มหาวิทยาลัยรังสิตเดินหน้าสร้างคนรุ่นใหม่ ล่าสุดสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ จัดโครงการค่าย Pre BME ครั้งที่ 5 มุ่งสร้างต้นกล้าวิศวกรชีวการแพทย์ของประเทศไทย ตอบยุทธศาสตร์ชาติ รองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต
รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้มียุทธศาสตร์การวิจัยระบบสุขภาพ ด้านการเสริมสร้างสมรรถนะนักวิจัยด้านสุขภาพ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต ประกอบกับสถิติที่หลายๆ ประเทศต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านแพทย์จำนวนมากต่อปี ไทยมีอัตราการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราประมาณร้อยละ 9 ต่อปี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดกำลังคนด้านการวิจัยและผลิตอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นจำนวนมากในช่วงปี 2554-2559 ประกอบกับในปี 2558 เป็นปีที่เริ่มเปิด AEC อาชีพที่เกี่ยวข้องคือวิศวกร เป็นอาชีพที่สามารถทำงานได้ในทุกประเทศในเขตอาเซียน ดังนั้น ถ้าเรายังมีบุคลากรทางด้านนี้ไม่เพียงพอ จะทำให้มีปัญหาในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์อย่างมากมาย
“จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการ Pre BME ครั้งที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เยาวชนเกิดความสนใจในสาขาวิชานี้ให้กว้างขวางขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่อาจยังไม่รู้จัก และไม่เคยเข้าใจเกี่ยวกับวิศวกรรมชีวการแพทย์ ทั้งในด้านวิชาการ งานวิจัย ให้ได้มีโอกาสในการเรียนรู้และการทำงานในโครงการฯ ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติการ รวมทั้งสามารถนำความรู้และกระบวนการที่ได้ไปวิเคราะห์ต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนการนำเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้เผยแพร่ให้แก่ผู้อื่นได้ถูกต้องมากขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 60 คน และบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการตามเป้าหมาย โดยนักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจในภาพรวมของสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นอย่างดียิ่ง สามารถนำไปเผยแพร่ความรู้ให้แก่เพื่อนๆ ผู้ปกครองและสังคมภายนอกได้เข้าใจเกี่ยวกับสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ รวมทั้งกล่าวว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากในการที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในปีการศึกษา 2559 ต่อไป
นอกจากนั้น ยังมีความพึงพอใจในความพร้อมทางด้านห้องปฏิบัติการและเครื่องมือประกอบการเรียนการสอนและเทคโนโลยีการจัดกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งความรู้ความสามารถของคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เป็นพี่เลี้ยงของการจัดโครงการนี้เป็นอย่างมาก จึงถือว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง” หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเสริม