xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อนร่วมงานทะเลาะกัน จนไม่เป็นอันทำงาน จะวางตัวยังไงดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
เพื่อนร่วมงานทะเลาะกันจนไม่เป็นอันทำงาน จะวางตัวยังไงดี

Q : ที่ทำงานประกอบไปด้วยผู้หญิง 75% เวลาเพื่อนร่วมงานมีปัญหากัน จะไม่พูดกันตรงๆ นินทาลับหลัง แบ่งพรรค แบ่งพวก พอไม่ยุ่งก็หาว่าเราเข้าข้างอีกฝ่าย ทะเลาะกันจนไม่เป็นอันทำงาน แนะนำหน่อยค่ะ ทำตัวไม่ถูกแล้ว


A : การแบ่งพรรคแบ่งพวก การนินทาว่าร้าย เกิดขึ้นในทุกวงการ อย่าว่าแต่ฆราวาสอย่างพวกเราๆ เลย แม้ในวงการสงฆ์ ยังเกิดความแตกแยก ดังนั้นอย่าไปคาดหวังว่าจะได้อยู่ในสังคมที่ไม่มีความแตกแยก ไม่มีการว่าร้ายแก่กัน เพราะมันเป็นไปไม่ได้ !

ทางออกคือ เราต้องปรับตัวเองให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่มีความวุ่นวายเช่นนี้ โดย...

1. อย่าปลีกวิเวก เพราะจะกลายเป็นหมาหัวเน่า : ทางออกที่ดีที่สุด ไม่ใช่การไม่ยุ่งกับฝ่ายใดเลย เพราะนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ยกเว้นตัดความรำคาญของตัวเองด้วยการแยกตัวออกไปแล้ว ยังอาจทำให้เกิดก๊วนที่ 3 คือพวกที่ไม่เอาฝ่ายใดเลยขึ้นมาอีก ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ประเทศไทย มีความขัดแย้งกันรุนแรงระหว่างพวกเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ก็มีพวกเสื้อน้ำเงิน เสื้อขาว ออกมาอีก โดยประกาศตัวว่า เป็นพวกที่ไม่ต้องการสนับสนุนทั้งฝ่าย ... แทนที่ปัญหาจะได้รับการแก้ไข กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เป็นต้น

2. ทำตัวเป็นนกหลายหัว เข้าได้กับทุกฝ่าย : การมีเพื่อนในทุกพวกโดยไม่ต้องเลือกข้าง อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะทุกกลุ่มย่อมให้ความเกรงใจ และทำให้ได้ข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย เพียงแต่ต้องวางตัวให้เหมาะ สมและบาลานซ์เวลาให้ดี มีจังหวะเข้าออกที่แยบยล ... เรื่องทำนองนี้เรียกว่า "ปัญหาการเมืองในองค์กร” ... การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง !

3. รับฟัง แต่ไม่ต้องผสมโรง : ในขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างนินทาว่าร้าย และสาดโคลนเข้าใส่กัน อย่าแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะคัดค้าน หรือสนับสนุน แต่จงรับฟังอย่างตั้งใจ พยายามเข้าใจมุมมอง และเหตุผลของแต่ละฝ่าย เผื่อคุณจะเข้าใจรากเหง้า ของปัญหาที่แท้จริงมากขึ้น และช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ในอนาคต

4. หาโอกาสทำตัวเป็น “โซ่ข้อกลาง” : เมื่อเข้าใจมุมมองของทั้ง 2 ฝ่ายมากขึ้น คุณอาจช่วยทำหน้าที่เป็น ผู้ประสานความสัมพันธ์ให้กับกลุ่มต่างๆ ที่มีความขัดแย้งกัน การมีคนกลางที่ทำตัวเป็น ท้าวมลีวราช คอยช่วยห้ามทัพ อาจทำให้สงครามสงบลง ก็เป็นได้

5. เล่าเรื่องนี้ให้หัวหน้าฟัง และขอคำแนะนำ : เรื่องนี้เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์กร ภาระหน้าที่ในการแก้ปัญหา จึงไม่ควรตกอยู่ที่คุณเพียงคนเดียว นำเรื่องนี้ไปเล่าให้ห้วหน้าฟัง ไม่ใช่เป็นการฟ้อง แต่ไปในทำนองขอคำปรึกษา และคำแนะนำ เผื่อผู้มีอำนาจลงมาช่วยแก้ปัญหานี้ได้บ้าง


อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น