีเหตุผล (ของผู้กระทำ) ดังนั้น การที่เขาเป็นคนขี้โม้ ชอบมโน คุยโอ้อวด คงมีเหตุผลของเขา ที่เราอาจไม่รู้ และบางกรณี เขาก็ไม่รู้ด้วย !
ดังนั้นคำถามเบื้องต้นที่ควรถามคือ
1. เขารู้ไหมว่าคนอื่นมอง และรู้สึกกับเขาแบบนี้
2. เขาแคร์ไหมว่า คนอื่นมองเขาอย่างไร
3. เขาอยากปรับเปลี่ยนตัวเอง ในเรื่องดังกล่าวไหม
หากเขาอยากเปลี่ยน เราอาจพอแนะนำแนวทางได้บ้าง เช่น ให้เขาพูดถึงตัวเองน้อยลง คิดได้ทุกเรื่องแต่ไม่ต้องพูดทุกเรื่องที่คิด ฝึกฟังเยอะๆ จะได้พูดน้อยลง เมื่อพูดน้อยลง ก็ลดโอกาสในการถูกมองในทางที่ไม่ดีได้ เป็นต้น
แต่ถ้าเขาไม่สนใจ ในสิ่งที่คนอื่นมอง หรือไม่คิดว่าเขาเป็นอย่างนั้น คงแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนได้ยาก ... เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ หากคนคนนั้นไม่คิดจะเปลี่ยนตัวเอง
และหากเป็นเช่นนี้ ผมแนะนำว่า ให้เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ มองเห็นเป็นเรื่องขำๆ ไป ไม่ต้องซีเรียส เขาอยากโม้ก็โม้ไป อยากมโนก็มโนไป ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า ไม่ใช่เรื่องจริง จะไปกังวลให้มากทำไม เสียสมองเปล่าๆ เอาเวลาไปทำสิ่งที่มีค่ามากกว่านี้ดีไหม หรือถ้ารำคาญมากๆ ก็หลีกๆ หลบๆ ไป ไม่ต้องคุยกันบ่อย
แค่นี้เองครับ !
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th