บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู ประกาศเปิดตัวโครงการเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท โครงการเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้นี้จะเริ่มดำเนินการภายในต้นเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2559 โดยจะเชิญลูกค้า พันธมิตร เอ็นจีโอ องค์กรอุตสาหกรรม ผู้วางกฎระเบียบ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้จัดหาวัตถุดิบต่างๆ มาร่วมเสวนากันทั้งแบบการประชุมกันตัวต่อตัวและการประชุมแบบออนไลน์
พร้อมกันนี้ไทยยูเนี่ยน จะทำการเปิดตัวไมโครไซต์ www.thaiunion-sustainability.com ซึ่งแสดงรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับ “Sea Change” กลยุทธ์ความยั่งยืนซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โครงการเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ดำเนินการอยู่ โดยจะมีการปรับปรุงเนื้อหาข้อมูลโครงการและความริเริ่มต่างๆไปอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559
ทางด้าน ดร. แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราได้ร่วมมือทำงานกันอย่างหนักกับพันธมิตร และเอ็นจีโอในประเทศไทย เพื่อยกระดับการทำงานของทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติตลอดห่วงโซ่อุปทานของเรา ซึ่งพบว่าการสร้างพันธมิตร และมีการทำงานร่วมกันอย่างตรงไปตรงมากับทุกภาคส่วน สามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้อย่างเป็นรูปธรรม
เรามีความยินดีที่จะประยุกต์ใช้แนวทางเดียวกันนี้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับสากลเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในประเด็นที่เรากำลังประสบอยู่ในอุตสาหกรรมประมงทั่วโลก และเพื่อต่อยอดแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของเราด้วยการเสริมองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญของทุกภาคส่วน.”
ดร. แดเรี่ยน ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า บริษัทได้พัฒนากลยุทธ์ Sea Change เพื่อตอบรับกับประเด็นต่างๆ ในอุตสาหกรรมประมงของไทยและทั่วโลก โดยในขั้นต้นได้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับเอ็นจีโอ อาทิ โครงการอิสสระ เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network - MWRN) และ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network - LPN) เพื่อตอบโจทย์ด้านประเด็นแรงงาน และบัดนี้ไทยยูเนี่ยน มีความประสงค์ที่จะขอข้อมูล และความคิดเห็น จากหลากหลายภาคส่วนในวงกว้างมากขึ้น ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ระหว่างรัฐ และภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ เพื่อมาช่วยกันสร้างแผนการทำงาน ให้มีความสอดคล้องกับปัญหาต่างๆ รวมทั้งในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล การตรวจสอบย้อนกลับ และการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU fishing)
ดร. แดเรี่ยน กล่าวเสริมว่า “เราทุกคนมีความเป็นห่วงในเรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืนทั้งในวันนี้และในอนาคต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อแหล่งอาหารทะเลของเรามาจากเรือประมงที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย และมีความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้พนักงานของเราทุกคนไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ใดในโลก ต้องได้รับการว่าจ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมั่นคง รวมทั้งมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัย โดยประเด็นต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกระบุไว้ในกลยุทธ์ Sea Change ของเรา”
กลยุทธ์ Sea Change ประกอบไปด้วยโครงการหลัก 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการด้านการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ 2.โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล 3.โครงการแรงงานที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย และ4.โครงการดูแลชุมชน โดยในแต่โครงการหลักจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนและรองรับแผนการทำงานของบริษัทในปี 2563 อีกด้วย ทั้งนี้ ทางบริษัทต้องขอบคุณหน่วยงานเอ็นจีโอที่เป็นพันธมิตรที่มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จคืบหน้าหลายด้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้